ภาษีคริปโต ในอเมริกาอยู่ในความดูแลของ Internal Revenue Service (IRS) หรือกรมสรรพากรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกรมสรรพากรอเมริกาพบว่าการเกิดขึ้นของคริปโตเคอร์เรนซีทำให้มีการนำไปใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการ รวมถึงถือเพื่อลงทุนด้วย กรมสรรพากรอเมริกาจึงได้สรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโต (เช่น การขาย bitcoin) เพื่อความชัดเจนสำหรับผู้เสียภาษีในอเมริกา ไว้ในประกาศ Notice 2014-21, 2014-16 I.R.B. 938 ตั้งแต่ปี 2014 โดยกรมสรรพากรอเมริกาเรียกคริปโตเคอร์เรนซีว่า Virtual Currency (เงินเสมือนจริง) และได้สรุปเป็นคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีคริปโตในประเทศอเมริกา ดังนี้
Cryptocurrency (คริปโตเคอร์เรนซี) คืออะไร?
กรมสรรพากรอเมริกาตีความว่า คริปโตเคอร์เรนซี คือ เงินเสมือนจริง (Virtual currency) ชนิดหนึ่งที่ใช้การเข้ารหัส cryptography เพื่อบันทึกการทำธุรกรรมต่างๆ บน distributed ledger เช่น บันทึกบน blockchain
ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency ที่ถูกบันทึกบน distributed ledger จะเรียกว่าธุรกรรม “on-chain” ส่วนธุรกรรมที่ไม่ได้ถูกบันทึกบน distributed ledger จะเรียกว่าธุรกรรม “off-chain”
Virtual Currency (เงินเสมือนจริง) คืออะไร?
น่าสังเกตว่ากรมสรรพากรอเมริกาเลือกใช้คำว่า Virtual currency (เงินเสมือนจริง) เป็นคำกลางๆ สำหรับการเรียกทั้ง Cryptocurrency และสกุลเงินดิจิทัล (Digital currency) ที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้ทันที (Convertible)
กรมสรรพากรอเมริกาอธิบายว่า Virtual currency คือ สิ่งแทนมูลค่าแบบดิจิทัลที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยน ที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐหรือสกุลเงินต่างประเทศ (สหรัฐฯ เรียกว่า “real currency” หรือ “เงินจริง”) ซึ่ง Virtual currency บางตัวอาจมีมูลค่าเทียบเท่าเงินจริงหรือใช้งานแทนเงินจริงได้ แต่ยังไม่มีสถานะเป็นตัวกลางการชำระเงินได้ตามกฎหมายในอเมริกา เพราะไม่ใช่เงินจริง
ดังนั้น ในมุมมองของกรมสรรพากรอเมริกา Virtual currency จึงถูกจัดเป็นทรัพย์สิน (property) และใช้หลักการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินสำหรับธุรกรรมที่มีการใช้ Virtual currency
สรุปได้ว่า Virtual currency ไม่ใช่ “เงิน” แต่เป็น “ทรัพย์สิน”
การขาย Virtual Currency ต้องเสีย ‘ภาษีคริปโต’ หรือไม่?
เมื่อกรมสรรพากรอเมริกาใช้หลักการจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกรรมที่มีการใช้ Virtual currency เช่นเดียวกับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทั่วไป (เช่น ขายหุ้น ขายที่ดิน) ดังนั้น กรมสรรพากรอเมริกาจึงวางหลักไว้กว้างๆ ว่ากิจกรรมต่อไปนี้อาจต้องเสียภาษีคริปโต
- การขาย virtual currency เป็นเงินสด (แลกเป็น fiat currency)
- การแลกเปลี่ยน virtual currency สกุลนึงเป็น virtual currency อีกสกุลนึง
- การใช้ virtual currency ซื้อสินค้าหรือบริการจริงๆ เช่น ใช้ซื้อรถ ซื้อนาฬิกา จ่ายเป็นค่าจ้าง
- การถือ virtual currency เพื่อการลงทุน แล้วได้ผลประโยชน์ที่คิดคำนวณได้เป็นเงินตอบแทนกลับมาจากการถือ virtual currency เช่น ลงทุนใน DeFi (Decentralized finance)
ตัวอย่างกิจกรรมที่ต้องเสีย ‘ภาษีคริปโต’ ในอเมริกา
1. การขาย virtual currency เป็นเงินสด (แลกเป็น fiat currency)
- ซื้อ BTC ไว้ $100 ขายเป็นเงินสดได้ราคา $120 ได้กำไร $20 แบบนี้ คนขายต้องนำกำไร $20 ไปเสียภาษี
- ซื้อ USDT ไว้ $1,000 ขายเป็นเงินสดได้ราคา $1,000 ได้กำไร $0 แบบนี้ คนขายไม่มีกำไรจึงไม่ต้องเสียภาษี
2. การแลกเปลี่ยน virtual currency สกุลนึงเป็น virtual currency อีกสกุลนึง
- ซื้อ BTC ไว้ $100 ต่อมามูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น $1,000 จึงนำ BTC ไปแลกกับ USDT $1,000 แบบนี้กฎหมายภาษีอเมริกามองว่าคนขายมีกำไร $900 เนื่องจากเป็นการนำทรัพย์สินที่ตัวเองซื้อมาในราคาแค่ $100 ไปแลกกับทรัพย์สินที่มีมูลค่า $1,000 ได้ ดังนั้น $900 ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างต้นทุนของ BTC กับมูลค่าของ USDT ที่ได้มา จึงเป็นกำไรที่ต้องนำไปเสียภาษี
3. การใช้ virtual currency ซื้อสินค้าหรือบริการจริง
- ซื้อ BTC ไว้ $100 ต่อมามูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น $1,000 จึงนำ BTC ไปซื้อนาฬิกาข้อมือราคา $1,000 แบบนี้กฎหมายภาษีอเมริกามองว่าคนขายมีกำไร $900 เนื่องจากเป็นการนำทรัพย์สินที่ตัวเองซื้อมาในราคาแค่ $100 ไปแลกกับทรัพย์สินที่มีมูลค่า $1,000 ได้ ดังนั้น $900 ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างต้นทุนของ BTC กับมูลค่าของนาฬิกาข้อมือที่ได้มา จึงเป็นกำไรที่ต้องนำไปเสียภาษี ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการใช้ virtual currency ซื้อสินค้าก็สามารถทำให้ผู้ซื้อสินค้ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีได้ด้วย
- ซื้อ BTC ไว้ $100 ต่อมามูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น $1,000 จึงนำ BTC ไปจ่ายเป็นค่าจ้างช่างถ่ายภาพให้ถ่ายภาพงานแต่งงานให้ ซึ่งโดยปกติจะคิดค่าจ้าง $1,000 แบบนี้กฎหมายภาษีอเมริกามองว่าคนขายมีกำไร $900 เนื่องจากเป็นการนำทรัพย์สินที่ตัวเองซื้อมาในราคาแค่ $100 ไปแลกกับบริการที่มีมูลค่า $1,000 ได้ ดังนั้น $900 ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างต้นทุนของ BTC กับมูลค่าของค่าจ้างช่างถ่ายภาพที่ได้มา จึงเป็นกำไรที่ต้องนำไปเสียภาษี ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการใช้ virtual currency ซื้อบริการก็สามารถทำให้ผู้จ่ายค่าบริการมีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีได้ด้วย
4. การถือ virtual currency เพื่อการลงทุน
- ซื้อ NEO แล้วถือเก็บแล้วโดยไม่ได้ขาย ต่อมา NEO จ่าย reward ตอบแทนกลับมาจากการถือ NEO โดยในวันที่ได้รับ reward มีมูลค่า $10 แบบนี้ผู้ถือ NEO ต้องนำ reward มูลค่า $10 มาเสียภาษีด้วย (แม้ว่าเวลาต่อมา reward จะมีมูลค่าสูงกว่า $10 ก็ให้ใช้มูลค่าตามวันและเวลาที่ได้รับ reward เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี)
- ซื้อ BTC ไว้ แล้วนำไปลงทุนใน DeFi เช่น ปล่อยกู้ในระบบ lending ของ Compound เพื่อรับดอกเบี้ย ต่อมาได้รับดอกเบี้ยเป็น BTC โดยในวันที่ได้รับดอกเบี้ยมีมูลค่า $10 แบบนี้ผู้ถือ BTC ต้องนำดอกเบี้ยมูลค่า $10 มาเสียภาษีด้วย (แม้ว่าเวลาต่อมาดอกเบี้ยนั้นจะมีมูลค่าสูงกว่า $10 ก็ให้ใช้มูลค่าตามวันและเวลาที่ได้รับดอกเบี้ยเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี)
5. รับ virtual currency แทนการชำระเงินจริง
- หากขายสินค้าหรือบริการแล้วได้รับชำระเงินเป็น virtual currency กฎหมายอเมริกามองว่าเกิดการแปลกเปลี่ยนแล้ว ให้ใช้มูลค่า virtual currency ในตลาด (Fair market value) เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ในวันและเวลาที่ได้รับเป็นราคาขายเพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป
6. การขุด (mine) ด้วยเครื่องขุด virtual currency
- การขุด virtual currency โดยใช้เครื่องขุด (mining) จะต้องเสียภาษีเมื่อได้รับ virtual currency เป็นที่เรียบร้อย โดยให้ใช้มูลค่า virtual currency ในตลาด (Fair market value) เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ในวันและเวลาที่ได้รับเพื่อนำไปคำนวณภาษีต่อไป และหากขุด virtual currency เป็นธุรกิจการค้าจริงจัง สามารถนำต้นทุนการขุด เช่น ค่าไฟ ค่าซื้ออุปกรณ์ ไปหักเป็นรายจ่าย (หรือค่าเสื่อมราคา) ได้ด้วยเช่นกัน
ราคาต้นทุนของ Virtual Currency คำนวณจากอะไร?
ราคาต้นทุน (cost basis) ของ virtual currency คำนวณจากจำนวนเงินที่ซื้อ virtual currency + ค่าธรรมเนียมและต้นทุนอื่นๆ เพื่อให้ได้ virtual currency มาโดยจะคำนวณเป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐ
แต่ถ้าได้ virtual currency จากการทำงาน (เช่น ได้รับเป็นค่าจ้าง) หรือ การแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินในชีวิตจริง (เช่น ขายนาฬิกาข้อมือ โดยรับชำระเป็น BTC) โดยปกติ วิธีคำนวณราคาต้นทุนของ virtual currency ก็จะคิดตามมูลค่าของ virtual currency ในตลาด (Fair market value) เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ในวันและเวลาที่ได้รับ
การจ่ายค่าจ้างเป็น Virtual Currency ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยไหม?
หากค่าจ้างหรือค่าบริการนั้นอยู่ในเกณฑ์ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรอเมริกาเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐ แม้ว่าค่าจ้างนั้นจะจ่ายเป็น virtual currency ก็ตาม
ถ้า Cryptocurrency ที่ถืออยู่มีการ Hard Fork ต้องเสียภาษีไหม?
- ถ้า Hard fork นั้น ไม่มีการแจก Cryptocurrency ใหม่ (air drop) หรือได้รับประโยชน์ใดๆ เลย ก็จะไม่มีภาระภาษีเกิดขึ้น
- แต่ถ้า Hard fork นั้น มีการแจก Cryptocurrency ใหม่ (air drop) จะต้องนำมูลค่าของ Cryptocurrency ใหม่ที่ได้รับไปเสียภาษีด้วย โดยคิดตามมูลค่าของ cryptocurrency ใหม่ในตลาด (Fair market value) เป็นสกุลเงินดอลล่าร์ในวันและเวลาที่ได้รับ และให้ใช้มูลค่านั้นเป็นราคาต้นทุนสำหรับคำนวณภาษีกรณีมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในอนาคตด้วย
ถ้า Cryptocurrency ที่ถืออยู่มีการ Soft Fork ต้องเสียภาษีไหม?
โดยปกติ soft fork จะไม่ได้สร้าง cryptocurrency ใหม่ให้ผู้ถือ cryptocurrency เดิมอยู่แล้ว การ soft fork จึงไม่ก่อให้เกิดภาระภาษีแก่ผู้ถือ cryptocurrency นั้นๆ
วิธีประเมินราคาตลาด (Fair market value) ของ Virtual Currency เป็นสกุลเงินดอลล่าร์
กรณีซื้อขายผ่านตัวกลาง Exchange
ในกรณีที่ซื้อขาย virtual currency ผ่านกระดานเทรดของตัวกลาง Exchange ให้ใช้ราคาตลาด ณ วันและเวลาที่ตัวกลาง Exchange นั้นบันทึกไว้
แต่ถ้าตัวกลาง Exchange ไม่ได้บันทึกไว้ ให้เทียบราคาตลาด ณ วันและเวลาที่เกิดการแลกเปลี่ยน virtual currency ขึ้นบนกระดานเกรดของตัวกลาง Exchange นั้น
กรณีซื้อขายกันเองโดยตรง (Peer-to-Peer: P2P) โดยไม่ผ่านตัวกลาง
ในกรณีที่ซื้อขาย virtual currency กันเองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ได้ทำธุรกรรมผ่านกระดานเทรดของตัวกลาง Exchange ให้ใช้ราคาตลาด ณ วันและเวลาที่ธุรกรรมถูกบันทึกบน distributed ledger โดยกรมสรรพากรอเมริกายินดีรับหลักฐานการพิสูจน์ราคาตลาดตามวันและเวลาที่ธุรกรรมถูกบันทึกจาก blockchain explorer จากผู้เสียภาษีที่พิสูจน์ราคาของ virtual currency ในตลาดโลกได้
ถ้าได้รับ Virtual Currency เป็นของขวัญ (Gift) ต้องเสียภาษีไหม?
โดยปกติ ผู้ได้รับของขวัญตามกฎหมายภาษีอเมริกาไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากของขวัญที่ได้รับ การให้ virtual currency เพื่อเป็นของขวัญจริงๆ จึงเพียงเป็นการให้โดยเสน่หาทั่วไปเท่านั้น จนกว่าผู้รับจะขาย virtual currency นั้น หรือแลกเปลี่ยน virtual currency นั้นกับทรัพย์สินอื่น
เจ้าของมีหลาย Wallet เลยโอน Virtual Currency จาก Wallet นึงไปอีก Wallet นึงของตัวเอง ต้องเสียภาษีไหม?
การโยกย้าย virtual currency ของตัวเองจาก Wallet นึงไปอีก Wallet นึงที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด
เจ้าของเปิดบัญชีไว้หลาย Exchange เลยโอน Virtual Currency จาก บัญชีของ Exchange ไปอีก Exchange นึงที่ตัวเองเปิดไว้ ต้องเสียภาษีไหม?
การโยกย้าย virtual currency ของตัวเองจากบัญชี Exchange นึงไปอีกบัญชี Exchange นึงที่ตัวเองเปิดไว้ ไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด
ทยอยซื้อ Virtual Currency มาหลายรอบ การซื้อแต่ละรอบก็ราคาต้นทุนที่ไม่เท่ากัน หากต้องการขาย สามารถเลือกเองได้ไหมว่าจะใช้ราคาต้นทุนรอบไหนมาคำนวณกำไรขาดทุน?
กรมสรรพากรอเมริกาเปิดโอกาสให้ผู้เสียภาษีสามารถเลือกเอาเองได้ว่าจะเอาราคาต้นทุนรอบไหนมาคำนวณกำไรขาดทุนเพื่อเสียภาษีก็ได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะวิธีคำนวณต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in First-out: FIFO) หรือเข้าทีหลัง-ออกก่อน (Last-in First-out) เท่านั้น แต่สามารถเลือกใช้วิธีคำนวณต้นทุนที่แพงที่สุด-ออกก่อน (Highest-in First-out) ก็ยังได้ ขอเพียงผู้เสียภาษีสามารถระบุได้ว่า virtual currency ที่ขายไปนั้นตนซื้อมาเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ และขาย lot นั้นออกไปเป็นจำนวนเท่าไหร่
แต่ถ้าไม่ได้กำหนดหรือพิสูจน์ว่าใช้ราคาต้นทุนของ lot ไหนสำหรับคำนวณภาษี กรมสรรพากรอเมริกาจะใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in First-out: FIFO) เป็นวิธีมาตรฐาน
ตัวอย่างวิธีคำนวณต้นทุน Virtual Currency กรณีซื้อมาหลายรอบ
สมมติว่าซื้อ BTC มา 3 ครั้ง ในราคาต่อไปนี้
- ครั้งแรก: ซื้อ 1 BTC ราคา $10,000
- ครั้งที่สอง: ซื้อ 1 BTC ราคา $30,000
- ครั้งที่สุดท้าย: ซื้อ 1 BTC ราคา $20,000
รวม ตอนนี้ถือ 3 BTC แล้วต่อมาตัดสินใจขาย BTC จำนวน 1 BTC ในราคา $40,000
จากตัวอย่างนี้ ผู้เสียภาษีมีทางเลือกวิธีคำนวณต้นทุนเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้
1. คำนวณต้นทุนด้วยวิธี FIFO
หากใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in First-out: FIFO) ราคาต้นทุน BTC ที่จะใช้คือราคาที่ซื้อ BTC ครั้งแรกเป็นเงิน $10,000
เมื่อขาย 1 BTC ในราคา $40,000 โดยเลือกขาย BTC ที่ซื้อมาครั้งแรกออกไปก่อน จึงทำให้มีกำไร $30,000 เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป (ราคาขาย $40,000 – ราคาต้นทุนแบบ FIFO $10,000)
2. คำนวณต้นทุนด้วยวิธี LIFO
หากใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเข้าทีหลัง-ออกก่อน (Last-in First-out) ราคาต้นทุน BTC ที่จะใช้คือราคาที่ซื้อ BTC ครั้งสุดท้ายเป็นเงิน $20,000
เมื่อขาย 1 BTC ในราคา $40,000 โดยเลือกขาย BTC ที่ซื้อมาครั้งล่าสุดออกไปก่อน จึงทำให้มีกำไร $20,000 เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป (ราคาขาย $40,000 – ราคาต้นทุนแบบ LIFO $20,000)
3. คำนวณต้นทุนด้วยวิธี HIFO
วิธีคำนวณต้นทุนแบบต้นทุนที่แพงที่สุด-ออกก่อน (Highest-in First-out) ราคาต้นทุน BTC ที่จะใช้คือราคาที่ซื้อ BTC ครั้งที่สองเป็นเงิน $30,000
เมื่อขาย 1 BTC ในราคา $40,000 โดยเลือกขาย BTC ที่ซื้อมาครั้งที่สองซึ่งเป็นครั้งที่ซื้อมาแพงที่สุดออกไปก่อน จึงทำให้มีกำไร $10,000 เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป (ราคาขาย $40,000 – ราคาต้นทุนแบบ HIFO $30,000)
จากตัวอย่างนี้จะพบว่าวิธี HIFO ซึ่งเป็นวิธีคำนวณต้นทุนที่ประหยัดภาษีที่สุดเนื่องจากคำนวณแล้วจะได้กำไรเพื่อเสียภาษีน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ ในประเทศไทยอาจมีแนวทางที่แตกต่างจากการเก็บภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรจะออกแนวทาง ‘ภาษีคริปโต’ เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคตสำหรับผู้เสียภาษีในประเทศไทย