นายกฯ รับทราบข้อกังวล ภาษีคริปโต มอบสรรพากร ชี้แจงวิธีคำนวณภาษีและการยื่นภาษีประจำปีให้ชัดเจน ย้ำรัฐบาลเน้นสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาตลาดเงินสมัยใหม่กับความเข้าใจของประชาชน เตือนหาความรู้ก่อนลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
- โฆษกสรรพากรชี้แจง “ภาษีคริปโต” เสียภาษีจากกำไรเป็นรายธุรกรรม
- Bitcoin เสีย ภาษีคริปโต ยังไง ได้ข้อสรุปแล้ว (อัปเดต ม.ค. 65)
9 มกราคม 2565 – นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายต่อกรณีที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่มีกำไรจาการขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโต เช่น คริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีประจำปี ว่าจะสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดการเงินสมัยใหม่ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้ Startup กลุ่ม FinTech (เทคโนโลยีด้านการเงิน) เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
รัฐบาลไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ นายกฯ มอบ ‘สรรพากร’ ชี้แจงให้เกิดความชัดเจนปม ภาษีคริปโต
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายปิดกั้นการพัฒนาใหม่ๆ ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมใดรวมถึงกลุ่ม FinTech เพียงแต่ส่วนใดที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ มีกลุ่มคนเข้าใจในวงจำกัดและจะเกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินของประชาชนมาลงทุนนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาอย่างรอบด้านก่อนให้การสนับสนุน เช่นที่ผ่านมามี Startup กลุ่มเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาระดมทุนในประเทศไทยมาก รัฐบาลก็ออกนโยบายยกเว้นภาษีกองทุนร่วมลงทุน (Venture capital) ให้ เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนจริงในประเทศ ส่วนการซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่นั้นยังเน้นการซื้อขายเหรียญเพื่อทำกำไรเท่านั้น ขณะที่ความเข้าใจของผู้ลงทุนยังอยู่ในวงจำกัด
“กรณีที่มีผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้สะท้อนว่า หลักเกณฑ์การคิดภาษีจากกำไรการขายสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ลงทุนแต่ละประเภทยังไม่มีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังดำเนินการชี้แจงให้เกิดความชัดเจนต่อไป”
น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ติดตามการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงการคลังให้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนในการศึกษาความเหมาะสมในเชิงนโยบาย โดยข้อมูลล่าสุดก็ได้เห็นพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลว่าเริ่มเป็นที่นิยม แต่ก็ยังยอมรับกันในวงจำกัด หากเร่งให้การสนับสนุนโดยไม่พิจารณาอย่างรอบด้าน อาจเกิดวิกฤตคริปโตฯ เช่นเดียวแบบเดียวกับวิกฤตการเงินได้
“รัฐบาลไม่ปฏิเสธการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีคือต้องให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจ รู้เท่าทันในระดับที่มากและกว้างขวางพอ วางเกณฑ์การกำกับที่ดีและมีนโยบายการสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องของภาษีไปพร้อมกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจสูงสุด และท่านก็ได้ฝากความห่วงใยถึงผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทุกคนว่าขอให้ทำความเข้าใจตลาดอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย
ย้อนร้อยประเด็น ‘ภาษีคริปโต’ ในไทย เริ่มจากโฆษกสรรพากรชี้แจง ต้องเสียภาษีจากกำไรเป็นรายธุรกรรม
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 คุณสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงประเด็น “ภาษีคริปโต” ในนามกรมสรรพากรในรายการ Morning Wealth ของ The Standard Wealth สำหรับข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับภาษีคริปโต เป็นเวลา 30 นาที (ช่วงครึ่งหลังตั้งแต่นาทีที่ 30 เป็นต้นไป)
จากคำชี้แจงของโฆษกกรมสรรพากรภายในรายการ จึงนำมาสู่สถานการณ์ภาษีคริปโตของไทยซึ่งสรุปได้เป็น 10 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
- กำไรจากการขายคริปโตตามกฎหมายไทย คิดเป็น “รายธุรกรรม” กล่าวคือ หากธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้
- ถ้าซื้อขายผ่านกระดานเทรด (Exchange) แล้วเก็บเงินเอาไว้ในกระดานเทรดโดยไม่ได้ถอนเงินสดออกมา ก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด (cash basis) คือ เกิดรายได้เมื่อไหร่เป็นรายได้เมื่อนั้น ดังนั้น หากขายคริปโตแล้วได้กำไร ย่อมเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แม้ว่าเงินนั้นจะยังไม่ได้ถอนออกมา แต่ยังไม่มีคำชี้แจงกรณีนำเหรียญนึงไปแลกกับคู่เหรียญอื่นๆ ว่าจะเกิดกำไรได้หรือไม่ และยังไม่ได้ชี้แจงในกรณีนำเหรียญไปแลกกับ stable coin ว่าถือว่ามีกำไรแล้วหรือไม่
- เหรียญที่ได้จากการ Locked Staking ก็ต้องเสียภาษีเหมือนกัน มองเหมือนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร แต่ยังไม่มีคำชี้แจงว่าหากเหรียญที่ได้รับมูลค่า 5 บาทนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าระหว่างปี จะให้ใช้มูลค่าใดนำแสดงเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี
- กรมสรรพากรได้พูดคุยกับกระดานเทรดในประเด็นภาษีคริปโตแล้วเพื่อหาทางอำนวยความสะดวกสำหรับการส่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในอนาคต
- รายได้จากการขุด (Mining) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่ยังไม่ได้ชี้แจงว่าใช้มูลค่า ณ เวลาใดสำหรับแสดงเป็นรายได้ (เช่น อ้างอิงมูลค่า ณ เวลาที่ขุดได้?)
- โฆษกกรมสรรพากรยืนยันว่ากรมสรรพากรมี big data และมีการทำ data analytics เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้เสียภาษีรายใดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มไม่เสี่ยง หากเจ้าหน้าที่สรรพากรมีข้อสงสัยว่าแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน ก็สามารถขอเชิญให้ผู้เสียภาษีชี้แจงได้ หากพิสูจน์ได้ว่าแสดงรายได้ครบถ้วนแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าพบว่าผู้เสียภาษีแสดงรายได้ต่ำกว่าข้อมูลที่กรมสรรพากรมี ทางกรมจะขอให้ผู้เสียเสียภาษียื่นและชำระภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่ขาด ซึ่งหากเป็นการชำระเพิ่มเติมหลังจากหมดเวลายื่นภาษีประจำปีแล้ว จะต้องชำระเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ยเนื่องจากชำระภาษีล่าช้า) โดยคำนวณจากเฉพาะภาษีที่ชำระไว้ขาด ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน แต่ไม่มีค่าปรับอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากยื่นภาษีแล้ว เพียงแต่แสดงรายได้ไม่ครบถ้วน
- กรมสรรพากรยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องให้ผู้ขายแจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่จากธุรกรรมดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขายไม่แจ้งผู้ซื้อว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ ก็ให้ผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากยอดซื้อทั้งจำนวนเลย ดังนั้น ผู้ขายต้องรักษาสิทธิ์ของตนโดยแจ้งผู้ซื้อให้ทราบก่อนว่าตนมีกำไรเท่าไหร่ เพื่อให้หักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างถูกต้อง
- กรมสรรพากรเข้าใจว่าในทางปฏิบัติอาจมีข้อสงสัยว่าการซื้อขายผ่านกระดานเทรด จะเป็นการตั้งราคาเสนอซื้อ-ขาย ซึ่งผู้ซื้อไม่อาจทราบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผ่านระบบของกระดานเทรดได้อย่างไร รวมถึงจะระบุชื่อผู้ขายและส่งหนังสือรับรองการให้ภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้ขายด้วยวิธีการใด ซึ่งกรมสรรพากรมีความตั้งใจจะอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี โดยกำลังหารือแนวทางดังกล่าวกับกระดานเทรดเพื่อหาความชัดเจนขึ้นในอนาคต
- กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่เพิ่งเริ่มเคลื่อนไหวปี 2565 เพราะกรมสรรพากรพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเทรดกันอย่างคึกคัก จึงมีความห่วงใยผู้เสียภาษีว่าจะลืมไปว่ารายได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ในช่วงต้นปี 2565 ด้วย จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียภาษีทราบถึงหน้าที่ดังกล่าว จะได้ไม่หลุดหลงไปจนลืมยื่นภาษีและรับบทลงโทษในภายหลัง ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมกฎหมายภาษีคริปโตเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ซึ่งสถานการณ์ตลาดคริปโตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ก็มีโอกาสที่กฎหมายภาษีคริปโตอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เหมือนดังเช่นในอดีตที่ไม่เคยมีกฎหมายกำหนดว่ากำไรจากคริปโตเป็นเงินได้ประเภทใด จนเมื่อปี 2561 จึงกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเงินได้จากการลงทุนกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ย เงินปันผล
- แนวปฏิบัติที่ชัดเจนของกรมสรรพากรจะออกมาในรูปแบบ Q&A ภายในเดือนนี้เลย (มกราคม 2565) ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้เสียภาษีและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นขึ้นในการปฏิบัติจริง