ครม. อนุมัติ ‘ช้อปดีมีคืน 65’ เริ่มปีหน้า ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำหรับปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่) อื่นๆ รวม 6 มาตรการ
21 ธันวาคม 2564 – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สำหรับปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่) จำนวน 6 มาตรการ โดยสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน 65’
มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน 65’ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี และผู้ประกอบกิจการการผลิตสินค้าท้องถิ่น (OTOP) โดยให้นำค่าซื้อสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2565 มาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี ค่าซื้อสินค้าดังกล่าวไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม >> ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน 2565
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของมาตรการช้อปดีมีคืน 65 คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยรัฐบาลคาดว่ามาตรการช้อปดีมีคืน 65 จะส่งผลกระทบให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้น้อยลง 6,200 ล้านบาท แต่คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 42,000 ล้านบาท ส่งผลให้ขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ 0.12% และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากขึ้น
2. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ 65
มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565 ให้แก่ผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และต้องการขออนุญาตขายต่อเนื่องในปีถัดไป
รัฐบาลประเมินว่าจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์ราว 800,000 ราย คิดเป็นใบอนุญาตจำนวน 1.4 ล้านใบ โดยคาดว่าจะกระทบต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงราว 380 ล้านบาท
3. มาตรการขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน
มาตรการขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน อัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาท/ลิตร ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน เพื่อให้สามารถฟื้นฟูและกลับมาดำเนินธุรกิจได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 ธุรกิจสายการบินจะกลับมาดำเนินกิจการได้ราว 50% ของปี 2562 ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้รายได้ของรัฐลดลงราว 860 ล้านบาท
4. มาตรการขยายระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย
มาตรการขยายระยะเวลา การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระที่ต้องการมีอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยลดค่าจดทะเบียนการโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ออกไปอีก 1 ปี ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565
คาดว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สูญเสียรายได้ 4,946 ล้านบาท
5. มาตราการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน
มาตราการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน จะได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จะขยายออกไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 แทน
ซึ่งคาดว่ามาตรการด้านภาษี จะทำให้รายได้ของรัฐลดลงราว 7,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่มาตรการค่าธรรมเนียมจะทำให้รายได้ของรัฐลดลงราว 835 ล้านบาท
6. โครงการของขวัญปีใหม่ ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
โครงการของขวัญปีใหม่ ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการโดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง และเป็นทุนหมุนเวียน เช่น
- การคืนเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ที่มีประวัติการชำระดี
- รางวัลพิเศษสำหรับลูกค้าออมสิน
- การยกเว้นค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา
- ส่วนลด ค่าบริการ และค่างวด สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 25,000 ล้านบาท การคืนเงินและรางวัลพิเศษรวม 1,335 ล้านบาท การลดอัตราดอกเบี้ยรวม 4,700 ล้านบาท ส่วนลดค่าบริการและส่วนลดค่างวดสูงสุดรวม 7.43 ล้านบาท