ทวงคืนทางเท้าผ่าน LINE ได้รางวัลปลอดภาษี

ทั่วไป

เมื่อช่วงกลางปี 2560 ทาง กทม. เริ่มเปิดช่องทางร้องเรียนผ่านแอพ LINE เพื่อให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ สามารถส่งภาพถ่ายการทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับทางเท้าไปให้เทศกิจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งส่วนตัวผมว่าเป็นแคมเปญที่น่าสนใจมากเพราะโอกาสประชาชนอย่างเราๆ ได้เป็นหูเห็นตาช่วยตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองจริงๆ ซะที

ที่น่าตื่นเต้นกว่าก็คือ ผู้แจ้งเบาะแสมีสิทธิได้ส่วนแบ่งค่าปรับเป็นรางวัลด้วย 50% และที่น่าตื่นเต้นสุดๆ คือ ว่ากันว่ารางวัลที่ว่านี้ไม่ต้องเสียภาษีด้วย! เลยคิดว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะรู้จักเรื่องภาษีไปพร้อมๆ กับเรื่องใกล้ตัวแบบนี้

ว่าแต่เรื่องนี้จะ กทม. จริงจังขนาดไหน? ร้องเรียนทาง LINE ต้องทำยังไง? จะได้เงินจริงมั้ย? ไม่ต้องเสียภาษีจริงเหรอ? มาดูกันเป็นฉากๆ กันเลยกับเคสแจ้งจับมอ’ไซค์วิ่งบนทางเท้าซึ่งเป็นเคสจริงของผม

รู้หรือไม่? มอ’ไซค์วิ่งบนทางเท้าผิดกฎหมาย

การขี่ จยย.วิ่งบนทางเท้าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17(2) ที่ห้ามจอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน “บนทางเท้า” เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้ ดังนั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศกิจของเขตจะเป็นผู้เรียกเก็บค่าปรับ

จุดนี้บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องเจ้าหน้าที่เทศกิจของเขต? ทำไมไม่ใช่ตำรวจจราจร? เหตุผล คือ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เมือง เช่น เทศบาล กทม. พัทยา ฯลฯ ดังนั้น ความผิดเกี่ยวกับทางเท้าจึงอยู่ในความดูแลของ กทม. (แต่ถ้าขยับลงจากทางเท้าลงไปที่ถนนก็จะกลายเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจจราจร ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก แทน)

อยากร้องเรียนทาง LINE ต้องทำยังไง?

กทม. เปิดช่องทางร้องเรียนผ่าน LINE ผ่าน LINE@ โดยคุณต้องค้นหา LINE ID ชื่อว่า “@ebn6703w” แล้วจะพบ LINE “รางวัลนำจับ” ซึ่งเป็นบัญชี LINE ของ กทม. ซึ่งการร้องเรียนก็จะทำผ่านการแชทกันตรงๆ เลย

แจ้งจับ มอไซค์ วิ่งบนทางเท้า

แจ้งจับ มอไซค์ วิ่งบนทางเท้า

อยากร้องเรียนต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง?

1. รูปถ่าย/วิดีโอ

รูปถ่าย/วิดีโอขณะวิ่งบนทางเท้าที่เห็นป้ายทะเบียนรถ เป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจได้ว่า จยย. คันนั้นวิ่งบนทางเท้าจริงๆ (ของผมถ่ายไว้เป็นภาพต่อเนื่องอย่างน้อย 4-5 ภาพ แล้วส่งแบบเรียงลำดับไปเพื่อให้เห็นว่ารถคันนี้เจตนาวิ่งบนทางเท้าจริงๆ ไม่ใช่แค่กำลังจอดอยู่หรือขี่เพื่อเข้าไปในอาคาร) รูปถ่ายที่เห็นป้ายทะเบียนชัดเจนจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตามสืบต่อได้ว่า จยย. คันนั้นเป็นของใคร

โดยเจ้าหน้าที่จะไปตามสืบเจ้าของรถจากป้ายทะเบียนรถเอากับกรมขนส่งทางบกเอง ซึ่งปกติ จยย. จะแปะแผ่นป้ายเอาไว้ด้านหลังเพียงแผ่นเดียว นั่นแสดงว่าเราต้องถ่ายรูปจากด้านหลังเท่านั้น แต่นั่นก็เป็นข้อได้เปรียบของเราในฐานะคน (แอบ) ถ่ายเหมือนกัน เพราะคนขี่ จยย. น่าจะไม่ทันสังเกตว่าเรากำลังถ่ายรูปอยู่

แต่ถ้า จยย. คันนั้นไม่มีป้ายทะเบียนล่ะ?… อันนี้ก็คงต้องทำใจเพราะคงจะตามตัวได้ยาก แต่ก็ไม่ต้องไปคิดมากเพราะ จยย. คันนั้นก็จะไปผิด พ.ร.บ. จราจรทางบก แทน ซึ่งถ้าตำรวจจราจรพบเห็นพอดีก็จะโดนจัดหนักกันไป

2. รายละเอียด

ถ้าต้องการรางวัลนำจับ จะต้องแจ้งรายละเอียดของตัวเองต่อไปนี้ด้วย

  • ชื่อ-นามสกุล
  • เลขประจำตัวประชาชน
  • ที่อยู่
  • หมายเลขโทรศัพท์
  • เบาะแสการกระทำความผิดที่พบ/วันที่/เวลา/สถานที่

ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ขอจากเราอาจจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจเพราะดูจะตามตัวเราง่ายกว่าตามตัวผู้กระทำความผิด แต่ทาง กทม. ยืนยันว่าข้อมูลของเราที่แจ้งไว้ ทาง กทม.จะปกปิดเป็นความลับ ซึ่งผมก็เขียนรายละเอียดส่งไปครบถ้วนเลย

หลักเกณฑ์การได้รางวัล?

คุณจะได้รับรางวัลเป็นเงิน 50% จากค่าปรับที่ผู้กระทำความผิดถูกปรับตามมาตรา 48 วรรคสามของ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ มาถึงตรงนี้บางคนคาดหวังว่าจะได้เงินรางวัลครั้งละ 2,500 บาท (50% ของโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท) คือเรียกได้ว่ากะตั้งตัวได้กันเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่จะปรับในอัตราโทษ 500-1,000 บาท ทำให้รางวัลที่เราจะได้รับน่าอยู่ราวๆ 250-500 บาทมากกว่า

นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจด้วยไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะเรียกค่าปรับเมื่อพบการกระทำความผิดทุกครั้งเสมอไป บางทีเจ้าหน้าที่อาจจะแค่เรียกมาตักเตือนเฉยๆ โดยไม่มีการปรับ ในส่วนนี้เราก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งแต่อย่างใด

แต่ถ้าสุดท้ายมีการปรับเกิดขึ้นจริงและมีการชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจจะติดต่อกลับมาหาเป็นจดหมายแจ้งให้มารับค่าปรับส่งไปตามที่อยู่ที่เราแจ้งไว้ ซึ่งจดหมายฉบับนี้ต้องใช้เป็นหลักฐานสำหรับขึ้นรางวัลด้วย

โดยสถานที่รับรางวัลคือสำนักงานเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ขั้นตอนการเซ็นเอกสารเพื่อรับเงินรางวัลจะมีการประทับลายนิ้วมือด้วย เตรียมนิ้วเลอะหมึกตราม้าได้เลย

แจ้งจับ มอไซค์ วิ่งบนทางเท้า

แจ้งจับ มอไซค์ วิ่งบนทางเท้า

ถ้าได้รับการติดต่อให้ไปรับรางวัลล่ะ?

การรับรางวัลต้องรีบไปรับภายใน 60 วันนับแต่วันที่ทางเขตส่งหนังสือฯ ถ้าพ้น 60 วันไปแล้วจะถือว่าคุณสละสิทธิขอรับส่วนแบ่งค่าปรับแล้วเงินรางวัลส่วนนี้จะกลายรายได้ของ กทม. แทน

เงินรางวัลนี้ต้องเสียภาษีมั้ย?

ประมวลรัษฎากร มาตรา 42(11) ยกเว้นภาษีให้กับสินบนรางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิด ดังนั้น เงินที่ได้มาก้อนนี้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด เย่!

สรุปส่งท้าย แชร์ประสบการณ์ส่วนตัว

ผมลองแจ้งเคสทาง LINE ไปครั้งแรกเมื่อ 18 ส.ค. ช่วงเช้า และได้รับการตอบรับจากเจ้าหน้าที่ทาง LINE ตอนเที่ยงในวันเดียวกัน และหลังจากส่งเรื่องไปได้ 1 วัน ก็มีเจ้าหน้าที่เทศกิจเจ้าของพื้นที่ติดต่อมาทาง LINE เพื่อขอรูปถ่ายชัดๆ อีกครั้งซึ่งการสื่อสารก็ผ่านไปด้วยความราบรื่น

เคสของผมแจ้งไปทั้งหมด 4 ราย แต่ได้รับรางวัลมา 1 ราย เป็นเงิน 250 บาท (จากค่าปรับ 500 บาท) ผมแจ้งไปตั้งแต่ 18 ส.ค. ได้รับจดหมาย 20 พ.ย. ใช้เวลาราวๆ 3 เดือน โดยระหว่าง 3 เดือนนี้ผมไม่ได้แจ้งเคสเพิ่มเลย เพราะอยากรู้ว่า กทม. จะดำเนินการกับการร้องเรียนของประชาชนอย่างไรบ้าง และสุดท้ายก็มีการดำเนินการจริงๆ แม้จะใช้เวลานานไปเสียหน่อยก็ต่อเรียกได้ว่ามีการดำเนินการจริง ร้องเรียนทาง LINE ได้จริง ได้เงินรางวัลจริง และที่สำคัญที่สุดคือ เงินรางวัลได้รับยกเว้นภาษีจริง!

แน่นอนว่าเป้าหมายของผมจากกรณีศึกษานี้คงไม่ใช่หวังจะตั้งตัวได้หรือสร้างธุรกิจใหม่จากช่องทางนี้ (แม้ว่าเมื่อคำนวณตัวเลขแล้วจำนวนเงินที่จะได้รับน่าสนใจมากๆ ก็ตาม แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก) เพียงแค่อยากทวงคืนทางเท้าสำหรับคนเดินถนนเท่านั้น แต่สำหรับบทสรุปของเรื่องนี้ ผมขอมอบให้เป็นบทสนทนาที่สวยงามที่สุดของเจ้าหน้าที่เทศกิจในภาพสุดท้ายนี้แล้วกันครับ

แจ้งจับ มอไซค์ วิ่งบนทางเท้า

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)