จูงใจหัวกะทิกลับไทย ลดภาษีบุคคลธรรมดา เหลือ 17%

ข่าวภาษี

ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีจูงใจให้คนไทยที่มีศักยภาพสูงในต่างประเทศกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดย ลดภาษีบุคคลธรรมดา แบบเหมาเหลือ 17% ส่วนนายจ้างหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า

30 กรกฎาคม 2567 – นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อดึงดูดคนไทยในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวขาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหัวกะทิและนายจ้างไทย

สาระสำคัญของมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. กรณีลูกจ้าง ลดภาษีบุคคลธรรมดา 17%

สำหรับลูกจ้างตามคุณสมบัติที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่า 17% ให้ลดเหลือ 17% ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2572

2. กรณีนายจ้าง หักค่าใช้จ่ายเพิ่มได้เป็น 1.5 เท่า

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างตามคุณสมบัติ ระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ครั้งนี้ จะมีผลใช้บังคับ 5 ปี นับตั้งแต่มีการประกาศ ซึ่งคาดว่ามาตรการจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 นี้

คุณสมบัติของลูกจ้างตามมาตรการดึงดูดหัวกะทิกลับไทย

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  2. มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
  3. ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  4. กลับเข้าไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2568
  5. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
  6. ไม่เคยทำงานในไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
  7. ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าอยู่ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
  8. ในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น ต้องอยู่ไทยรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

ต้องได้เงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะคุ้มกับอัตราภาษี 17%?

หากในปี 2567 บุคคลธรรมดามีเงินเดือนเดือนละ 183,141.03 บาท (รวมทั้งปี 2,197,692.36 บาท) และมีค่าลดหย่อนเพียง 2 รายการ ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนเงินประกันสังคม 9,000 บาท จะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ 373,607.69 บาท คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้ตลอดทั้งปี ((ค่าภาษี 373,607.69 ÷ รายได้ทั้งปี 2,197,692.36) × 100)

ดังนั้น หากบุคคลธรรมดามีเงินเดือนมากกว่าเดือนละ 183,141.03 บาท การถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 17% เป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด (Final tax) ย่อมช่วยให้ประหยัดภาษีมากกว่าตามมาตรการดึงดูดคนไทยในต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงและมีความเชี่ยวขาญในสาขาตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย

 

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)