ประกาศแล้ว พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ยุบสภา 20 มีนาคม 2566 รอ กกต. กำหนด วันเลือกตั้ง คาด 7 พ.ค. 2566 หรือ 14 พ.ค. 2566 ‘ชวน’ รายงาน เหลือ ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ 393 คน
- เขตเลือกตั้ง 2566 แยกตามจังหวัด ครบทั้ง 400 เขต (อัพเดตล่าสุด)
- วันหยุดราชการ 2566 ปฏิทินวันหยุดราชการ อัปเดตล่าสุด
พระราชกฤษฎีกา โปรดเกล้า “ยุบสภา” มีผลแล้ววันนี้ รอ กกต. จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน
20 มีนาคม 2566 – พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 (พระราชกฤษฎีกา “ยุบสภา”) ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วในวันนี้ และมีผลให้ยุบสภาทันที ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปรวมถึงวันรับสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษาภายใน 5 วัน
ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าวันเลือกตั้งน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งตรงกับวันหยุด
ช่วงหลังยุบสภา ครม.แปลงสภาพเป็น “รัฐบาลรักษาการ”
เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรี จะกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้จำกัดอำนาจของรัฐบาลรักษาการระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งไว้ตามมาตรา 169 ดังนี้
- ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
- ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
- ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
“ประธานสภาฯ” เผย สมาชิกสภาฯ ชุดที่ 25 เหลือ 393 คน
นายชวน หลักภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ชี้แจงสถานภาพสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 25 เป็นครั้งสุดท้าย ดังนี้
- จำนวน ส.ส. เริ่มต้น 500 คน แต่หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรคไป ทำให้มี ส.ส.ต้องพ้นสมาชิกภาพ จำนวน 11 คน
- มี ส.ส. เสียชีวิต 1 คน
- มี ส.ส. ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีเสียบบัตรแทนกัน จำนวน 3 คน
- ส.ส. ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากกรณีการก่อสร้างสนามฟุตซอล จำนวน 4 คน
- ส.ส. จากพรรคต่างๆ ที่พ้นสมาชิกภาพโดยไม่มีการเลือกตั้งซ่อม และไม่มีการเลื่อนลำดับ จำนวน 4 คน
- มี ส.ส. ลาออกและเลื่อนลำดับ ในช่วงระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 180 วันก่อนการเลือกตั้ง ทำให้มีสมาชิกลดลง จำนวน 84 คน
- สรุป เหลือ ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่จนถึงปัจจุบันอยู่ 393 คน
“แม้ช่วงปลายสมัยประชุมจะเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ แต่ 4 ปี ผมภูมิใจที่สภาฯ อยู่มาได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีแบบนี้ทุกครั้ง ถ้าไม่มองในช่วงปลายสมัยประชุม สมาชิกต่างทำหน้าที่กันได้เกือบครบ แม้ช่วงท้ายจะยังมีกฎหมายค้างอยู่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา รวมถึงข้อปรึกษาหารือของสมาชิกกว่า 11,000 เรื่องที่เป็นผลไปแล้วกว่า 80%
ผมนั่งเป็นประธานมา 4 ปี อาจแปลกสำหรับข้าราชการ ที่ปกติแล้วประธานสภาฯ มักจะมอบรองประธานฯ ทำหน้าที่ แล้วเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปประชุมสภาฯ ร่วม แต่ผมทำหน้าที่ตลอด เพราะเห็นว่าก่อนหน้านี้ไม่มีสภาฯ มา 5 ปี ทางสมาชิกก็ให้ความร่วมมือด้วยดี
จากนี้ในอนาคตหากมีสภาฯ ชุดใหม่ ผมก็อยากให้นำมาเป็นบทเรียนทั้งแง่บวกและลบ ดำรงไว้ซึ่งนิติบัญญัติ ตรวจสอบฝ่ายบริหารตามกฎหมาย และใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ทำพฤติกรรมที่หาผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมมานั่งในกรรมาธิการ พูดจาข่มขู่ คุกคามกันในที่ประชุม ทำให้เป็นภาระต่อคณะกรรมการจริยธรรม เปลืองทั้งงบประมาณ เอกสาร ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับปราบโกง แต่ต้องยอมรับว่าการทุจริตยังระบาดไปทั่ว ไม่เพียงแต่ ส.ส. แต่ยังลามไปในวงข้าราชการอีกด้วย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวทิ้งท้าย
คาด “วันเลือกตั้ง” วันอาทิตย์ที่ 7 หรือ 14 พฤษภาคม 2566
เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศยุบสภาตามพระราชกฤษฎีกา ซึ่งโดยปกติ กกต. จะเลือกให้ตรงกับวันอาทิตย์ ทำให้กรอบเวลา 45-60 วัน กกต. จึงน่าจะเลือกวันเลือกตั้งได้จาก 2 ตัวเลือก ได้แก่
- วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 หรือ
- วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566
“ยุบสภา” คืออะไร?
การยุบสภา เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ โดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดอำนาจในการยุบสภา และ เงื่อนไขในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ไว้ดังนี้
มาตรา 103 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ทั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ ได้เคยเขียนคำอธิบายประกอบของการยุบสภาตามมาตรา 103 ไว้ในเอกสาร ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 179-180 โดยมีสาระสำคัญว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นเครื่องมือในการคานอำนาจระหว่าง ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ และใช้เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเพื่อส่งคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการยุบสภาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน เช่น รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัญ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับ หลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีอาจดำเนินการให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้และเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ นายกรัฐมนตรีคนเดิมได้กลับมาเป็นรัฐบาล จึงเสนอร่างกฎหมายเดิมที่ เคยเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการของร่างกฎหมายนั้นอีก จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุนั้นอีกไม่ได้ แต่การยุบสภาไม่จำเป็นต้องกระทำเพราะเหตุที่เกิดความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเสมอไป การยุบสภาอาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากฝ่ายบริหารต้องการฟังเสียงประชาชนเมื่อมีปัญหาสำคัญ หรือหยั่งความนิยมที่ประชาชนยังมีต่อพรรคการเมืองของรัฐบาลเพื่อความมั่นใจในการที่จะดำเนินนโยบายที่สำคัญๆ ต่อไปก็ได้
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เปลี่ยนหลักการใหม่ โดยกำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปก่อน ส่วนวันเลือกตั้ง จะเป็นวันใดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ตามที่ได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 102
ดังนั้น ความในวรรคสาม แห่งมาตรานี้จึงได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษาภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภามีผลใช้บังคับ โดยวันเลือกตั้งที่กำหนดต้อง ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ
เหตุที่กำหนดระยะเวลาวันเลือกตั้งยาวกว่าการเลือกตั้งทั่วไปกรณีอายุของสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามมาตรา 102 ที่กำหนดไว้ 45 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ก็เนื่องจากเหตุการณ์การยุบสภาไม่มีความแน่นอนดังเช่นการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร จึงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถกำหนดระยะเวลาของวันเลือกตั้งให้ยาวขึ้นได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองมี ความพร้อมในการเลือกตั้งและไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาความลักลั่นในทางปฏิบัติ ดังที่มีคำอธิบายในมาตรา 102 แล้ว
ย้อนกระแส “พลเอกประยุทธ์” ยืนยัน “ยุบสภา” เดือนมีนาคม 2566
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงไทม์ไลน์การเลือกตั้ง การเป็นรัฐบาลรักษาการทำอะไรบ้าง ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ โดยตนก็ได้แจ้งที่ประชุม ครม. ไปแล้วว่ากำหนดการยุบสภา ก็เป็นภายในเดือนมีนาคม 2566
ส่วนกำหนดวันเลือกตั้งในปัจจุบันก็เป็นไปตามที่ กกต. ประกาศไว้ คือ วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ก็ให้กรอบเวลาในหลายส่วนได้ดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุดนำไปสู่การเลือกตั้ง ก็เข้าใจกันแล้ว และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ช่วยกันพิจารณากฎหมายสำคัญที่ค้างอยู่
เมื่อถามว่าเป็นช่วงต้นมีนาคม 2566 นี้เลยหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่า ก็บอกแล้ว มีนาคมให้เวลาทัน และสอดคล้องกัน เพื่อให้ ส.ส. มีเวลาหายใจกันบ้าง ไม่ได้ไปถ่วงอะไรใคร ก็ทำงานทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะยุบไม่ยุบ ครม.ก็ประชุมเหมือนเดิม ต้องรักษาการต่อจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ มีกติกาหลายอย่างที่ทำได้ทำไม่ได้
เมื่อถามถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบเกี่ยวกับการยุบพรรคที่ระยะเวลาจะเร็วขึ้น พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ก็ว่าไป เมื่อถามย้ำว่าจากประกาศดังกล่าวทำให้พรรคการเมืองต่างมองกันไปว่าพรรคไหนจะโดนเป็นพรรคแรก พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ อย่าทำผิดกันทุกพรรค เรื่องนี้เป็นเรื่องของ กกต. อย่าไปมองอย่างนั้นอย่างนี้ กกต.หวังให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นเรื่องของ กกต. ตนเข้าไปยุ่งไม่ได้ และคิดว่าทุกคนไม่ควรจะไปยุ่งกับเขา ตามกติกาแล้วใครรับผิดชอบตรงไหนให้ทำตรงนั้น ดีที่สุด ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนทุกพรรคเหมือนกัน