ตามธรรมเนียมไทย เมื่อนักกีฬาทีมชาติไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในระดับโลกพร้อมกับเหรียญรางวัลที่ได้นำกลับมาพร้อมกับความภูมิใจของคนทั้งชาติ ทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมถึงบริษัทเอกชนจำนวนมากจะมอบเงินรางวัลสนับสนุนให้นักกีฬาที่ได้เหรียญกลับมา จึงมีประเด็นว่านักกีฬาที่ได้รับเหรียญจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก (Olympic) เช่น Paris 2024 เมื่อได้เงินอัดฉีดมาแล้วต้องภาษีเงินได้หรือไม่อย่างไรบ้าง
- ลงทะเบียน เงินดิจิทัล ผ่าน แอปทางรัฐ รับเงิน 10,000 บาท
- จูงใจหัวกะทิกลับไทย ลดภาษีบุคคลธรรมดา เหลือ 17%
Olympic Paris 2024 นักกีฬาไทยที่ได้เหรียญ โอลิมปิก จะได้เงินรางวัลกี่บาท
ประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้เงินรางวัลแก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า “แห่งประเทศไทย” พ.ศ. 2559 ได้กำหนดอัตราเงินรางวัลกรณีนักกีฬาไทยได้รับเหรียญโอลิมปิกในอัตราดังนี้
1. เลือกรับเงินครั้งเดียว
เหรียญทอง | เหรียญเงิน | เหรียญทองแดง |
10 ล้านบาท | 6 ล้านบาท | 4 ล้านบาท |
2. แบ่งจ่าย 5 ปี
หากนักกีฬาเลือกใช้วิธีรับเงินแบบแบ่งจ่าย จะได้เงินรางวัล 50% ในปีแรกก่อน จากนั้นส่วนที่เหลืออีก 50% จะถูกทยอยจ่ายเป็นรายเดือน ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นเดือนแรก ซึ่งเป็นการอ้างอิงตามปีงบประมาณของทางราชการ
ปีที่ได้รับเงินรางวัล | เหรียญทอง | เหรียญเงิน | เหรียญทองแดง |
ปีแรก | 6 ล้านบาท | 3 ล้านบาท | 2 ล้านบาท |
ปีที่ 2 | 1.5 ล้านบาท | 900,000 บาท | 600,000 บาท |
ปีที่ 3 | 1.5 ล้านบาท | 900,000 บาท | 600,000 บาท |
ปีที่ 4 | 1.5 ล้านบาท | 900,000 บาท | 600,000 บาท |
ปีที่ 5 | 1.5 ล้านบาท | 900,000 บาท | 600,000 บาท |
รวม | 12 ล้านบาท | 7.2 ล้านบาท | 4.8 ล้านบาท |
กรณีได้เงินอัดฉีดไม่เกิน 10 ล้านบาท
หากนักกีฬาได้รับเงินให้เปล่าจากทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติรวมถึงบริษัทห้างร้านต่างๆ โดยผู้ให้ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน แม้เงินที่ได้รับจะทำให้นักกีฬามีฐานะที่ดีขึ้น แต่ถ้าจำนวนเงินที่ได้รับนั้นไม่เกิน 10 ล้านบาท นักกีฬาจะได้รับยกเว้นอยู่แล้ว ไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนนี้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42(28) ประมวลรัษฎากร)
กรณีได้เงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท
โดยปกติแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไป หากได้รับเงินเกิน 10 ล้านบาทจากบริษัทห้างร้าน โดยปกติ ผู้รับจะต้องเสียภาษีการรับให้ในอัตรา 5% ของส่วนที่เกินจากเงิน 10 ล้านบาท แต่ถ้าผู้รับเป็นนักกีฬา รวมถึงสต๊าฟโค้ช และเงินที่ได้รับเป็นเงินอัดฉีด จะได้รับยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ หากนักกีฬาได้รับเงินอัดฉีดเป็นรางวัลเนื่องจากเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ (เช่น Olympic Tokyo 2020) นักกีฬาและทีมผู้ฝึกสอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย (ข้อ 2(93) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)) ซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายยกเว้นภาษีนี้คือ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาตินั่นเอง (อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ.2560))
กรณีได้รับเงินค่าพรีเซนเตอร์ – ไม่ได้รับยกเว้นภาษี
เงินค่าพรีเซนเตอร์ออกงาน ค่าแสดงตัว เป็นเงินที่ผู้ให้หวังสิ่งตอบแทน กล่าวคือ คาดหวังให้มาออกงาน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ เงินลักษณะนี้ต้องเสียภาษีตามปกติเพราะไม่ใช่เงินให้เปล่า
สรุป
นักกีฬาที่ได้รับเงินอัดฉีดจากบริษัทห้างร้านเพื่อเป็นรางวัลเนื่องจากเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาสากล เช่น โอลิมปิก จะได้รับยกเว้นไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลย