ยื่นภาษีไม่ทัน ทำไงดี?

ทั่วไป

แม้ผู้มีรายได้ทุกคนจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี (อาจจะมีการขยายระยะเวลานิดหน่อยสามารถติดตามได้จากกรมสรรพากร) แต่ถึงอย่างนั้น หลายๆ คนก็ยังมีเหตุที่ทำให้ยื่นภาษีไม่ทันในช่วงวันที่กำหนด และมักจะถามกันอยู่เสมอๆ ว่า ในกรณีที่เรายื่นภาษีไม่ทัน สามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง มาทางนี้ iTAX จะบอกให้

ยื่นภาษีไม่ทัน ทำไงดี?

ไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้คุณยื่นภาษีไม่ทัน (ไม่ว่าจะเป็นการยื่นภาษีออนไลน์ หรือยื่นภาษีแบบกระดาษ) ในช่วงเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด จะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อคุณรู้ตัวว่ายังไม่ได้ยื่นภาษีให้เรียบร้อย และต้องการที่จะยื่นภาษีย้อนหลังก็สามารถทำได้ แต่!!

ต้องเป็นการยื่นภาษีแบบกระดาษ และสามารถยื่นภาษีได้แค่ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น

จำไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า

เมื่อเลยกำหนดการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีไปแล้ว จะไม่สามารถยื่นภาษีย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ดังนั้น เตรียมใจและเตรียมเอกสารให้พร้อม และเดินทางไปยื่นภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้านให้เร็วจะเป็นการดีที่สุด

ยื่นภาษีไม่ทัน ยื่นภาษีย้อนหลัง ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

สำหรับใครก็ตามที่กำลังลังเลอยู่และไม่เคยมีประสบการณ์ต้องยื่นภาษีย้อนหลัง หรือไม่เคยยื่นภาษีไม่ทันกำหนด ไม่ต้องตกใจไป เพราะทุกอย่างมีทางออก เริ่มต้นที่

1. เตรียมเอกสาร

หากต้องการยื่นภาษีย้อนหลัง เราแนะนำให้คุณเตรียมแบบ ฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 หรือ ภ.ง.ด. 90 รวมถึงเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการยื่นภาษีให้เรียบร้อย เพราะหลายๆ ครั้งการยื่นภาษีไม่ได้จบแค่ยื่นฟอร์มหรือส่งแบบยื่นภาษีเท่านั้น ในบางครั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจจะเรียกหาเอกสารเพิ่มเติมด้วย และหากคุณไม่เตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม หลายๆ อย่างอาจจะช้าไปอีกก็ได้ ดังนั้น พึงระลึกไว้เสมอเลยว่า ก่อนจะเดินไปยื่นภาษีที่สรรพากรท้องที่ เอกสารทุกอย่างจะต้องพร้อม ไม่ว่าจะเป็น

2. เตรียมใจ

นอกจากเตรียมแบบฟอร์มภาษีและเอกสารให้พร้อมสำหรับการยื่นภาษีย้อนหลังแล้ว คุณจะต้องเตรียมใจสำหรับ ค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยื่นภาษีล่าช้าด้วย เพราะถ้าคุณยื่นภาษีไม่ทันระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด ไม่ใช่แค่การจ่ายภาษีที่ค้างไว้เท่านั้น แต่คุณอาจจะต้องเจอกับค่าปรับ เช่น เบี้ยปรับ และ เงินเพิ่ม ด้วย

กรมสรรพากรกับบทลงโทษของคนยื่นภาษีไม่ทัน

ไม่ว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้คุณยื่นภาษีไม่ทัน (ยื่นแบบล่าช้า), ยื่นภาษีแต่ไม่จ่ายภาษี หรือ จ่ายภาษีไม่ครบในระยะเวลาที่กำหนด คุณจะต้องจ่ายค่าปรับและเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดบทลงโทษไว้ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

1. กรณีไม่ยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90,91 หรือ 94) ในระยะเวลาที่กำหนด

หากคุณยื่นภาษีไม่ทันระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด คุณจะต้องจะมีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร (อ้างอิงข้อมูลจาก www.rd.go.th)

2. ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) เลยกำหนด (ยื่นภาษีย้อนหลัง)

ในกรณีที่คุณยื่นภาษีไม่ทันกรอบเวลาของกรมสรรพากร คุณสามารถทำการยื่นภาษีย้อนหลังได้ โดยเกณฑ์สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่ม จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีคือ

  • ยื่นภาษีย้อนหลัง และต้องจ่ายภาษีด้วย

คุณอาจจะคิดว่ายื่นภาษีย้อนหลังไม่เป็นปัญหา และคุณได้เตรียมเงินสำหรับจ่ายภาษีไว้พร้อมแล้ว เราอยากบอกว่าในกรณีนี้ แค่เงินชำระค่าภาษีอาจจะไม่พอ เพราะคุณจะต้องเตรียมเงินสำหรับค่าปรับในกรณีที่ยื่นภาษีล่าช้าไม่เกิน 2,000 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนที่ต้องจ่ายภาษีปัดเป็น 1 เดือน) ด้วย

  • ยื่นภาษีย้อนหลัง และไม่ต้องจ่ายภาษี

ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีเพียงอย่างเดียว ไม่มียอดภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณแค่เตรียมเงินให้พร้อมสำหรับจ่ายค่าปรับจากกรณียื่นภาษีล่าช้าไม่เกิน 2,000 บาท เท่านั้น

3.  ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) เพิ่มเติม (เลยกำหนดยื่นภาษี)

ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีเรียบร้อยแล้ว แต่มาพบทีหลังว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น คุณจ่ายภาษีเกิน, มีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม, จ่ายภาษีแล้วแต่ข้อมูลไม่ถูกต้อง แน่นอนว่า เมื่อมีการยื่นภาษีผิดพลาดจะต้องทำการแก้ไข ซึ่งถ้ารู้ตัวเร็ว และยังอยู่ในระยะเวลายื่นภาษีที่สรรพากรกำหนด ก็สามารถทำการยื่นภาษีใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที

ส่วนใครที่รู้ตัวช้า และทำการยื่นภาษีเพิ่มเติมหลังจากกำหนดระยะเวลายื่นภาษีที่สรรพากรกำหนดก็สามารถทำได้ แต่คุณจะต้องทำการกรอกข้อมูลที่ถูกต้องลงในแบบยื่นภาษีแบบกระดาษ และต้องนำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น (ข้อมูลจาก www.rd.go.th)

  • ยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง ต้องจ่ายภาษี

ในกรณีนี้คุณจะต้องทำการจ่ายภาษี พร้อมทั้งเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนที่ต้องจ่ายภาษี) แต่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ

  • ยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง ไม่ต้องจ่ายภาษี

หากคุณทำการยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลังและพบว่าไม่มียอดภาษีที่ต้องจ่าย ก็สบายใจได้ เพราะนอกเหนือจากไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว คุณก็ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มและค่าปรับด้วย

4. ยื่นภาษีออนไลน์ (ภ.ง.ด. 90/91) แล้ว แต่ลืมจ่ายภาษี

แม้ว่าคุณจะทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90/91) ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือช่องทางออนไลน์ไปแล้ว แต่ไม่ได้ชำระภาษี ก็ต้องรู้ไว้ว่า

“หากไม่ได้จ่ายภาษีในระยะเวลาที่สรรพากรกำหนด สรรพากรก็จะถือว่าคุณยังไม่ได้ทำการยื่นภาษีอยู่ดี”

และในกรณีนี้คุณจะไม่สามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างและทำการยื่นภาษีด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรท้องที่เท่านั้น และในกรณีนี้ คุณจะไม่ได้จ่ายแค่เงินภาษีอย่างเดียว แต่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนจะถูกนับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดการยื่นภาษีจนถึงวันที่จ่ายภาษี พร้อมทั้งเงินค่าปรับ 2,000 บาทด้วย

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่คุณต้องเจอหากยื่นภาษีไม่ทันตามกำหนด และหากคุณไม่อยากเจอกับค่าปรับหรือเงินเพิ่ม การยื่นภาษีภายในระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนดคือทางออกที่ดีที่สุด หรือหากไม่มั่นใจหรือมีความกังวลเกี่ยวกับการคำนวณภาษี หรือการหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี คุณสามารถใช้บริการ application iTAX ได้ฟรีทั้ง iOS และ Android เรารับรองว่าคุณจะประหยัดเวลาที่ใช้สำหรับจัดการภาษีไปได้อย่างมากเลยทีเดียว!

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)