ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปซึ่งอยู่ในเกณฑ์วัยเกษียณแล้ว แต่ยังมีรายได้อยู่ จะมีประเด็นภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวทั่วไป เพื่อบรรเทาภาระภาษีในช่วงเวลาหลังเกษียณได้ โดยสรุปได้ดังนี้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
1. กำไรจากการขาย RMF ไม่ต้องเสียภาษี แม้ถือ RMF แค่ 5 ปี
เนื่องจากเงื่อนไขการถือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ถูกเงื่อนไข คือ
- ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี และ
- ไม่ขายจนกว่าจะอายุครบ 55 ปีไปแล้วเท่านั้น
ดังนั้น หากคุณอายุครบ 55 ปีแล้ว และได้ถือหน่วยลงทุนในกองทุน RMF มาครบ 5 ปีแล้ว คุณสามารถขายได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน เมื่อคุณอายุครบ 55 ปีแล้วและยังมีรายได้อยู่ หากต้องการซื้อ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีต่อไปก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน และสามารถขายได้ทันทีเมื่อถือหน่วยลงทุนในกองทุน RMF ครบ 5 ปีแล้ว
ดังนั้น เมื่อคุณอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว การเลือกลงทุน RMF จะช่วยให้คุณใช้เวลาถือหน่วยลงทุนไว้เพียง 5 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาถือที่สั้นกว่าการถือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ซึ่งจำเป็นต้องถือไว้อย่างน้อย 10 ปี ทำให้ขายคืนได้เร็วกว่า นำเงินมาหมุนต่อได้ไวกว่า
2. ดอกเบี้ยเงินฝากประจำอย่างน้อย 1 ปี ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าดอกเบี้ยไม่เกิน 30,000 บาท
กรณีที่มีบัญชีเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และดอกเบี้ยฝากประจำที่จ่ายมาไม่เกิน 30,000 บาท หากในวันที่ได้รับดอกเบี้ย เจ้าของบัญชีมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำดังกล่าวจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์นี้ต้องเป็นการฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยเท่านั้น
3. เงินบำนาญที่จ่ายจากประกันชีวิตแบบบำนาญ
โดยปกติ เงินที่จ่ายจากสัญญาประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษี รวมถึงเงินบำนาญที่จ่ายจากประกันชีวิตแบบบำนาญด้วย
ดังนั้น หากได้ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญไว้ก่อนเกษียณ เมื่อถึงเวลาเริ่มได้รับเงินบำนาญตามกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินบำนาญดังกล่าวจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
Bonus! สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ดังนี้
1. สิทธิได้รับยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทแรก
ผู้มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้ 190,000 แรกเพื่อนำไปหักออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ตนได้รับระหว่างปีภาษี เช่น ถ้ามีรายได้จากเงินเดือนหรือรายได้จากการขายของตลอดทั้งปีเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท คุณสามารถเลือกใช้สิทธิ์ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาทนี้ออกจากรายได้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทำให้เหลือรายได้ที่ต้องเสียภาษีเพียง 10,000 บาทเท่านั้น
2. บำเหน็จดำรงชีพ ของข้าราชการเกษียณอายุ
ข้าราชการรับบำนาญที่มีอายุครบ 65 ปี สามารถยื่นขอเงินบำเหน็จดำรงชีพได้ ซึ่งเงินดังกล่าวจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
ข้อควรระวัง
1. เบี้ยคนชรา ไม่ได้รับยกเว้นภาษี
ผู้สูงอายุที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์หลายคนจะอยู่ในเกณฑ์ขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (เบี้ยคนชรา) โดยจะได้รับเป็นรายเดือนในอัตราตามเกณฑ์อายุดังนี้
- 60-69 ปี รับเดือนละ 600 บาท (ปีละ 7,200 บาท)
- 70-79 ปี รับเดือนละ 700 บาท (ปีละ 8,400 บาท)
- 80-89 ปี รับเดือนละ 800 บาท (ปีละ 9,600 บาท)
- 90 ปีขึ้นไป รับเดือนละ 1,000 บาท (ปีละ 12,000 บาท)
แต่อย่างไรก็ตาม เบี้ยยังชีพคนชราดังกล่าว ไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีให้ ผู้สูงอายุต้องนำไปยื่นภาษีและเสียภาษีตามปกติ โดยจัดอยู่กลุ่มเงินได้ประเภทอื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8)
2. เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ ไม่ได้รับยกเว้นภาษี
เงินบำเหน็จ และเงินบำนาญที่ข้าราชการบำนาญที่ได้รับ เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยจัดเป็นเงินได้ประเภทเดียวกันเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี