ภาษีแม่ค้าออนไลน์ เป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปที่ทำธุรกิจขายของออนไลน์ควรทำความเข้าใจ ทั้ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อจะได้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง และไม่มีปัญหาถูกประเมินภาษีย้อนหลัง
- ถอดบทเรียน แม่น้องแมงปอ ปม ภาษีย้อนหลัง แม่ค้าออนไลน์
- บุคคลธรรมดาขายของออนไลน์ ใช้คอนโดจด VAT ได้แล้ว
ภาษีแม่ค้าออนไลน์ สำหรับกรณีขายของทั่วไป
โดยปกติแล้วเมื่อบุคคลทั่วไปเริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งสามารถลงรายละเอียดได้ดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์
โดยปกติ รายได้ที่ได้รับจากการขายของออนไลน์ มักจะอยู่ในรูปแบบการขายของแบบซื้อมาขายไป (กระเป๋า, รองเท้า, เครื่องสำอาง เป็นต้น) ซึ่งจัดเป็น เงินได้ประเภทที่ 8 (เงินได้ 40 (8)) และเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หมายความว่า คุณจะต้องยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ถึงอย่างนั้น สรรพากรและภาษีก็ไม่ได้ใจร้ายกับพ่อค้าแม่ค้าอย่างที่คิด เพราะคุณสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ช่องทาง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น) ไม่ว่าจะเป็น การหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง
- หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายเพราะกฎหมายให้สิทธิเหมาค่าใช้จ่ายตามยอดขายที่เกิดขึ้นในอัตรา 60% ของยอดขาย
- หากเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายในการยื่นภาษีด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีซื้อมาขายไป กฎหมายยังได้กำหนดวิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจากยอดขายในอัตรา 0.5% อีกวิธีด้วย ซึ่งจะต้องนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคำนวณแบบเหมาได้ค่าภาษีเกิน 5,000 บาท และค่าภาษีแบบเหมา 0.5% นั้นสูงกว่าวิธีปกติ
วิธีคำนวณภาษี จะคิดจากรายได้สุทธิ ไม่ใช่รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี
พ่อค้าแม่ค้าหลายคน (ที่ทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา) มักจะเข้าใจผิดว่า การคำนวณภาษีสำหรับคนขายของคือ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ ให้นำเงินที่ได้นั้นมาคูณอัตราภาษีได้ทันที จึงทำให้หลายๆ คนเห็นจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายผิดไป ซึ่งในความจริงแล้ว อัตราภาษีที่คุณต้องจ่าย จะสามารถคำนวณได้จากเงินได้สุทธิ นั่นคือ
เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี
นั่นหมายความว่า คุณสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด และหากคุณมีการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเหมาะสม ภาษีที่คุณจะต้องจ่ายก็จะลดน้อยลงไปด้วย
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขายของต้องยื่นภาษีทั้ง ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคนมักจะไม่รู้ว่า รายได้จากการค้าขายตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ของทุกปี มากกว่า 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือ รายได้รวมกับคู่สมรสแล้วเกิน 120,000 บาท คุณจะต้องทำการ ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วย หมายความว่า ใน 1 ปี คุณจะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ควบคู่ไปกับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) ด้วยนั่นเอง โดยอาจจะต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง (ประจำปี 1 ครั้ง และครึ่งปีอีก 1 ครั้งด้วย)
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกี่ยวข้องกับ “ภาษีแม่ค้าออนไลน์”
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็น ภาษีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเจอเมื่อยอดขายตลอดทั้งปีเกิน 1,800,000 บาท โดยกฎหมายจะบังคับให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1,800,000 บาท (แต่จะเลือกเข้าระบบ VAT ก่อนยอดขายเกิน 1.8 ล้านก็สามารถทำได้เช่นกัน)
เมื่อจด VAT แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้า แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บอีกที โดยต้องยื่นภาษีเป็นรายเดือน ซึ่งเรียกว่า “ภ.พ.30”
ดังนั้น เมื่อขายสินค้าจะต้องเรียกเก็บเงินจากลูกค้าเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 107 บาท (ค่าสินค้า 100 บาท + VAT 7 บาท) โดยค่าสินค้าจะทำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ส่วน VAT 7 บาท จะต้องนำส่งให้กรมสรรพากรในเดือนถัดไปโดยไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้ของกิจการ โดยภาษีที่เรียกเก็บจากตอนขายจะเรียกสั้นๆ ว่า ภาษีขาย
ในทางกลับกัน ถ้าซื้อสินค้ามาในราคา 107 บาท แสดงว่าสินค้านั้นจริงๆ ราคาเพียง 100 บาท แต่อีก 7 บาทนั้นคือ VAT ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วได้จ่ายตอนซื้อสินค้า ซึ่งค่าภาษี 7 บาทที่จ่ายไปตอนซื้อสินค้าเข้ามา เรียกสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อ
การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้วจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน (เดือนภาษี) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มต้องนำส่งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในแต่ละเดือนอาจเกิดผลลัพธ์แตกต่างกันดังต่อไปนี้
1. ภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ
กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายมากกว่ายอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) มากกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป (ภาษีซื้อ) ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องนำส่วนต่างนี้มานำส่งให้กรมสรรพากรพร้อมกับการยื่นภาษีรายเดือน((มาตรา 82/3 วรรคสอง ประมวลรัษฎากร))
2. ภาษีขาย เท่ากับ ภาษีซื้อ
กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายเท่ากับยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงไม่มีภาระต้องนำส่วนต่างนี้ แต่ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีรายเดือนอยู่ดี
3. ภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ
กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนมียอดขายน้อยยอดซื้อ ดังนั้น จึงมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนจ่ายออกไป เช่นนี้ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษี เพราะตนจ่ายออกไปมากกว่าที่เรียกเก็บได้
ภาษีซื้อที่เหลืออยู่เนื่องจากหักออกจากภาษีขายไม่หมดนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถเลือกใช้ประโยชน์เป็นเครดิตภาษีสำหรับการยื่นภาษีครั้งต่อไป หรือขอเงินคืนภาษีก็ได้
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จด VAT แล้ว จะได้ประโยชน์จากการซื้อขายสินค้าและบริการ คือ สามารถนำ VAT ที่ตัวเองจ่ายไปในฐานะภาษีซื้อมาหักกลบกับภาษีขาย ทำให้ภาระต้นทุนต่ำลงได้
เช่น จากเดิมต้นทุน 107 บาทจะเหลือเพียง 100 บาท เพราะลูกค้าของผู้ประกอบการจะเป็นผู้แบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 บาทให้แทน
อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนเรื่องสินค้าหรือบริการจะลดลง แต่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะมีต้นทุนค่าทำบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ใช้คอนโดจด VAT ได้แล้ว
กรมสรรพากรอํานวยความสะดวกให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ที่เป็นบุคคลธรรมดาและต้องการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถใช้ที่อยู่ในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมขอจดทะเบียน VAT ผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
คุณสมบัติของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีสิทธิ ใช้คอนโดจด VAT ได้
- เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
- อาศัยในอาคารชุด/คอนโดมิเนียม
- จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- มีสถานประกอบการอยู่ในอาคารชุดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
รายการเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อใช้อัปโหลดสำหรับลงทะเบียน
- สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กรณีเช่า) หรือ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน)
- เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใช้ที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นสถานประกอบการ)
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
- แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ประกอบกิจการ (ถ้ามี)
จุดเด่นของการให้บริการจด VAT ผ่านระบบออนไลน์ กรณีใช้คอนโดจด VAT
- ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
- ยื่นคำขอในเวลาที่กฏหมายกำหนด ต้องแนบเอกสารหลักฐาน
- ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
- สามารถแก้ไขข้อมูลได้ก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ยื่นแบบคำขอฯ เท่านั้น
ขั้นตอนการจด VAT ผ่านระบบออนไลน์ กรณีใช้คอนโดจด VAT
- ไปที่ระบบบริการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) สำหรับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อาคารชุดเป็นสถานประกอบการ >> https://rdecommerce.rd.go.th/vatcondo/main/MainRegistration
- ใส่เลขบัตรประชาชน 13 หลัก พิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล (NDID)
- อัปโหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง
หมายเหตุ
- การยื่นรายการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ จะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
- ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีภาระและหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามกฎหมาย
- เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ควรอ่านคำแนะนำการจดทะเบียน และเลือกระบุประเภทการประกอบการฯ ที่ตรงกับความต้องการจดทะเบียนให้ถูกต้อง
ถอดบทเรียน “แม่น้องแมงปอ” ขายของออนไลน์เลี้ยงลูกป่วยติดเตียง โดนเก็บภาษีย้อนหลัง 12 ล้าน
- แม่จันทกร หรือที่ชาวเน็ตเรียกกันว่าแม่น้องแมงปอ เป็นคุณแม่ของน้องแมงปอ อายุ 14 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเป็นผู้ป่วยติดเตียง
- นอกจากน้องแมงปอแล้ว ยังมีคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมและลูกสาวคนโตที่มีอาการป่วยที่สมองด้วยเช่นกัน แม่น้องแมงปอจึงเป็นคนเดียวที่แบกรับภาระดูแลคนในบ้าน 3 คน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูงและมีความเครียดเรื่องดูแลคนในครอบครัวเป็นอย่างมาก เพราะมีเงินไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
- เมื่อปี 2561 แม่น้องแมงปอเริ่มหาทางออกให้ชีวิตโดยการเริ่มขายของผ่าน Facebook LIVE โดยช่วงแรกเริ่มจากรับน้ำพริกมาขาย หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายไปขายของกินอื่นๆ เช่น หมูทอด หมูสวรรค์ หมูฝอย ขนมปั้นขลิบ คุกกี้ โดยเป็นสินค้าที่แม่น้องแมงปอทำขายเอง โดยขายผ่านช่องทาง Facebook และ TikTok
- เมื่อเริ่มได้ออกสื่อมากขึ้น ประกอบกับของกินรสชาติดี จึงเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น หลายคนช่วยซื้อจนขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วง 3 ปีล่าสุด มีเงินหมุนเวียนเข้าบัญชีธนาคารของแม่น้องแมงปอราว 80 ล้านบาท
- โดยปกติการขายของออนไลน์จะมีภาษี 2 ตัวที่คนขายของต้องรู้ ได้แก่ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตามกฎหมายภาษีแล้ว หากมียอดขายเกินปีละ 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย และถ้าปีใดมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท ผู้ขายจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ยอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และจะต้องเริ่มคิด VAT 7% จากราคาสินค้าที่ขายด้วย เช่น ถ้าเดิมขาย 100 บาท จะต้องคิด VAT เพิ่มอีก 7 บาท เพื่อนำ 7 บาทนั้นมาส่งให้สรรพากรเป็นรายเดือน
- ตลอดช่วงเวลาที่ขายของออนไลน์ แม่น้องแมงปอไม่เคยยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ไม่เคยจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่เคยทำบัญชีรับจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่เคยเก็บหลักฐานต้นทุนค่าวัตถุดิบสินค้าหรือค่าขนส่งใดๆ ไว้เลย กิจการขายของออนไลน์ของแม่น้องแมงปอจึงเป็นธุรกิจเงินหมุนไปเรื่อยๆ ที่แม้แต่เจ้าของก็ไม่รู้ว่าปีๆ นึงมีรายรับรายจ่าย หรือกำไรขาดทุนเดือนละเท่าไหร่ มีเงินเข้าบัญชีกี่ครั้ง เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญไม่เคยรู้ว่าเรื่องภาษีตนต้องทำอะไรบ้าง
- วันนึงเจ้าหน้าที่สรรพากรเดินทางมาพบที่บ้าน เพื่อชี้แจงว่าแม่น้องแมงปอมีภาษีค้างชำระและถูกประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงินค่าภาษีรวมค่าปรับต่างๆ แล้วเป็นเงินราว 12 ล้านบาท จึงเดินทางมาอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อเปิดโอกาสให้มาแม่น้องแมงปอชี้แจงเส้นทางการเงินด้วย
- แม่น้องแมงปอยอมรับว่าที่ผ่านมาตัวเองผิดจริงที่ละเลยไม่ใส่ใจเรื่องภาษีมาก่อน หลังจากสรรพากรชี้แจงสถานการณ์ทำให้ตนเข้าใจมากขึ้นและมีความตั้งใจอยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ด้วยค่าภาษีที่ค้างอยู่จำนวนสูงมาก จึงต้องการขอผ่อนและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สรรพากร แต่ไม่ขอรับบริจาคจากประชาชน ขอแค่ให้อุดหนุนสินค้าของตนก็พอ
- โดยปกติ เมื่อสรรพากรประเมินภาษีจะประเมินยอดขายที่คาดว่าเกิดขึ้น (เช่น ดูจากรายการเดินบัญชีเงินฝากธนาคาร) และหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% จากยอดขาย (คำนวณภาษีโดยเหมาว่ามีกำไร 40%) อาจทำให้เสียภาษีในอัตราที่สูง ซึ่งผู้เสียภาษีมีสิทธิ์โต้แย้ง และขอให้คำนวณภาษีโดยหักต้นทุนค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขี้นจริงได้ แต่เนื่องจากแม่น้องแมงปอไม่เคยทำบัญชี ไม่เคยเก็บหลักฐานรายจ่ายใดๆ เลย ทำให้ชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้ยากว่าเป็นเท่าไหร่กันแน่ และค่ารักษาพยาบาลของน้องแมงปอก็ไม่สามารถนำมาหักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจได้ เพราะเป็นรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
- เมื่อถูกประเมินภาษีย้อนหลังในกรณีไม่เคยยื่นภาษีมาก่อน นอกจากจะต้องจ่ายภาษีที่ค้างชำระแล้ว จะมีบทลงโทษทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ค้าง และเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) อีก 1.5% ต่อเดือนจนกว่าจะชำระภาษีครบ เช่น หากถูกประเมินภาษีย้อนหลัง 1,000 บาท นอกจากต้องจ่ายค่าภาษี 1,000 บาทแล้ว ยังต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 2,000 บาท (รวมเป็น 3,000 บาท) และดอกเบี้ยอีกราวปีละ 18% ทำให้ทุกครั้งโดนภาษีย้อนหลัง บทลงโทษจึงรุนแรง
- รองอธิบดีกรมสรรพากร ดร.วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่าเคสลักษณะนี้สรรพากรก็เห็นใจและยินดีช่วยเหลือ ซึ่งกรมสรรพากรมีมาตรการผ่อนปรนบทลงโทษได้อยู่แล้ว และสามารถขอผ่อนค่าภาษีค้างชำระได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดตามกฎหมายที่ผู้เสียภาษีต้องทำตามมาตรฐานตามกรอบของกฎหมายด้วย
- โฆษกกรมสรรพากรก็ชี้แจงเพิ่มว่าไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับใคร และให้คำแนะนำว่าหากประชาชนมีข้อสงสัยก็สามารถเข้ามาสอบถามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้ และเตรียมเปิดห้องเรียนภาษีออนไลน์ให้มาอบรมรับความรู้ภาษีที่ถูกต้องด้วย
- สถานการณ์แบบนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมอยากทำ iTAX bnk บัญชีธนาคารจัดการภาษีอัตโนมัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์โดยไม่ต้องรู้ภาษี (www.itax.in.th/bnk) เพราะผมก็หวังว่าจะไม่มีใครต้องเจอเหตุการณ์แบบแม่น้องแมงปออีกเช่นกัน
หวังว่าเหตุการณ์ของแม่น้องแมงปอจะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ค้าออนไลน์ใส่ใจเรื่องภาษีมากขึ้น ถ้าติดกระดุมเม็ดแรกถูก เราจะสามารถทำธุรกิจได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป