หลังจากที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบ มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ ในพื้นที่ 10 จังหวัด และมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณราว 42,000 ล้านบาท ซึ่งเพจประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่องทางสื่อสารหลักบนเฟสบุ๊คของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงแผนการดำเนินการ มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ ว่าใครมีสิทธิได้รับการเยียวยาบ้าง สรุปได้ดังนี้
เปิด Full-text สัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของรัฐบาลไทย
แพทยสภา เรียกร้องวัคซีน mRNA ให้หมอ ส่วนปชช.ต้องได้ฟรี ตาม รธน.
ลงทะเบียนไทยร่วมใจ ฉีดวัคซีนโควิดฟรี พื้นที่ กทม.
ตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33
- ตรวจสอบสิทธิ์เยียวยา >> สำหรับลูกจ้าง
- ตรวจสอบสิทธิ์เยียวยา >> สำหรับนายจ้าง
มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ สำหรับลูกจ้างและกิจการที่ได้รับผลกระทบ ในพื้นที่ 10 จังหวัด วงเงิน 30,000 ล้านบาท
พื้นที่ที่ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาจาก มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ จะอยู่ในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดและสูงสุด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 10 จังหวัด ต่อไปนี้
- กรุงเทพมหานคร
- นครปฐม
- นนทบุรี
- ปทุมธานี
- สมุทรปราการ
- สมุทรสาคร
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- ยะลา
- สงขลา
กลุ่มของกิจการที่จะได้รับการเยียวยาตาม มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่
กลุ่มกิจการ 9 หมวด ได้แก่
- ก่อสร้าง
- ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
- ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ
- กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ
- ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์
- ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
- กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน
- กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ
- ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร
กลุ่มกิจการของถุงเงิน 5 กิจการ ได้แก่
- ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
- ร้าน OTOP
- ร้านค้าทั่วไป
- ร้านค้าบริการ
- กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
แนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ละกลุ่ม
1. ลูกจ้างในระบบประกันสังคม (ม. 33) ในกิจการ 9 หมวด
- รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 10,000 บาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
2. นายจ้างในระบบประกันสังคมในกิจการ 9 หมวด
- รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน โดยจะได้รับเงินเยียวยาในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
3. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจในระบบประกันสังคม (ม. 39 และ ม. 40)
- รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance)
- ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจของระบบประกันสังคมตาม ม. 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท ตามกลุ่มที่ 3 โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างในระบบประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามกลุ่มที่ 1 และ 2 โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
- ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจของระบบประกันสังคมตาม ม. 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท ตามกลุ่มที่ 3 โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่มีลูกจ้าง
- ให้ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างในระบบประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามกลุ่มที่ 1 และ 2 เพื่อรับเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” แต่ไม่มีลูกจ้าง
- ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจของระบบประกันสังคมตาม ม. 40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท ตามกลุ่มที่ 3 เพื่อรับเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564
ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ 10 จังหวัด
- 1 เดือน ทั้งนี้ อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์
มาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านอื่นๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศ ดังต่อไปนี้
1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน วงเงิน 12,000 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วประเทศ
มาตรการลดค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ 2 เดือน (กรกฎาคม – สิงหาคม 2564)
บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
- ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน
- หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
- หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564
- หากใช้ 501 – 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ในอัตรา 50% (ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตรา 70% (ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม)
กิจการขนาดเล็ก
- ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
- ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564
มาตรการลดค่าน้ำประปาทั่วประเทศ 2 เดือน (กรกฎาคม – สิงหาคม 2564)
- ลด 10% สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ กรกฎาคม – สิงหาคม 2564
2. มาตรการความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนด้านอื่นๆ
มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา
ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในภาคเรียนที่ 1 /2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอ ครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนด้วย และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด