คำถามที่ใครต่างคนหาความหมาย ที่แท้ของคำว่า “ภาษี” และเราเชื่อว่ามีผู้เสียภาษีอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจว่า เมื่อทำงานมีรายได้ แต่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ หรือเป็นพนักงานประจำ แต่บริษัทไม่มีสวัสดิการให้ ทำไมถึงถูกหักภาษี มาทางนี้ iTAX จะบอกให้เอง
เริ่มต้นที่ ทำความรู้จัก การหักภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือ ที่หลายๆ คนคุ้นหูกันในชื่อ “การหักภาษี ณ ที่จ่าย” คือ การเก็บภาษีล่วงหน้าบางส่วนตอนที่คุณรับเงิน ทั้งนี้ก็เพราะ การจ่ายเงินในบางกรณีกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงิน (นายจ้าง) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตอนที่ลูกจ้างรับเงินด้วย และนายจ้างมีหน้าที่นำเงินภาษีนั้นส่งกรมสรรพากร
ส่วนการจ่ายเงินแบบไหนที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินแบบไหนสามารถจ่ายได้เลย ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อาจจะต้องดูที่ตัวบุคคลและประเภทของเงินที่จ่ายประกอบด้วย (อ้างอิง : มาตรา 50 ประมวลรัษฎากร)
และหากมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัท (ผู้หัก) จะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ให้กับลูกจ้าง (ผู้รับเงิน) ด้วย
หักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่ออะไร?
หากจะพูดว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถช่วยแบ่งเบาภาระภาษีทีต้องจ่ายตอนสิ้นปี ก็ไม่ผิดนัก เพราะทุกๆ ครั้งที่มีการจ่ายหรือรับเงินมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัท (ผู้ที่หักภาษี) จะต้องออก หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ให้กับผู้รับเงิน (ลูกจ้าง/ลูกค้า) ไว้ด้วยทุกครั้ง
เพื่อที่ผู้รับเงินจะสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานกับกรมสรรพากรได้ว่า เงินที่รับมานั้นได้ถูกหักภาษีไปแล้วส่วนหนึ่ง จึงทำให้เมื่อถึงกำหนด ยื่นภาษีเงินได้ประจำปี คุณอาจจะจ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเลยก็ได้ทั้งนั้น
บริษัทไม่มีสวัสดิการ ได้รับแต่เงินเดือน ทำไมต้องถูกหักภาษี?
หลายๆ คนมักจะตั้งข้อสงสัย และรู้สึกว่าไม่แฟร์เท่าไหร่ เพราะบริษัทที่เราทำงานอยู่ไม่มีสวัสดิการสำหรับพนักงาน แล้วทำไมเราเงินเดือนของเราจะต้องถูกหักภาษีด้วย? และคิดว่าการหักภาษีนั้นเป็นการไม่แฟร์ เราอาจจะต้องขอให้แยกเรื่องสวัสดิการบริษัท และ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ออกจากกันก่อน เพราะ
- สวัสดิการแรงงาน ตามที่กฎหมายกำหนด คือ การดำเนินการที่นายจ้าง สหภาพแรงงาน และรัฐบาลมุ่งหมายให้ลูกจ้างสามารถมีระดับความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความเจริญก้าวหน้า และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต (ข้อมูลจาก www.mol.go.th)
- แต่การหักภาษี ณ ที่จ่าย คือ มาตรการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าบางส่วนตอนที่คุณรับเงินเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ไม่ว่าบริษัทของคุณจะมีสวัสดิการมากหรือน้อยแค่ไหน บริษัทก็จะยังต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่การจ่ายเงินนั้นเข้าข่ายเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษี
รู้ไว้ใช่ว่า ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ยังต้องยื่นภาษี
หลายๆ คนอาจจะเข้าใจไปว่า การที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกเดือน หรือ ทุกครั้งที่ได้รับเงินค่าจ้าง นั่นคือการจ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนดเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีอีกแล้ว
เราอยากบอกว่า คุณกำลังเข้าใจผิดมากๆ เพราะถึงแม้ว่าคุณจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว คุณยังต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปีอยู่เหมือนเดิม เพราะการที่รายได้ของคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้หมายความว่า คุณจ่ายภาษีเงินได้ประจำปีแล้ว แต่เป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้าเพียงบางส่วนเท่านั้น
และการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ได้เป็นการการันตีว่าคุณจะต้องเสียภาษีเพิ่ม หรือ มีสิทธิ์ได้รับ เงินคืนภาษี เพราะสิ่งเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับว่า รายได้ของคุณถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่? คุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปเท่าไหร่บ้าง? เป็นต้น
นั่นหมายความว่า
เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องทำการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี คุณจะต้องรวบรวมเอกสารและหลักฐานที่แสดงแหล่งที่มาของรายได้ (ใบ 50 ทวิ) ให้ครบถ้วน พร้อมทำการยื่นภาษีให้เรียบร้อย เว้นเสียแต่ว่า เงินได้ หรือรายได้ของคุณจะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นว่า เมื่อโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ไม่ต้องทำการยื่นภาษีอีก เช่น เงินปันผลจากหุ้น, เงินปันผลกองทุนรวม, ดอกเบี้ย และ เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
รู้แบบนี้แล้ว ทุกๆ คนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปก็ไม่ต้องน้อยอกน้อยใจไปว่า เงินเดือนที่ได้รับน้อยนิดแล้วยังจะโดนหักภาษีไปอีก เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณมีการวางแผนภาษีหรือคำนวณภาษีแต่เนิ่นๆ และเลือกใช้ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ดีมากพอ สุดท้ายแล้วนอกจากคุณจะไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มแล้ว คุณอาจจะได้รับเงินคืนภาษีเพิ่มด้วยอีกต่างหาก
และไม่ต้องกังวลว่า การคำนวณภาษี หรือ หาตัวช่วยลดหย่อนภาษี จะยากเกินความสามารถ เพราะคุณสามารถ วางแผนภาษี คำนวณภาษี รวมถึง ค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่ตรงความต้องการได้ที่ Application iTAX แอบกระซิบก่อนว่าใช้ฟรีทั้ง iOS และ Android แล้วคุณจะรู้ว่า ภาษีไม่ยากอย่างที่คิด