ถึงแม้ปี 2561 จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างภาษีครั้งใหญ่แต่แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90/91 รอบนี้กลับมีความเปลี่ยนแปลงหลายส่วนอย่างมาก iTAX จะมารีวิวแบบฟอร์มภาษีให้ผู้เสียภาษี #iTAXpayer ทุกคนทราบว่าครั้งนี้แบบฟอร์มภาษีของ กรมสรรพากร มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เราจะได้เตรียมแบบฟอร์มเพื่อ ยื่นภาษี ได้อย่างถูกต้อง ไม่พลาดทุกสิทธิประโยชน์ และได้เห็นข้อสังเกตบางประการที่ผู้เสียภาษีอย่างเราควรทราบด้วย
1. ค่าลดหย่อนเก่าไป/ใหม่มา
ปีภาษี 2561 ค่าลดหย่อนใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาใหม่หลายรายการ ได้แก่ ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง, เงินลงทุนธุรกิจ Startup, ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร, ช้อปช่วยชาติ และที่น่าสนใจคือค่าลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองซึ่งพูดถึงประเด็นนี้ในหัวข้อต่อไป อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิลดหย่อนช้อปช่วยชาติมีการแบ่งช่องกรอกแยกย่อยอีก 3 รายการ ดังนั้น ผู้เสียภาษีจะต้องแจ้งค่าซื้อสินค้าช้อปช่วยชาติแยกตามรายการให้ถูกต้องด้วย
นอกจากนี้ เงินบริจาคน้ำท่วม 2560 เป็นค่าลดหย่อนเฉพาะกิจที่สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนได้ 1.5 เท่าของที่บริจาคจริงเฉพาะปี 2560 เท่านั้น ปีนี้จึงหายออกจากแบบฟอร์มไป
2. การสนับสนุนพรรคการเมืองเปลี่ยนไป
อีกจุดสังเกตซึ่งเห็นได้ชัดตั้งแต่หน้าแรก คือ ช่องแสดงเจตนาสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรใช้คำว่า การแสดงเจตนา บริจาคภาษีที่ชำระ ให้พรรคการเมือง มาตลอดตั้งแต่ปีภาษี 2551 แต่ในปีภาษี 2561 นี้ กรมสรรพากรเปลี่ยนมาใช้คำว่า การแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมือง
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การสนับสนุนพรรคการเมืองจะไม่ได้กำหนดตัวเลขตายตัว ฿100 เหมือนในอดีตอีกแล้ว เพราะปีภาษี 2561 นี้จะเป็นครั้งแรกที่ผู้เสียภาษีสามารถกำหนดเองได้เลยว่าอยากอุดหนุนเงินภาษีให้พรรคการเมืองกี่บาทก็ได้ตั้งแต่ ฿1-฿500 ดังนั้น ในทางทฤษฎี แม้จะมีผู้แสดงเจตนาสนับสนุนให้พรรคการเมืองเท่าเดิม แต่พรรคการเมืองก็มีโอกาสได้รับการอุดหนุนเงินภาษีจากผู้เสียภาษีได้มากกว่าเดิมสูงสุดถึง 5 เท่าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความจาก การแสดงเจตนา บริจาคภาษีที่ชำระ ให้พรรคการเมือง เป็น การแสดงเจตนา อุดหนุนเงินภาษีที่ชำระ ให้พรรคการเมือง คาดว่าเพื่อป้องกันความสับสนกับ เงินบริจาคพรรคการเมือง โดยเป็นการบริจาคให้พรรคการเมืองโดยตรงซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด ฿10,000
ดังนั้น ปีภาษี 2561 จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้เสียภาษีได้เห็นช่อง เงินบริจาคพรรคการเมือง อยู่ในแบบฟอร์มค่าลดหย่อนปีนี้ด้วย ซึ่งตามมาตรา 70 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินําจํานวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามจํานวนที่บริจาคจริงสูงสุด ฿10,000 ด้วย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560
ประเด็นที่น่าสังเกตคือ
แม้จะประกาศเป็นกฎหมายแล้ว แต่เงินบริจาคพรรคการเมืองยังไม่มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับวิธีการใช้สิทธิลดหย่อนเลย ค่าลดหย่อนรายการนี้จึงยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีใช้สิทธิลดหย่อน ซึ่งแม้แต่ในวิธีกรอกแบบฟอร์มที่กรมสรรพากรทำออกมาก็ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ นอกจากชื่อค่าลดหย่อนเฉยๆ แต่พอคาดเดาว่าจะมีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคพรรคการเมืองออกมาเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน
3. เพิ่มช่องทางให้ข้อมูลผู้เสียภาษีเพิ่มเติมด้วย QR Code
นอกจากสายด่วน 1161 แล้ว กรมสรรพากรเพิ่ม QR Code ขึ้นมาอีก 2 ตัวเพื่อเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลผู้เสียภาษีเพิ่มเติม โดย QR Code ทางซ้ายจะเป็นวิธีการกรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 91 และ ภ.ง.ด. 90
ส่วน QR Code ทางขวาจะเป็นลิงค์เพื่อพาผู้เสียภาษีไปที่ LINE@ ของศูนย์สารสนเทศกรมสรรพากร ซึ่งตอบคำถามให้ผู้เสียภาษีได้ระดับพื้นฐาน
4. ค่าลดหย่อนบุตร ฿60,000 มาแล้ว
ค่าลดหย่อนบุตร คนละ ฿30,000 ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนแปลงใหญ่เมื่อปีภาษี 2560 ก็มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมใหญ่อีกครั้งในปีภาษี 2561 ด้วย โดยผู้เสียภาษีที่มีลูกตั้งแต่คนที่สองที่เกิดในปี 2561 และหลังจากนี้ จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่มได้เป็นคนละ ฿60,000
ดังนั้น แบบฟอร์มรอบนี้จึงแบ่งค่าลดหย่อนบุตรเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) บุตรกลุ่มเดิมที่ลดหย่อนได้คนละ ฿30,000 กรอกได้สูงสุด 7 คน และ 2) บุตรกลุ่มใหม่ที่ลดหย่อนได้คนละ ฿60,000 กรอกได้สูงสุด 5 คน ซึ่งน่าจะเป็นการออกแบบเผื่อการยื่นภาษีในอนาคต
5. รายได้จาก Cryptocurrency ให้กรอกช่องอื่นๆ
รายได้จาก Cryptocurrency และ Digital Token ถูกประกาศให้เป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในฐานะเงินได้ประเภทที่ 4 แต่อย่างไรก็ดี ในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ปีภาษี 2561 นี้ก็ไม่ได้กำหนดช่องเอาไว้โดยเฉพาะ แต่ให้กรอกช่อง อื่นๆ แทน แบบฟอร์มจึงไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
6. เงินบริจาคโรงพยาบาลรัฐให้กรอกช่องลดหย่อน 2 เท่า
ปีภาษี 2561 เป็นปีแรกที่เงินบริจาคสถานพยาบาลของรัฐสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่อย่างไรก็ดี ในแบบฟอร์มค่าลดหย่อนปีภาษี 2561 นี้ก็ไม่ได้กำหนดช่องเอาไว้โดยเฉพาะ แต่ให้กรอกช่อง เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา/การกีฬา/อื่นๆ (2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของ 3.)แทน
สรุป
แบบฟอร์มปีภาษี 2561 นี้ กรมสรรพากร ก็ได้ออกคำชี้แจงวิธีการกรอกมาได้อย่างชัดเจนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่ถ้าใครที่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองจะกรอกฟอร์มแบบใหม่นี้ถูกไหม แนะนำให้ไปที่เว็บไซต์ www.itax.in.th แล้วเลือก “คำนวณภาษี” ระบบจะเตรียมแบบฟอร์มภาษีให้ (กำลังจะรองรับแบบฟอร์มภาษีใหม่ประจำปีภาษี 2561 เร็วๆ นี้) โดยการเปลี่ยนข้อกฎหมายที่ซับซ้อนให้กลายเป็นคำถามง่ายๆ ที่ทุกคนตอบได้ และเมื่อตอบเสร็จระบบก็จะเตรียมแบบฟอร์มภาษีที่จำเป็นให้ทั้งหมด แค่เซ็นชื่อก็สามารถนำไปใช้ยื่นได้ทันที และใช้ฟรีเหมือนเคย