มาตรการค่าลดหย่อนภาษี ประจำปี 2562 ที่หลายคนกำลังรอคอย จะมีค่าลดหย่อนอะไรเพิ่มมา และมีเงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต่างไปจากเดิมแค่ไหน iTAX อัปเดตมาให้แล้ว
ค่าลดหย่อนภาษี คือ
ค่าลดหย่อนภาษี หรือ สิทธิลดหย่อนภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่นอกจากจะช่วยให้ผู้เสียภาษีจ่ายภาษีน้อยลงแล้ว ในบางครั้งอาจมีส่วนทำให้ ผู้เสียภาษีมีสิทธิ์รับเงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นด้วย (เพิ่มเติมที่ ค่าลดหย่อน)
รายละเอียด ค่าลดหย่อนภาษี ปี 2562
มาตรการลดหย่อนภาษีปี 2562 นี้ เป็นมาตรการทางภาษีที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) อาทิ
1. มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
มาตรการภาษีนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลายๆ คนอาจจะคุ้นกับมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเมืองรองที่เคยมีมาแล้วในปี 2561 แน่นอนว่า การกลับมาของมาตรการนี้ไม่ได้มีแค่การสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองอีกต่อไป แต่การท่องเที่ยวเมืองหลักก็สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดย
- การท่องเที่ยวในเมืองหลัก สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
- การท่องเที่ยวในเมืองรอง สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
เงื่อนไขมาตรการเที่ยวลดหย่อนภาษี
- ต้องเป็นค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
- สามารถใช้ได้สำหรับการเข้าพักทั้งโรงแรม โฮมสเตย์ไทย แต่จะต้องเป็นที่พักที่ได้รับการรับรองจากกรมการท่องเที่ยว (เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย)
- สามารถใช้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองรวมกันได้ แต่จะต้องไม่เกิน 20,000 บาท
- ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จ และใบกำกับภาษี
- ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 344 ปี พ.ศ. 2562
2. มาตรการซื้อสินค้าการศึกษา และอุปกรณ์กีฬา ลดหย่อนภาษี
มาตรการซื้อสินค้าการศึกษาและอุปกรณ์กีฬาลดหย่อนภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่า
- ต้องซื้อสินค้าการศึกษาและกีฬา จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่านั้น
- ต้องมีใบกำกับภาษี (ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร)
- ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 345 ปี พ.ศ. 2562
3. ซื้อสินค้า OTOP ลดหย่อนภาษี
ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า OTOP สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และมีเงื่อนไขว่า
- จะต้องซื้อสินค้า OTOP จากร้านค้าที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน เท่านั้น
- ต้องใช้ใบเสร็จ หรือ ใบกำกับภาษี
- ต้องซื้อสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 346 (พ.ศ. 2562)
4. ซื้อหนังสือ / e – Book ลดหย่อนภาษีได้
นักอ่านหลายคนน่าจะถูกใจกับมาตรการลดหย่อนภาษีนี้ เพราะไม่ว่าคุณจะชอบอ่านหนังสือแบบเล่ม หรือ e – Book ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือมาลดหย่อนภาษีได้ โดยมีเงื่อนไขว่า
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือสามารถลดหย่อนภาษีได้ รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท (ใช้ได้ทั้งหนังสือเล่ม และ e – Book)
- ต้องเป็นเงินที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือ นิติบุคคลอื่น
- ต้องใช้ใบเสร็จ หรือ ใบกำกับภาษีเพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี
- ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2562
- สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิ ช้อปช่วยชาติ 1 – 16 มกราคม 2562 จะต้องนำมารวมด้วย และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 347 ปี พ.ศ. 2562
5. ซื้อบ้าน หรือ คอนโด ลดหย่อนภาษีได้
มาตรการนี้น่าจะถูกใจคนที่กำลังมองหาบ้านหรือคอนโด เพราะรัฐบาลต้องการที่จะส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษี และมีเงื่อนไขว่า
- สามารถซื้อบ้านหรือคอนโดมือไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นบ้านหลังแรกของผู้เสียภาษี
- จะต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุด (คอนโด) ที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง (ไม่รวมดอกเบี้ย) แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 200,000 บาท
- ต้องใช้หลักฐานการซื้อ (หลักฐานการโอน)
- ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่โอนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 348 (พ.ศ. 2562)
6. มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนภาษีอิเล็กทรอนิกส์
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
- เครื่องบันทึกการเก็บเงินและ POS (Point Of Sale) ที่เชื่อมโยงการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
- การพัฒนาระบบหรือค่าบริการที่เกี่ยวกับ e – TAX Invoice & e – Receipt
- การพัฒนาระบบหรือค่าบริการ e – Withholding TAX
- คำนวณจากค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
- ต้องใช้ใบเสร็จ หรือ ใบกำกับภาษีเป็นหลักฐาน