รมว.คลัง เผย ช้อปดีมีคืน 2564 ส่อแววกลับมาอีกครั้ง ธันวาคม 2564 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เล็งขยายเวลา คนละครึ่ง เพิ่มเติมด้วย
- เยียวยานายจ้าง 3 เดือน ครม.เห็นชอบ เริ่ม พ.ย. 64 – ม.ค. 65
- แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี 11 ต.ค. 2564 (ฉบับเต็ม) พร้อมสรุป
13 ตุลาคม 2564 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการใช้จ่าย ขณะนี้มีมาตรการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้มีเม็ดเงินสะพัดมากขึ้น ในช่วงต้นไตรมาส 4 ส่วนมาตรการอื่นที่จะออกมาเพิ่มเติมให้รอดูสัปดาห์หน้า
คลังเตรียมเข็น ‘ช้อปดีมีคืน 2564’ กลับมาธันวานี้
รมว.คลังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2564 ไปจนถึงช่วงต้นปี 2565 โดยจะมีมาตรการที่เน้นกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นความชัดเจนในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ทั้งรูปแบบและวงเงินที่จะให้สำหรับการลดหย่อนภาษี ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์โควิดหลังจากคลายล็อกดาวน์
สำหรับมาตรการที่จะนำมาใช้ เช่น ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนซึ่งภาคเอกชนได้เรียกร้องให้นำกลับมา น่าจะออกมาประมาณช่วงเดือนธันวาคม 2564 โดยครั้งนี้อาจจะไม่กำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ต้องเลือกใช้ระหว่างมาตรการช้อปดีมีคืนกับมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เสียภาษีจำนวน 4 ล้านคนสามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้ง 2 โครงการ ซึ่งกระทรวงการคลังเชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีสามารถเข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
เล็งขยายเวลา ‘คนละครึ่ง’ ออกไปอีก
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ออกไปอีก จากเดิมที่โครงการนี้จะสิ้นสุดลงตอนสิ้นปี 2564 โดยขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาในรายละเอียด
พิจารณาต่ออายุค่าธรรมเนียมโอนค่าจดจำนอง 0.01% ต่อไปอีกปีด้วย
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการให้ขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอนค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ไปอีก 1 ปีจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2564 นี้ กระทรวงการคลังก็ไม่ขัดข้องเช่นกัน รวมถึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ขยายเพดานราคาบ้านเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท จากเดิมให้แค่ 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังต้องหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง เนื่องจากค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะมีผลกระทบต่อรายได้ท้องถิ่น นอกจากนี้ นายอาคมยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานไปคิดมาตรการที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ เพื่อบรรเทาภาระประชาชน ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนปลายเดือนพฤศจิกายน 2564เช่นเดียวกัน โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐน่าจะออกแพ็กเกจเป็นมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ เช่น ชำระดีมีคืน เป็นต้น
สศช. เตรียมทำแผนใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.หารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ โดยกระทรวงการคลังกำลังทำรายละเอียดมาตรการกลับมาเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ให้เร็วที่สุด ซึ่งเม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพียงพอในการรองรับมาตรการดังกล่าว
โดย ข้อมูล ณ วันที่ 11 ต.ค. 64 วงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท คงเหลือ 355,832 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนกรอบวงเงิน 170,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเตรียมไว้จัดทำกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟี้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นวงเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนเสนอโครงการเพื่อฟี้นฟูเศรษฐกิจเข้ามาได้
“การพิจารณาโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 เริ่มประมาณ ต.ค. 2564 กรอบวงเงิน 100,000-120,000 ล้านบาท และรอบที่ 2 จะเริ่ม มี.ค. 2565 กรอบวงเงินประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท เป็นต้น” เลขาธิการ สศช. กล่าวทิ้งท้าย