‘ธีราทร’ กลับมาเล่นให้ ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ตั้งแต่ เลกสอง ของฤดูกาล 2021/22 รอบนี้ หลังจากข้อตกลง กับโยโกฮามา เอฟ มารินอส ด้วยค่าตัว 2 แสนดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 6.7 ล้านบาท โดยธีราทรจะได้รับค่าเหนื่อยจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เดือนละ 1.2 ล้านบาท ทำให้มีรายได้ต่อปีราว 14.4 ล้านบาท คาดว่าเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 4,324,000 บาท
- ค่าภาษี นักฟุตบอล และ นักกีฬาอาชีพ ตามฐานค่าเหนื่อยต่อเดือน
- วิเคราะห์ ค่าภาษีตามฐานเงินเดือน
- วิเคราะห์ค่าภาษีตามยอดขาย ขายของได้เท่านี้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?
หลังจากที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ประกาศบรรลุข้อตกลงคว้าตัว ธีราทร บุญมาทัน แบ็กซ้ายดีกรีทีมชาติไทย จากสโมสรโยโกฮามา เอฟ มารินอส จากเจลีก 1 ประเทศญี่ปุ่น มาร่วมทัพได้สำเร็จ และจะกลับมาเล่นให้ ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ตั้งแต่ เลกสอง ของฤดูกาล 2021/22 นั้น
คุณเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับดีลนี้กับสื่อมวลชนในงานขอบคุณสื่อมวลชนและผู้สนับสนุน ที่จัดขึ้นที่ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ สาขารางน้ำ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยได้เปิดเผยรายละเอียดสำคัญว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ใช้เงินจำนวน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 6.7 ล้านบาท เพื่อดึงแบ็กซ้ายจากสโมสรโยโกฮามา เอฟ มารินอส กลับมาสู่ทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีกครั้ง ด้วยสัญญา 3 ฤดูกาล พร้อมออปชันขยายเพิ่มอีก 1 ฤดูกาล พร้อมค่าเหนื่อยเดือนละ 1.2 ล้านบาทต่อเดือน (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์)
วิเคราะห์ค่าเหนื่อย ‘ธีราทร’ รับจาก ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่?
ค่าเหนื่อยของธีราทรต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากธีราทรเป็นบุคคลธรรมดาที่มีแหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงสามารถแสดงวิธีคำนวณภาษีได้ทีละขั้นตอนดังนี้
1. สูตรคำนวณภาษีของธีราทร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยปกติจะคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิกันเป็นรายปีปฏิทิน (ปีภาษี) ด้วยอัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได โดยใช้สูตรคำนวณต่อไปนี้
เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
จากนั้น
เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ดังนั้น การคำนวณเงินได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน จึงต้องคำนวณจากจำนวนที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี
2. ค่าเหนื่อยของธีราทรเป็นเงินได้ของ ‘นักแสดงสาธารณะ’ 14.4 ล้านบาท สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงสุด 600,000 บาท
ค่าเหนื่อยของธีราทรเป็นเงินได้ของนักกีฬาอาชีพที่สโมสรจ่ายให้เดือนละ 1.2 ล้านบาท หากคำนวณเป็นรายปีแล้ว จะมีรายได้ 14.4 ล้านบาท (รายได้ 1.2 ล้านบาท x 12 เดือน)
ทั้งนี้ ค่าเหนื่อยของนักกีฬาอาชีพเป็นเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ (เงินได้ประเภทที่ 8) จึงสามารถใช้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี ได้แก่
- หักตามจริง (ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย) หรือ
- หักเหมา 40-60% (ไม่ต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่าย)
โดยการหักใช้จ่ายแบบเหมาแบ่งตามลำดับ ดังนี้
จำนวนรายได้ | ค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่หักได้ |
300,000 บาทแรก | 60% |
ส่วนที่เกิน 300,000 บาท | 40% |
แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแบบเหมาทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท ดังนั้น หากรายได้จากนักแสดงสาธารณะเกิน 1,350,000 บาท จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้มากกว่า 600,000 บาท อีกแล้วเนื่องจากเต็มเพดานสิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้
หากกรณีนี้ ธีราทรเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ค่าเหนื่อยปีละ 14.4 ล้านบาท จึงหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงสุด 600,000 บาท แต่ถ้าธีราทรเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงเพราะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 600,000 บาทก็สามารถใช้สิทธิหักตามจริงได้โดยนำหลักฐานค่าใช้จ่ายมาแสดง
3. ธีราทรต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราสูงสุด 35% คาดว่าคำนวณค่าภาษีได้ 4,324,000 บาท
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 35% ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตาม เงินได้สุทธิ ของผู้เสียภาษี
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | ค่าภาษีสูงสุดที่คำนวณได้จากเงินได้สุทธิในแต่ขั้น | ค่าภาษีสูงสุดสะสม |
---|---|---|---|
฿0 – ฿150,000 | ยกเว้น | ฿0 | ฿0 |
> ฿150,000 – ฿300,000 | 5% | ฿7,500 | ฿7,500 |
> ฿300,000 – ฿500,000 | 10% | ฿20,000 | ฿27,500 |
> ฿500,000 – ฿750,000 | 15% | ฿37,500 | ฿65,000 |
> ฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% | ฿50,000 | ฿115,000 |
> ฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% | ฿250,000 | ฿365,000 |
> ฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% | ฿600,000 | ฿965,000 |
> ฿5,000,000 | 35% | ∞ | > ฿965,000 |
เมื่อธีราทรมีรายได้ 14.4 ล้านบาท และหักค่าใช้จ่ายได้ 6 แสนบาท หากไม่ได้ใช้สิทธิค่าลดหย่อนอื่นเพิ่มเติมนอกจากค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะคำนวณเงินได้สุทธิของธีราทรได้ดังนี้
เงินได้ 14,400,000 – ค่าใช้จ่าย 600,000 – ค่าลดหย่อน 60,000 = เงินได้สุทธิ 13,740,000
เมื่อคำนวณได้เงินได้สุทธิ 13,740,000 บาท จึงเป็นจำนวนเงินได้สุทธิที่มากกว่า 5 ล้านบาท ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 35% สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่เกิน 5 ล้านบาท ทำให้คำนวณค่าภาษีได้ 4,324,000 บาท
อย่างไรก็ดี ธีราทรสามารถเสียภาษีน้อยกว่านี้ได้ หากสามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายตามจริงได้มากกว่า 6 แสนบาท รวมถึงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เช่น เบี้ยประกันชีวิตลดหย่อนภาษี กองทุน SSF ลดหย่อนภาษี หรือบริจาคลดหย่อนภาษี เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เงินได้สุทธิลดลง และส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงได้นั่นเอง
สรุป
- ธีราทร เล่นฟุตบอลให้สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฐานะนักกีฬาต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ค่าเหนื่อยเดือนละ 1.2 ล้านบาท เป็นเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงสุด 600,000 บาท แต่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้มากกว่านั้น หากมีหลักฐานค่าใช้จ่ายมาแสดง
- ค่าเหนื่อยทั้งปีรวม 14.4 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราสูงสุด 35% โดยคำนวณค่าภาษีได้ 4,324,000 บาท ซึ่งกระบวนการคำนวณภาษีทั้งหมดนี้ สามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ผ่านแอป iTAX
แอป iTAX คำนวณภาษีสำหรับบุคคลทั่วไปและนักกีฬาอาชีพ
ตัวช่วยคำนวณภาษีเพื่อเงินคืนภาษีสูงสุด โหลดฟรี!