ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประกาศใช้ กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือ ภาษี E-Payment นั้นทำให้หลายๆ คนกังวลกันอยู่มาก โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าทั้งที่ขายของออนไลน์ และขายของหน้าร้าน ที่เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการด้วยช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชำระผ่านการโอนเงิน, พร้อมเพย์ (Promptpay), QR Code เป็นต้น วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบกับร้านค้าออนไลน์ หรือ Cashless Society มากน้อยแค่ไหน?
- คู่มือ ภาษีขายของออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เสียภาษีอย่างไร?
- ภาษี e-Service ต่างชาติ คาดเก็บภาษีได้ 3 พันล้าน
1. เมื่อถูกส่งข้อมูล ≠ เสียภาษี
หากคุณมีการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีจากสถาบันการเงินเดียวกันเกินกว่า 3,000 ครั้งใน 1 ปี หรือมียอดฝากและรับโอนเงินเพียง 400 ครั้ง แต่มียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป สถาบันการเงินมีหน้าที่ส่งข้อมูลในส่วนนี้ให้กรมสรรพากร
แต่ถึงแม้ว่า คุณจะถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ ก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องถูกบังคับให้เสียภาษีทันที แต่การที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีหรือไม่? แน่นอนว่า หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์คุณจะไม่ถูกสรรพากรบอกให้จ่ายภาษี แต่หากเป็นกรณีที่
- รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่กรมสรรพากรมีการเรียกไปชี้แจง ในกรณีนี้ คุณก็ไม่ต้องกังวล เพียงเข้าพบเจ้าหน้าที่สรรพากรพร้อมเอกสารหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ร้องขอเท่านั้น
- รายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี แน่นอนว่า ในเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแล้วว่า คุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คุณจะต้องจ่ายภาษี ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกเลย (อย่าลืมว่า คนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี จะต้องทำการยื่นภาษีและจ่ายภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว)
- รายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี และเสียภาษีอยู่แล้ว ในกรณีนี้ คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่ม เพราะหากคุณ ยื่นภาษี และดำเนินการทุกอย่างถูกต้องเป็นปกติ กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณแน่นอน
2. รับโอนเงินเกิน 8 ครั้งต่อวัน ไม่ได้หมายความว่าต้องเสียภาษี
หลายๆ คนมีความเข้าใจผิดไปว่า หากรับโอนเงินมากกว่า 8 ครั้งใน 1 วัน จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบและจะต้องเสียภาษี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับโอนเงินเกิน 8 ครั้งนั้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยต่อวันตลอดทั้งปีเท่านั้น และ คุณจะถูกตรวจสอบก็ต่อเมื่อมีการฝากเงินหรือรับโอนเงินเกินกว่าที่กรมสรรพากรกำหนดไว้เท่านั้น (3,000 ครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้งต่อปี แต่มียอดรวมกัน 2,000,000 บาทขึ้นไป)
3. กรมสรรพากรไม่นับรวมการโอนเงินเพื่อการซื้อของออนไลน์
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า จำนวนการฝาก รับโอนเงิน และยอดเงินนั้น กรมสรรพากร นับเพียง การรับโอน เท่านั้น หากคุณทำการโอนเงินเพื่อจ่าย หรือ โอนเงินระหว่างบัญชีของตัวเอง ก็ไม่เข้าข่ายที่จะถูกสถาบันการเงินส่งเรื่องข้อมูลให้กรมสรรพากร ดังนั้น
มั่นใจได้เลยว่า หากคุณเป็นเพียงผู้ที่ชื่นชอบการซื้อของออนไลน์ กฎหมายนี้ไม่มีผลอะไรกับคุณเลย
หมายเหตุ
การนับรวมการโอนเงินระหว่างบัญชีของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่า
- หากโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง ธนาคารเดียวกัน จะไม่ถูกนับจำนวนครั้งที่โอน
- หากโอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง ต่างธนาคาร คุณจะถูกนับรวมจำนวนครั้งที่โอนด้วย
4. ค่าปรับ 100,000 บาท หรือวันละ 10,000 บาท ไม่เกี่ยวกับเจ้าของบัญชี
หลายๆ คนอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับค่าปรับ หลายคนเข้าใจไปว่า หากถูกตรวจสอบว่าคุณทำธุรกรรมเข้าข่าย กฎหมาย E-Payment คุณจะมีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องจ่ายค่าปรับวันละ 10,000 บาท ทันที
แต่ในความจริงแล้ว บทลงโทษนั้น เป็นบทลงโทษสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมลักษณะเฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่บทลงโทษที่เขียนขึ้นสำหรับเจ้าของบัญชี หรือ ผู้เสียภาษี
5. กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเพื่อตรวจสอบร้านค้าออนไลน์เท่านั้น
ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เราเชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายๆ ท่านคงกำลังรู้สึกน้อยใจอยู่ไม่น้อย แต่เราอยากจะบอกว่า ในความจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลแค่กับร้านค้าออนไลน์เท่านั้น แต่บุคคลทั่วไปที่มีการฝากหรือรับโอนเงินตามจำนวนครั้งและมียอดเงินตามที่สรรพากรกำหนดก็จะต้องถูกตรวจสอบด้วยเช่นกัน
6. การส่งข้อมูลให้สรรพากรของธนาคาร
บอกก่อนว่า กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (กฎหมาย E-Payment) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากประกาศกฎหมายลูก หรือ กฎกระทรวงฉบับที่ 355 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 เกี่ยวกับการเก็บข้อมูลจะแบ่งออกได้ดังนี้
- การเก็บข้อมูลในปี 2562 เนื่องจากกฎหมายลูกเพิ่งประกาศในวันที่ 23 ธันวาคม 2562 จึงทำให้การเก็บข้อมูลครั้งแรกจะเริ่มต้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 (เก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562) และธนาคารจะเริ่มส่งข้อมูลรายงานสรรพากรครั้งแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ( อ้างอิง ข้อ 5 กฎกระทรวงฉบับที่ 355 (พ.ศ. 2562))
- การเก็บข้อมูลในปีถัดไป กฎหมายกำหนดให้ธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องรวบรวมข้อมูลการทำธุรกรรมลักษณะเฉพาะตลอดทั้งปี และต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี ( อ้างอิง มาตรา 3 สัตตรส ประมวลรัษฎากร )
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ธนาคาร, สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะถูกเก็บไว้นานไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่สรรพากรได้รับข้อมูล
ภาษีร้านค้าออนไลน์ (ภาษี E-Payment) มีไปเพื่อใคร?
ไม่ว่าคุณจะเรียกการบังคับใช้กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะนี้ว่า ภาษีร้านค้าออนไลน์ ภาษีขายของออนไลน์ หรือ ภาษี E-Payment ฯลฯ ต่างก็มีการบังคับใช้ที่เหมือนกัน และมีจุดกำเนิดมาจากความต้องการที่จะเพิ่มความสามารถการจัดเก็บภาษีของกรรมสรรพากร
เพราะในปัจจุบันโลกออนไลน์ไม่ได้มีพื้นที่สำหรับการติดตามข่าวสารบน Social Media เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึง การทำธุรกรรมการเงินอีกด้วย และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านค้าออนไลน์หลายๆ ร้านไม่ได้อยู่ในระบบของกรมสรรพากร และไม่ได้ทำการยื่นภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง กรมสรรพากรจึงต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับและควบคุมในส่วนนี้
ซึ่งแน่นอนเลยว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ก็หนีไม่พ้นร้านค้าออนไลน์ที่รับเงินผ่านการโอนเงิน หรือ ร้านค้าต่างๆ ที่เคยทำการซื้อขายเป็นเงินสดและเปลี่ยนมาใช้ระบบโอนเงินไม่ว่าจะเป็น PromptPay, Mobile Banking,
รวมถึง ร้านอาหารต่างๆ ที่ไม่ได้ จดทะเบียนนิติบุคคล หรือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) ให้เรียบร้อย ซึ่งถ้าจะว่ากันตามจริง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้
และหากคุณไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของคุณจะต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์และอยากทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สามารถติดต่อสอบถามค่าบริการวางแผนภาษีที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณกับ iTAX sme ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787