รีวิว แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 / 91 ประจำปีภาษี 2565 รีวิวแบบฟอร์มภาษีให้ผู้เสียภาษีเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี ปีนี้เรามาดูความเปลี่ยนแปลงกันว่าแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90/91 ปีภาษี 2565 ต่างจากปีที่แล้วอย่างไร เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้เตรียมตัว ยื่นภาษี ได้อย่างถูกต้องเช่นเคย
- วิเคราะห์ค่าภาษีตามยอดขาย 2566 ขายของได้เท่านี้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?
- คำนวณ ภาษี ‘เงินเดือน’ ตามฐานเงินเดือน 2566
1. ค่าลดหย่อนเก่าไป-ใหม่มา
สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่หายไปในปีภาษี 2565 มี 1 รายการ คือ ค่าลดหย่อนค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต ซึ่งหมดอายุไปแล้วในปี 2564 ทำให้กรมสรรพากรนำช่องใช้สิทธิดังกล่าวออกจากแบบฟอร์มภาษี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี 2565 ในที่สุด
ในทางกลับกัน ปีภาษี 2565 ก็มีค่าลดหย่อนใหม่เพิ่มขึ้นมา 1 รายการ คือ ช้อปดีมีคืน ซึ่งกลับมาเป็นค่าลดหย่อนของปีภาษี 2565 อีกครั้งสำหรับค่าซื้อสินค้า/บริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้เสียภาษีต้องกรอกแยกเป็น 3 ช่อง ได้แก่
- ค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าซื้อหนังสือหรือค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเตอร์เน็ต (e-book) และ
- ค่าซื้อสินค้า OTOP
โดยสำหรับปีภาษี 2565 ช้อปดีมีคืนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท ดังนั้น การกรอกข้อมูลทั้ง 3 ช่องนี้ สามารถกรอกเลขจำนวนเท่าไหร่ก็ได้แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาท
2. “ภาษีคริปโท” มีช่องกรอกเป็นของตัวเองแล้ว
แม้ว่าการเก็บภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีจะกำหนดประเภทไว้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปีภาษี 2561 แต่ในปีภาษี 2565 เพิ่งเป็นครั้งแรกที่กรมสรรพากรเพิ่มช่องเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีให้ผู้เสียภาษีโดยเฉพาะ ต่างจากในอดีตที่เป็นช่องว่างที่มีแต่จุดไข่ปลา (…….) เพื่อให้ผู้เสียภาษีเป็นผู้ระบุรายละเอียดเอง โดยครั้งนี้ เพิ่มรายได้ 2 ช่อง ได้แก่
- เงินส่วนแบ่งของกําไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และ
- ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเฉพาะกําไรคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล
ทั้งนี้ คาดว่าการกำหนดช่องกรอกสำหรับเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซีทั้ง 2 ช่องนี้น่าจะสืบเนื่องจากการออกคู่มือการคำนวณภาษีคริปโทของกรมสรรพากรเมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมาที่ทำให้วิธีคำนวณภาษีคริปโทสำหรับรูปแบบต่างๆ ทั้งนักลงทุนสายเทรดและสายขุด รวมถึงกำหนดมาตรฐานการคำนวณต้นทุนทั้งแบบ FIFO และ Moving Average Cost ซึ่งช่วยให้มีความชัดเจนขึ้นมากขึ้น
3. ปรับ “ปีภาษี” บนใบแนบค่าลดหย่อนตามปีภาษีใหม่
หลังจากกรมสรรพากรเริ่มระบุปีภาษีไว้อย่างชัดเจนบนใบแนบแสดงรายการค่าลดหย่อนประจำปีแทนตั้งแต่ปีภาษี 2564 ทำให้ปีภาษี 2565 จึงมีการระบุปีเอาไว้ด้วย ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าใบแนบค่าลดหย่อนจะเป็นแบบฟอร์มที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี และไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ดังนั้น หากพ้นปีไปแล้ว แบบฟอร์มที่พิมพ์รอไว้ใช้ไม่หมดอาจไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้อีก
4. แยกช่องกรอกค่าภาษีสำหรับ ภ.ง.ด.93 ต่างหากแล้ว
ในอดีต แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 จะกำหนดช่องกรอก ภาษีเงินได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 และ ภ.ง.ด.94 รวมไว้ในช่องเดียวกันเลย แต่ในปีภาษี 2565 นี้ กรมสรรพากรได้แยกช่องภาษีเงินได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 และ ภ.ง.ด.94 ออกจากกันเป็นคนละช่องไปเลยเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 ก็เพิ่มช่อง ภาษีเงินได้ชําระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 มาด้วยเช่นกัน และคาดว่ากรมสรรพากรน่าจะแยกช่องกรอกสำหรับภาษีเงินได้ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 เป็นการถาวรแล้ว
สรุป
ภาพรวมปีภาษี 2565 แล้วค่าลดหย่อนมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แบบฟอร์มปีภาษี 2565 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญบางจุดเช่นกัน ซึ่ง กรมสรรพากร ได้ออกคำชี้แจงวิธีการกรอกอย่างละเอียดเหมือนทุกปีที่ผ่านมา ผู้เสียภาษีจึงควรศึกษาวิธีการกรอกให้ครบถ้วนก่อนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่