เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) มีผลกระทบโดยตรงทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวหยุดชะงักลง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ 8 มาตรการทางภาษี เพื่อลดผลกระทบและเพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบภายในเดือนเมษายน 2563 โดยประกอบไปด้วย
1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) พร้อมสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 150%
มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มีเพื่อช่วยส่งเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระแก่ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยธนาคารออมสินเตรียมวงเงินสำหรับปล่อยกู้ไว้ 150,000 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท
มาตรการนี้สถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจให้เพดานวงเงินกู้สูงสุดถึง 20 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแห่ง โดยผู้ประกอบการสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักค่าใช้จ่ายเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ โดยอัตราการหักค่าใช้จ่ายจะแบ่งเป็น
- นิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายได้ 150% (ต้องเป็นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น)
- บุคคลธรรมดาหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง
เงื่อนไขการเข้าร่วม
เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น และผู้ประกอบการสามารถติดต่อขอกู้เงินจากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ได้ ตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น และจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
- ต้องเปิดบริษัทหรือดำเนินธุรกิจครบ 12 เดือนแล้ว (1 รอบระยะเวลาบัญชี)
- ต้องเป็นธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
- ต้องเป็นธุรกิจที่ทำ บัญชีเดียว
- ต้องเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานหรือมีพนักงานไม่เกิน 200 คน
2. มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน
มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะคิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 3% เป็นระยะเวลา 3 ปี มีวงเงินสินเชื่อโดยรวมอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ
- จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนบริษัทกับสำนักงานประกันสังคม
3. มาตรการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
เป็นมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกค้า SMEs ทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ประกอบไปด้วย
- วงเงินค้ำประกันเต็มจำนวนเงินกู้ใหม่ไม่เกิน 30 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก
- วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท
- ขยายระยะเวลาโครงการคำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ออกไป 5 – 7 ปี (จากเดิม 5 ปี) และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน
4. ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5%
เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากขึ้น กระทรวงการคลังจึงได้ออกนโยบายลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ได้ประกอบไปด้วย
- บุคคลธรรมดา : ค่าอาชีพอิสระ, ค่าจ้างทำของ, การให้บริการรางวัลหรือส่วนลด หรือประโยชน์จากการส่งเสริมการขายที่ปกติถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ยกเว้นมูลนิธิหรือสมาคม) : ค่านายหน้า, ค่าลิขสิทธิ์, ค่าสิทธิ์, ค่าวิชาชีพอิสระ, ค่าจ้างทำของ, การให้บริการรางวัลหรือส่วนลด หรือประโยชน์จากการส่งเสริมการขายที่ปกติถูก หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
โดยมาตรการนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ
ระยะเวลาลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย | อัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย (เดิม) | อัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใหม่) | ช่องทางการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย |
เม.ย – ก.ย. 2563 | 3% | 1.5% | ทั้งแบบกระดาษและ ผ่านระบบ e-Withholding Tax |
ต.ค 2563 – ธ.ค. 2564 | 3% | 2% | ยื่นผ่านระบบ e-Withholding Tax เท่านั้น |
ส่วนการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราอื่นๆ เช่น 1% 2% 5% 10% 15% และอัตราก้าวหน้า จะไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด
5. รักษาการจ้างแรงงานด้วยสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 300%
มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงาน โดยให้ผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีการเลิกจ้างหรือปรับลดจำนวนพนักงานลง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง โดยสามารถหักลดหย่อนได้ตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563 และจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
- ลูกจ้างหรือพนักงาน จะต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
- ลูกจ้างหรือพนักงาน จะต้องเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตั้งแต่ธันวาคม 2562
- บริษัทหรือกิจการ จะต้องดำเนินการครบ 12 เดือน ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563
- บริษัทหรือกิจการ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
- บริษัทหรือกิจการ จะต้องมีพนักงานหรือลูกจ้างไม่เกิน 200 คน
6. การันตี 15 วัน คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ผู้ประกอบการส่งออก
กระทรวงการคลังมีนโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกให้เร็วขึ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ยื่นภาษีถูกต้องและครบถ้วน และซึ่งระยะเวลาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยหาก
- ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จะได้รับเงินคืนภาษีไม่เกิน 15 วัน
- ยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แบบกระดาษ จะได้รับเงินคืนภาษีไม่เกิน 45 วัน
และอยู่ภายใต้เงื่อนไข
- เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทจำกัดมหาชน ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
- จะต้องเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
7. เพิ่มสิทธิลดหย่อน SSFX หุ้นไทยอีก 200,000 บาท
เพื่อเพิ่มการลงทุนในตลาดทุน กระทรวงการคลังจึงตัดสินใจเพิ่มสิทธิลดหย่อนสำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) ตามที่จ่ายจริงได้ สูงสุดอีก 200,000 บาท (ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพดาน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเพราะให้สิทธิลดหย่อนตามที่ซื้อจริง) โดยจะเป็นเพดานสิทธิลดหย่อนที่แยกต่างหากจากวงเงินค่าลดหย่อน SSF ปกติ จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องวงเงินที่ต้องไปรวมกับเงินสะสมเพื่อการเกษียณต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF หรือ กบข. และการสะสมเพื่อการเกษียณอื่นๆ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เงื่อนไขการลงทุนจะไม่เหมือนกับเงื่อนไขการลงทุนในกองทุน SSF ที่ออกมาก่อนหน้า และการลงทุนในกองทุน SSFX ตามนโยบายของกระทรวงการคลังจะถูกนับเป็นวงเงินพิเศษ โดยมีเงื่อนไขการลงทุน คือ
- ต้องมีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างน้อย 65% (นโยบายคล้าย LTF เดิม)
- ซื้อหน่วยลงทุนภายใน 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น
- ระยะเวลาการถือครอง 10 ปี
8. สนับสนุนการแก้ไขปัญหา COVID-19
ผู้เสียภาษีที่ต้องการบริจาคเพื่อสมทบทุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในฐานะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่มีข้อแม้ว่า
- จะต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น
- ต้องบริจาคเข้าบัญชี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรับบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เลขที่ 067-0-13829-0 เท่านั้น
- บริจาคได้ตั้งแต่ 5 มี.ค. 2563 – 5 มี.ค. 2564
ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
บุคคลธรรมดา | บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล | ผู้ประกอบการที่จด VAT | |
ประเภทของบริจาค | เงิน | เงิน หรือ ทรัพย์สิน | บริจาคทรัพย์สิน |
หักลดหย่อนได้ | ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย | หักรายจ่ายได้ ไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ | ยกเว้น VAT |
ทั้งหมดนี้ คือ มาตรการทางภาษีที่รอประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งรัฐบาลคาดหวังให้สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) และหากมีเงื่อนไขหรือมาตรการทางภาษีใดๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทราบทันที
ข้อมูลจาก