ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติให้ ต่ออายุอัตรา VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566 โดยจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
- สรุปประเด็นจำคุกตลอดชีวิต สาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร คดีโกง VAT 3 พันล้าน
- ภาษี e-Service สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ
24 สิงหาคม 2564 – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ต่ออายุอัตรา VAT (การปรับลดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในอัตรา 7% ตามเดิมต่อไปอีก 2 ปีรวด ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่อัตรา 7% นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการคำนวณรายได้ในปีงบประมาณ 2565 – 2566 เนื่องจากใช้ฐานในการคำนวณรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% อยู่แล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)) โดยให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2566 พร้อมทั้งรับทราบมาตรการภาษีบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการไปควบคู่กัน เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนและผู้ประกอบการและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)”
รู้จักภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือ ภาษีประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้า ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% จากผู้บริโภค แล้วนำส่งให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บอีกที
การ ต่ออายุอัตรา VAT และที่มาของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
ที่จริงแล้วประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้กำหนดให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหลือ 7% อย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี จนทำให้ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยกับอัตรา 7% มากกว่า 10%
อย่างไรก็ดี ในการประกาศพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น โดยปกติ กฎหมายจะระบุว่าลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 6.3% เท่านั้น เนื่องจากเมื่อเวลาจัดเก็บภาษีจริงจะต้องเรียกเก็บภาษีท้องถิ่นอีก 0.7% จึงทำให้ท้ายที่สุดผู้บริโภคจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ในอัตราคงที่ 7% (คำนวณมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่นอีก 0.7%)
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มียอดขายทั้งปีเกิน ฿1,800,000 (เฉลี่ยเดือนละ ฿150,000) โดยทั่วไปจะถูกบังคับให้จดทะเบียน VAT ตามกฎหมายภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกิน ฿1,800,000 แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้น ก็จะไม่ต้องเสีย VAT((มาตรา 81/2 ประมวลรัษฎากร)) เช่น ขายเนื้อสัตว์ ผักสด หนังสือ เป็นต้น
โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย