คำนวณภาษีคริปโท สำหรับบุคคลทั่วไป

วิเคราะห์

คำนวณภาษีคริปโท จากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี่ และ โทเคนดิจิทัลต่างๆ เช่น บิตคอยน์ หากมีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปี ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ต่างจากเงินได้ประเภทอื่นๆ คู่มือฉบับนี้ของ iTAX จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยอธิบายวิธี คำนวณภาษีคริปโท ให้ผู้เสียภาษีอย่างเราสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้เสียภาษีได้อย่างครบถ้วน และทำหน้าที่ผู้เสียภาษีได้อย่างสมบูรณ์ โดยอ้างอิงตามกฎหมายปัจจุบัน ประกอบกับเนื้อหาในคําแนะนําการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (มี.ค. 2565) ของกรมสรรพากร โดยทีมงาน iTAX จะทยอยเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด

การรับรู้เป็นเงินได้เพื่อ คำนวณภาษีคริปโท

การเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี่หรือโทเคนดิจิทัลที่ถืออยู่ไปเป็นเงินสด สินค้า บริการ หรือแม้แต่เปลี่ยนเป็นเหรียญคริปโทสกุลอื่นใดๆ รวมถึง Stable coin เช่น USDT จะต้องรับรู้เป็นเงินได้ ณ วันและเวลาที่แลกเปลี่ยน แม้ว่าจะไม่มีการถอนเงินสดออกมาจาก Wallet หรือโอนเข้าบัญชีธนาคารเลยก็ตาม โดยสรุปเป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีคริปโทได้ดังนี้

กิจกรรมที่ต้องเสีย “ภาษีคริปโท”

ลักษณะของกิจกรรม รับรู้เป็นเงินได้เมื่อใด? ใช้ยอดใดมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี?
1. ขายคริปโทเป็นเงินสด (fiat) ณ วันและเวลาที่ขายคริปโทเป็นเงิน กำไรส่วนเกินทุนของเหรียญที่ขาย
2. แลกเหรียญคริปโทสกุลเงินหนึ่งเป็นอีกสกุลหนึ่ง ณ วันและเวลาที่แลกคริปโทเป็นสกุลอื่น กำไรส่วนเกินทุนของเหรียญที่แลกเปลี่ยน
3. ใช้คริปโทซื้อสินค้า ณ วันและเวลาที่ชำระด้วยคริปโท กำไรส่วนเกินทุนของเหรียญที่ใช้ซื้อสินค้า
4. ใช้คริปโทจ่ายค่าบริการ ณ วันและเวลาที่ชำระด้วยคริปโท กำไรส่วนเกินทุนของเหรียญที่จ่ายเป็นค่าบริการ
5. รับชำระค่าสินค้า/บริการด้วยคริปโท ณ วันและเวลาที่ได้รับชำระค่าสินค้า/บริการ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับทั้งจำนวน
6. ได้คริปโทมาฟรีจาก Air Drop หรือได้เป็นรางวัล ณ วันและเวลาที่ได้รับ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับทั้งจำนวน
7. ได้คริปโทมาฟรีจากบุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน ณ วันและเวลาที่ได้รับ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับ เฉพาะกรณีมูลค่าคริปโทส่วนเกิน 20 ล้านบาท
8. ได้คริปโทมาฟรีจากญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก ณ วันและเวลาที่ได้รับ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับ เฉพาะกรณีมูลค่าคริปโทส่วนเกิน 10 ล้านบาท
9. ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือ token เช่น rewards เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร ณ วันและเวลาที่ได้รับ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับทั้งจำนวน
10. นำคริปโทไป stake แล้วได้ reward เป็นเหรียญคริปโทเพิ่มจาก defi รูปแบบต่างๆ เช่น Yield Farming หรือ Staking ณ วันและเวลาที่ได้รับ มูลค่าของคริปโทที่ได้รับทั้งจำนวน
11. ขุดคริปโท (Mining) เมื่อนำเหรียญที่ได้รับจากขุดไปขาย (ตอนขุดได้เหรียญมายังไม่ต้องเสียภาษีจนกว่าจะขายเหรียญนั้นที่ได้มา) กำไรส่วนเกินทุนของเหรียญที่ขาย
12. ขาย NFT ณ วันและเวลาที่ขาย NFT เป็นเงิน หรือแลกเปลี่ยน NFT เป็นเหรียญอื่น

กรณี trader: กำไรส่วนเกินทุนของ NFT ที่ขาย

กรณีผู้สร้างสรรค์: เงินหรือมูลค่าของคริปโทที่ได้รับ โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้

13. ผลประโยชน์ที่ได้รับจาก Game-Fi ณ วันและเวลาที่ได้รับ

มูลค่าของคริปโทที่ได้รับทั้งจำนวน

ข้อสังเกต

  • หากผู้เสียภาษีมีหลาย Wallet จึงโอนเหรียญคริปโทจาก Wallet นึงไปอีก Wallet นึงที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด
  • กรณีขุดคริปโท (Mining) ขณะที่ขุดได้เหรียญมาจะยังไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรจะพิจารณาว่าเป็นเงินได้เมื่อขายเหรียญที่ได้มาจากการขุดเท่านั้น
  • กรมสรรพากรกำหนดให้ประเมินมูลค่าเหรียญคริปโทตามมูลค่า ณ เวลาที่ได้มา (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทําขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. เป็นต้น
  • กรณีที่มีการซื้อขายเหรียญในต่างประเทศเป็นเงินตราสกุลอื่น เมื่อถึงเวลาต้องยื่นภาษีให้แปลงเป็นสกุลเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในแต่ละวัน (อัตราซื้อหรืออัตราขาย) หรืออัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ยหรืออัตราขายถัวเฉลี่ย) ก็ได้

หลักการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีคริปโท

การคำนวณกำไรจะคำนวณเป็น “รายธุรกรรม” ทุกครั้งที่ขายหรือแลกเปลี่ยนโดยคำนวณจาก

ราคาขาย – ต้นทุน ของแต่ละธุรกรรม = กำไรเพื่อเสียภาษีคริปโท”

ดังนั้น ผู้เสียภาษีจึงจำเป็นต้องเข้าใจวิธีคิดต้นทุน และราคาขาย ของแต่ละธุรกรรมเพื่อให้สามารถคำนวณภาษีคริปโทได้อย่างถูกต้อง

วิธีคิดต้นทุน สำหรับ คำนวณภาษีคริปโท

กรมสรรพากรยอมให้คิดต้นทุนโดยนำค่าซื้อรวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อ ค่าธรรมเนียมขาย และค่าโอน เป็นต้น มารวมเป็นต้นทุนได้ด้วย โดยราคาทุนนั้นจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกันตามแต่วิธีที่ได้มา ซึ่งสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

วิธีการที่ได้เหรียญคริปโท ฐานสำหรับคำนวณต้นทุนของเหรียญเมื่อขาย
ซื้อด้วยเงินสด (fiat) มูลค่าของเหรียญขณะที่ซื้อมา
แลกด้วยเหรียญคริปโท มูลค่าของเหรียญขณะที่แลกมา
นำสินค้าหรือบริการไปแลกเหรียญมา มูลค่าของเหรียญขณะที่ได้มา
ได้จาก Defi เช่น Yield Farming หรือ Staking มูลค่าของเหรียญขณะที่ได้มา
ได้ฟรีจาก Air Drop หรือได้เป็นรางวัล มูลค่าของเหรียญขณะที่ได้มา
ได้ฟรีจากการให้เปล่าโดยเสน่หาโดยคนรู้จัก ถือว่าไม่มีต้นทุน หรือให้ใช้ต้นทุนเดิมของผู้รับหากพิสูจน์ได้ 
ได้จากการขุด (mining) ต้นทุนการขุดรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต โดยให้เฉลี่ยตามจำนวนเหรียญที่ขุดได้

ข้อสังเกต

  • ค่าซื้อที่จะนำมาใช้เป็นต้นทุนให้คำนวณเป็นเงินบาท ณ ขณะที่ขายหรือแลกเปลี่ยนนั้น (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทําขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. เป็นต้น

การเลือกวิธีคำนวณต้นทุน

กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องเลือกวิธีคำนวณต้นทุนสำหรับคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีในแต่ละปี ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  1. ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO)
  2. ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)

ทั้งนี้ หากปีภาษีนั้นเลือกวิธีคำนวณต้นทุนแบบใด ต้องใช้แบบนั้นตลอดทั้งปี แต่ถ้าขึ้นปีภาษีใหม่ จะสามารถเลือกใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเดิมหรือเปลี่ยนวิธีใหม่ก็ได้

1. ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO)

ต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน หรือ first-in, first-out (FIFO) หมายความว่า กรณีได้เหรียญคริปโทสกุลเดียวกันมาหลายครั้ง เมื่อมีการขายออกไปจะให้ถือว่านำเหรียญคริปโทที่ได้มาก่อน (first-in) เป็นกลุ่มที่ถูกขายออกไปก่อน (first-out) เสมอ จึงให้ใช้ราคาต้นทุนของเหรียญที่ได้มาช่วงแรกสุดที่เหลืออยู่สำหรับคำนวณเป็นต้นทุน

เช่น สมมติว่าซื้อ BTC มา 3 ครั้ง ในราคาต่อไปนี้

  • ครั้งแรก: ซื้อ 1 BTC ราคา 100,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
  • ครั้งที่สอง: ซื้อ 1  BTC ราคา 300,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
  • ครั้งที่สุดท้าย: ซื้อ 1 BTC ราคา 200,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)

รวม ตอนนี้ถือ 3 BTC แล้วต่อมาตัดสินใจขาย BTC จำนวน 1 BTC ในราคา 400,000 บาท โดยขณะขายจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมขาย 4,000 บาท

หากใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO) ราคาต้นทุน BTC ที่จะใช้คือราคาที่ซื้อ BTC ครั้งแรกเป็นเงิน 100,000 บาท บวกค่าธรรมเนียมขาย 4,000 บาท รวมเป็นต้นทุน 104,000 บาท

เมื่อขาย 1 BTC ในราคา 400,000 บาท โดยเลือกขาย BTC ที่ซื้อมาครั้งแรกออกไปก่อน จึงทำให้มีกำไร 296,000 เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป (ราคาขาย 400,000 – (ราคาต้นทุนแบบ FIFO 100,000 + ค่าธรรมเนียมขาย 4,000) )

2. ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)

ต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ หมายความว่า กรณีได้เหรียญคริปโทสกุลเดียวกันมาหลายครั้ง ให้นำต้นทุนมาถัวเฉลี่ยใหม่ทุกครั้งเพื่อคำนวณเป็นต้นทุนสำหรับเหรียญคริปโทสกุลนั้นที่ตัวเองมีทั้งหมด

เช่น สมมติว่าซื้อ BTC มา 3 ครั้ง ในราคาต่อไปนี้

  • ครั้งแรก: ซื้อ 1 BTC ราคา 100,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
  • ครั้งที่สอง: ซื้อ 1  BTC ราคา 300,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
  • ครั้งที่สุดท้าย: ซื้อ 1 BTC ราคา 200,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)

รวม ตอนนี้ถือ 3 BTC ต่อมาตัดสินใจขาย BTC จำนวน 1 BTC ในราคา 400,000 บาท โดยขณะขายจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมขาย 4,000 บาท

หากใช้วิธีคำนวณต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) ราคาต้นทุน BTC ที่จะใช้คือราคาถัวเฉลี่ยของ BTC ที่ซื้อมาทั้ง 3 ครั้ง จำนวน 3 BTC เป็นเงิน 600,000 บาท เมื่อตัดสินใจขายจำนวน 1 BTC จึงคิดต้นทุนของ 1 BTC แบบถัวเฉลี่ยได้ 200,000 บาท (ราคาทุน 600,000 บาท ÷ 3 BTC) บวกค่าธรรมเนียมขาย 4,000 บาท รวมเป็นต้นทุน 204,000 บาท

เมื่อขาย 1 BTC ในราคา 400,000 บาท จึงทำให้มีกำไร 196,000 เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป (ราคาขาย 400,000 – (ราคาต้นทุนถัวเฉลี่ยฯ 200,000 + ค่าธรรมเนียมขาย 4,000) ) และมี BTC คงเหลือจำนวน 2 BTC ซึ่งมีต้นทุนถัวเฉลี่ย 1 BTC = 200,000 บาท จึงคิดเป็นต้นทุนรวมของ 2 BTC = 400,000 บาท

ต่อมา ซื้อเพิ่ม 1 BTC ราคา 350,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว) จึงคำนวณต้นทุนถัวเฉลี่ยใหม่อีกครั้งได้ดังนี้

  • คงเหลือ: 2 BTC ต้นทุนถัวเฉลี่ยรวม 400,000 บาท
  • ซื้อเพิ่ม 1  BTC ราคา 350,000 บาท

รวม ตอนนี้ถือ 3 BTC ทำให้ต้นทุนถัวเฉลี่ยใหม่ กลายเป็น 1 BTC = 250,000 บาท ( [ต้นทุน 400,000 + 350,000] ÷ 3 BTC)

ข้อสังเกต

  • หากมีเหรียญคริปโทที่คงเหลือ ณ วันสิ้นปี ให้นำมูลค่าต้นทุนของเหรียญคริปโทที่คงเหลือเหล่านั้นยกไปใช้เป็นต้นทุนสำหรับคำนวณภาษีในปีต่อๆ ไป เช่น ซื้อ 1 BTC มาในราคา 100,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว) หากปีนี้ยังไม่ได้ขายออกไป เมื่อขึ้นปีถัดไป 1 BTC ดังกล่าวก็ยังคงมีต้นทุน 100,000 บาท เท่าเดิม

วิธีคิดราคาขาย สำหรับ คำนวณภาษีคริปโท

ราคาขายจะคิดจากราคาที่คำนวณได้เป็นเงินบาท ณ ขณะที่ขายหรือแลกเปลี่ยนนั้น (spot rate) หรือ หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทําขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเป็นธุรกรรมแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโทที่มีอยู่เป็นสินค้า บริการ ทรัพย์สิน หรือเหรียญคริปโทอื่น ก็ให้จัดว่าเป็นการขายด้วย จึงให้นำมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ได้รับแลกเปลี่ยนนั้นมาใช้คำนวณเป็นราคาขาย

วิธีการที่ขาย/จำหน่าย/โอนเหรียญคริปโท ราคาขายที่ใช้สำหรับคำนวณกำไร
ขายเป็นเงินสด (fiat) มูลค่าของเหรียญขณะที่ขายไป
แลกกับเหรียญคริปโท มูลค่าของเหรียญที่แลกมา
แลกกับสินค้าหรือบริการ มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ได้รับ
ให้เปล่าโดยเสน่หาแก่คนรู้จักโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีเงินได้

คำนวณกำไรกรณีซื้อขายใน Exchange ไทย สามารถขาดทุนหักออกจากกำไรระหว่างปีได้

กำไรคิดเป็น “รายธุรกรรม” และสามารถนำผลขาดทุนระหว่างปีมาหักออกจากกำไรระหว่างปีได้ ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีจะได้รับก็ต่อเมื่อได้ทำธุรกรรมผ่าน Exchange ในกำกับของ กลต. เท่านั้น (ข้อ 2 (104) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126)

เช่น ธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีสามารถนำผลขาดทุน 100 บาทจากธุรกรรมที่สองมาหักออกจากกำไร 100 บาทของธุรกรรมแรกได้

ตัวอย่าง

ซื้อ BTC มา 100,000 บาท แล้วขาย BTC ในกระดานเทรดทั้งหมดเป็นเงิน 150,000 บาท ได้กำไรเป็นเงินบาท 50,000 บาทแล้ว แม้จะยังเก็บเอาไว้ในกระดานอยู่ ก็เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี

ต่อมา นำเงิน 150,000 บาทก้อนเดิมนั้นไปซื้อ BTC อีกครั้ง แต่พบว่ามูลค่าลดลงเหลือ 100,000 บาท จึงขายออกมาเป็นเงินสดทำให้ขาดทุน 50,000 บาท

จากตัวอย่างข้างต้น ธุรกรรมแรกมีกำไร 50,000 บาท และธุรกรรมที่สองขาดทุน 50,000 บาท เมื่อทั้ง 2 ธุรกรรมจะเกิดขึ้นภายในปีเดียวกัน จึงสามารถนำผลขาดทุน 50,000 บาทของธุรกรรมที่สองมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้ ทำให้สุดท้ายไม่เหลือกำไรที่ต้องนำมาเสียภาษี

ข้อสังเกต

  • แม้จะขาดทุนจากเหรียญสกุลหนึ่ง ก็สามารถนำผลขาดทุนจากเหรียญสกุลนั้นมาหักลบออกจากกำไรของอีกเหรียญต่างสกุลได้ หากทำธุรกรรมผ่าน Exchange ในกำกับ กลต. เช่น หากขาดทุนจากการขาย BTC 10,000 บาท แต่กำไรจากการขาย ETH 15,000 บาท คุณสามารถนำผลขาดทุน BTC มาหักลบจากกำไรของ ETH ได้ ส่งผลให้ระหว่างปีมีกำไรที่ต้องเสียภาษีเพียง 5,000 บาท เท่านั้น (กำไร ETH 15,000 – ขาดทุน BTC 10,000)
  • กรณีมูลค่าเหรียญมีทศนิยมหลายตำแหน่ง เช่น DOGE ราคา 1.1234 บาท เมื่อคำนวณกำไรขาดทุนระหว่างปีจะคำนวณเป็นรายธุรกรรมโดยใช้ทศนิยมหลายตำแหน่งได้ แต่เมื่อคำนวณจนได้กำไรสุดท้ายมาเสียภาษีจึงค่อยนำกำไรสุดท้ายที่ปัดทศนิยมสองตำแหน่งแล้วมากรอกเพื่อเสียภาษี
  • ผลขาดทุนของปีปัจจุบันไม่สามารถยกยอดไปหักกลบไปในปีถัดไปได้

รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จาก กลต.

กลต. ได้ออกใบอนุญาตให้ Exchange ดังต่อไปนี้

  1. WAANX (บริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ จำกัด) – waanx.com
  2. GULF BINANCE (บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด) – binance.th/th
  3. TDX ​(บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด) – set.or.th/th/tdx/about
  4. INVX (บริษัท หลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด) – innovestx.co.th/about-us/company-profile
  5. Z.COMEX บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด – ​ex.z.com
  6. ​UPBIT ​(บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด) – th.up​bit.com
  7. ERX (​บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด) – ​er-x.io
  8. BITKUB (บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด) – bi​tkub.com
  9. ORBIX TRADE (บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด) – orbixtrade.com

ข้อสังเกต: กรณีซื้อขายนอก Exchange ไทย เช่น ซื้อขายบนกระดานต่างประเทศ หรือ P2P รวมถึงการขายผ่าน Broker, Dealer, Advisory Service, Fund Management ในไทย จะหักขาดทุนออกจากกำไรไม่ได้

กำไรคิดเป็น “รายธุรกรรม” แต่ไม่สามารถนำผลขาดทุนมาหักออกจากกำไรระหว่างปีได้

เช่น ธุรกรรมแรกมีกำไร 100 บาท ธุรกรรมที่สองขาดทุน 100 บาท ผู้เสียภาษีจะต้องนำกำไร 100 บาทจากธุรกรรมแรกมายื่นภาษี ส่วนธุรกรรมที่สองซึ่งขาดทุน 100 บาท ไม่สามารถนำมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้

ตัวอย่าง

ซื้อ BTC มา 100,000 บาท แล้วขาย BTC ในกระดานเทรดทั้งหมดเป็นเงิน 150,000 บาท ได้กำไรเป็นเงินบาท 50,000 บาทแล้ว แม้จะยังเก็บเอาไว้ในกระดานอยู่ ก็เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี

ต่อมา นำเงิน 150,000 บาทก้อนเดิมนั้นไปซื้อ BTC อีกครั้ง แต่พบว่ามูลค่าลดลงเหลือ 100,000 บาท จึงขายออกมาเป็นเงินสดทำให้ขาดทุน 50,000 บาท

จากตัวอย่างข้างต้น ธุรกรรมแรกมีกำไร 50,000 บาท และธุรกรรมที่สองขาดทุน 50,000 บาท แม้ทั้ง 2 ธุรกรรมจะเกิดขึ้นภายในปีเดียวกัน แต่กรมสรรพากรให้ตีความว่าให้เสียภาษีโดยคำนวณจากกำไรเป็น “รายธุรกรรม” เท่านั้น ดังนั้น ต้องนำกำไรจากธุรกรรมแรก 50,000 บาท ไปเสียภาษี โดยไม่สามารถนำผลขาดทุน 50,000 บาทของธุรกรรมที่สองมาหักกลบจากกำไรของธุรกรรมแรกได้

ข้อสังเกต: การคำนวณภาษีเฉพาะกำไรแยกเป็น ‘รายธุรกรรม’ โดยไม่นำผลขาดทุนมาหักลบนั้น เป็นมาตรฐานเดียวกับการเสียภาษีเมื่อขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ หากผู้เสียภาษีไม่ได้จดบันทึกไว้ ก็จำเป็นต้องกลับไปตรวจสอบเงินเข้าออกว่ารวมกำไรแล้วเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากกรมสรรพากรให้กรอกเป็นกำไรรวม ไม่จำเป็นต้องแยกแสดงกำไรเป็นรายธุรกรรม

ข้อสังเกต

  • การโอนคริปโทให้เพื่อนในจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีทั้งผู้ให้และผู้รับก็จริง แต่ทันทีที่เพื่อนขายคริปโทนั้นเป็นเงินสดหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้า/บริการ เพื่อนจะต้องเป็นผู้เสียภาษีจากมูลค่าที่ขายหรือแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน เพราะเพื่อนได้คริปโทมาโดยไม่มีต้นทุน

หลักฐานที่จำเป็นต้องใช้

กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องทำบัญชีเพื่อแสดงรายการผลกำไรและผลขาดทุนจากการซื้อขายเหรียญ รวมถึงจัดเตรียมเอกสารประกอบการลงรายการไว้เป็นหลักฐานเพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบได้ โดยให้มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ อ้างอิงตาม ประกาศอธิบดกีรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 424)

  1. ชื่อย่อของเหรียญ
  2. วันที่และเวลาที่โอนเหรียญ
  3. ประเภทรายการธุรกรรม
  4. ปริมาณเหรียญท่ีโอน
  5. ราคาเหรียญท่ีโอน
  6. มูลค่าเหรียญในหน่วยบาท
  7. ค่าธรรมเนียมการโอนเหรียญในหน่วยบาท
  8. ต้นทุนเหรียญ

การหักภาษี ณ ที่จ่าย

โดยหลักทั่วไป กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ซื้อคริปโต หรือผู้จ่ายผลประโยชน์ในรูปแบบเหรียญคริปโตมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% หากครบองค์ประกอบต่อไปนี้

  1. ทราบตัวผู้รับเงิน (ผู้ขาย) ว่าเป็นใคร
  2. ทราบจำนวนเงินที่แน่นอนว่าเป็นเงินได้ (หรือกำไร) ของผู้ขายเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรอนุโลมให้ผู้ซื้อไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น

เช่น หากซื้อขายบน Exchange โดยปกติผู้ซื้อจะไม่ทราบว่าผู้ขายอีกฝ่ายเป็นใคร อีกทั้งยังไม่ทราบว่าผู้ขายมีกำไรจากการขายเป็นเงินเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นการจับคู่ผ่านระบบของ Exchange โดยอัตโนมัติ

ดังนั้น ผู้ซื้อจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อชำระเงินให้ผู้ขาย

การคำนวณภาษีเงินได้แยกตามกิจกรรม

1. ขายคริปโทเป็นเงินสด (fiat)

การขายคริปโทเป็นเงินสด จะคำนวณเป็นเงินได้จาก “กำไร” ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) เพื่อเสียภาษีประจำปี โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล”

การคำนวณกำไรจะคิดเป็น “รายธุรกรรม” ทำให้เมื่อขายแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องทราบต้นทุนของเหรียญที่ขายเพื่อคำนวณกำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละธุรกรรม

ทั้งนี้ เมื่อเกิดธุรกรรมขายเหรียญเป็นเงินสด (fiat) แล้วพบว่าราคาขายสูงกว่าต้นทุนของเหรียญ ก็จะรับรู้กำไรดังกล่าวเป็นเงินได้ในปีนั้นทันที แม้ว่าจะยังไม่ได้โอนกำไรดังกล่าวออกมาใช้จ่ายก็ตาม

เช่น ซื้อ BTC มา 100,000 บาท แล้วขาย BTC ในกระดานเทรดทั้งหมดเป็นเงิน 150,000 บาท ได้กำไรเป็นเงินบาท 50,000 บาทแล้ว แม้จะยังเก็บเอาไว้ในกระดานอยู่ ก็เป็นกำไรที่ต้องเสียภาษี

ข้อสังเกต

  • หากใช้วิธีอ้างอิงราคา ณ ขณะที่ขาย สามารถอ้างอิงแบบ ณ เวลาที่แลกเปลี่ยน (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยของเหรียญที่แลกมา โดยอาศัยข้อมูลราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. ก็ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้ราคาอ้างอิงแบบ spot rate หรือราคาถัวเฉลี่ยแล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดทั้งปี
  • การขาย Stable coin เป็นเงินสด เช่น ขาย USDT เป็นเงินสด ก็เป็นธุรกรรมที่ทำให้ต้องคำนวณกำไรด้วยเช่นกัน โดยต้องคำนวณต้นทุนด้วยว่า USDT นั้นมีต้นทุนเท่าไหร่เมื่อให้สามารถคำนวณกำไรได้อย่างถูกต้อง

2. แลกเหรียญคริปโทสกุลเงินหนึ่งเป็นอีกสกุลหนึ่ง

การแลกเปลี่ยนคริปโทหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง เช่น ถือ BTC แล้วนำไปแลกกับ ETH ก็ต้องคำนวณเป็นเงินได้จาก “กำไร” ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) เพื่อเสียภาษีประจำปี โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล”

การคำนวณกำไรจะคิดเป็น “รายธุรกรรม” ทำให้เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องทราบ “ต้นทุนของเหรียญที่แลกไป (เช่น BTC)” และ “มูลค่าของเหรียญที่ได้แลกมา (เช่น ETH)” เพื่อคำนวณกำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละธุรกรรม

ทั้งนี้ เมื่อเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนคู่เหรียญกัน (เช่น นำ BTC ที่มีไปแลกกับ ETH) แล้วพบว่ามูลค่า ETH สูงกว่าต้นทุน BTC ของตน ก็จะรับรู้กำไรดังกล่าวเป็นเงินได้ในปีนั้นทันที แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายเหรียญดังกล่าวเป็นเงินสด (fiat) ก็ตาม

สมมติว่าซื้อ bitcoin มา 1 BTC ในราคา 1 ล้านบาท แล้วราคาตลาดขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท แล้วเราเลือกนำ 1 BTC ไปแลก 10 ETH ราคา 1.5 ล้านบาทบน Exchange

ธุรกรรมแบบนี้ เกิดการแลกเปลี่ยนจากเหรียญในมือไปเป็นอีกเหรียญนึง ดังนั้น เมื่อเราซื้อ bitcoin ในราคา 1 ล้านบาท แต่กลับสามารถนำไปแลก 10 ETH ที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้ นั่นหมายความว่า เจ้าของ bitcoin จะมี “กำไร” 5 แสนบาท จากการนำ 1 BTC ที่ตัวเองเก็บมาในราคา 1 ล้านบาท ไปแลก 10 ETH ที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้สำเร็จ

ข้อสังเกต

  • หากใช้วิธีอ้างอิงราคา ณ ขณะที่แลกเปลี่ยนคู่เหรียญ สามารถอ้างอิงแบบ ณ เวลาที่แลกเปลี่ยน (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยของเหรียญที่แลกมา โดยอาศัยข้อมูลราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. ก็ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้ราคาอ้างอิงแบบ spot rate หรือราคาถัวเฉลี่ยแล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดทั้งปี
  • การแลกเหรียญคริปโทเป็น Stable coin เช่น แลก BTC เป็น USDT ก็เป็นธุรกรรมที่ทำให้ต้องคำนวณกำไรด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายเหรียญออกมาเป็นเงินสด (Fiat currency) เลยก็ตาม

3. ใช้คริปโทซื้อสินค้า

การใช้เหรียญคริปโทซื้อสินค้าก็อาจมี “กำไร” ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีได้ โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล”

สมมติว่าซื้อ bitcoin มา 1 BTC ในราคา 1 ล้านบาท แล้วราคาตลาดขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท แล้วเราเลือกนำ 1 BTC ไปแลกนาฬิกา Rolex 1 เรือน ราคา 1.5 ล้านบาทกับร้านขายนาฬิกา

ธุรกรรมแบบนี้ เกิดการแลกเปลี่ยนจากเหรียญในมือไปเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อเราซื้อ bitcoin ในราคา 1 ล้านบาท แต่กลับสามารถนำไปแลกของที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้ นั่นหมายความว่า เจ้าของ bitcoin ซึ่งเป็นฝ่ายคนซื้อจะมี “กำไร” 5 แสนบาท จากการนำของที่ตัวเองเก็บมาในราคา 1 ล้านบาท ไปแลกของที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้สำเร็จ ทำให้ตอนจบ “คนซื้อ” เลยกลายเป็นคนที่มีรายได้ไปด้วยโดยที่ตัวเองอาจไม่รู้ตัว

ในมุมนี้หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจ แต่ในมุมกฎหมายภาษีก็เป็นหลักที่ยุติธรรม เพราะถ้ากำไรจากการขายคริปโตต้องเสียภาษีเงินได้ การแลกเปลี่ยนคริปโตกับทรัพย์สินอื่นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน

ข้อสังเกต

  • ปัจจุบัน ทั้ง กลต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้นำเหรียญคริปโทมาใช้ซื้อสินค้า แต่หลักการดังกล่าวไม่ทำให้ผลลัพธ์ทางภาษีคริปโตเปลี่ยนแปลงไป
  • กรณีตอนซื้อคริปโทมาในราคาสูงแล้วนำไปแลกกับสินค้าที่ราคาต่ำกว่า เช่น นำ BTC ที่ซื้อมา 1,000,000 บาท ไปแลกรถยนต์ราคา 600,000 บาท แม้จะขาดทุนจริงก็ไม่สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวไปหักกลบจากกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างปีได้ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นบน Exchange ที่ กลต. กำกับ
  • ในทางปฏิบัติ ร้านค้าจำนวนมากที่ประกาศรับชำระค่าสินค้าเป็นคริปโตจะยังไม่ได้รับชำระเป็นคริปโตตรงๆ แต่จะใช้วิธีให้ลูกค้าขายคริปโตเป็นเงินบาทตามมูลค่า ณ ขณะที่กำลังซื้อสินค้า แล้วค่อยโอนเงินบาทนั้นเข้ามาที่ผู้ขาย ดังนั้น หากเป็นการขายบน Exchange ที่ กลต. กำกับแล้วขาดทุนก็สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวมาหักกลับกับกำไรระหว่างปีก่อนเสียภาษีได้

4. ใช้คริปโทจ่ายค่าบริการ

การใช้เหรียญคริปโทจ่ายค่าบริการก็อาจมี “กำไร” ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีได้ โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล”

สมมติว่าซื้อ bitcoin มา 1 BTC ในราคา 1 ล้านบาท แล้วราคาตลาดขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท แล้วเราเลือกนำ 1 BTC ไปแลกบริการจัดงานแต่งงาน ราคา 1.5 ล้านบาทกับโรงแรม

ธุรกรรมแบบนี้ เกิดการแลกเปลี่ยนจากเหรียญในมือไปเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อเราซื้อ bitcoin ในราคา 1 ล้านบาท แต่กลับสามารถนำไปแลกบริการที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้ นั่นหมายความว่า เจ้าของ bitcoin ซึ่งเป็นฝ่ายลูกค้าจะมี “กำไร” 5 แสนบาท จากการนำของที่ตัวเองเก็บมาในราคา 1 ล้านบาท ไปแลกบริการที่มีมูลค่า 1.5 ล้านบาทได้สำเร็จ ทำให้ตอนจบ “ลูกค้า” เลยกลายเป็นผู้มีรายได้ไปด้วยโดยที่ตัวเองอาจไม่รู้ตัว

ในมุมนี้หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกใจ แต่ในมุมกฎหมายภาษีก็เป็นหลักที่ยุติธรรม เพราะถ้ากำไรจากการขายคริปโตต้องเสียภาษีเงินได้ การแลกเปลี่ยนคริปโตกับบริการอื่นก็ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วยเช่นกัน

ข้อสังเกต

  • ปัจจุบัน ทั้ง กลต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้นำเหรียญคริปโทมาใช้ชำระค่าบริการ แต่หลักการดังกล่าวไม่ทำให้ผลลัพธ์ทางภาษีคริปโตเปลี่ยนแปลงไป
  • กรณีตอนซื้อคริปโทมาในราคาสูงแล้วนำไปแลกกับสินค้าที่ราคาต่ำกว่า เช่น นำ BTC ที่ซื้อมา 1,000,000 บาท ไปแลกบริการถ่ายภาพงานแต่งงานราคา 600,000 บาท แม้จะขาดทุนจริงก็ไม่สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวไปหักกลบจากกำไรที่เกิดขึ้นระหว่างปีได้ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนไม่ได้เกิดขึ้นบน Exchange ที่ กลต. กำกับ
  • ในทางปฏิบัติ ห้างร้านจำนวนมากที่ประกาศรับชำระค่าสินค้าเป็นคริปโตจะยังไม่ได้รับชำระเป็นคริปโตตรงๆ แต่จะใช้วิธีให้ลูกค้าขายคริปโตเป็นเงินบาทตามมูลค่า ณ ขณะที่กำลังซื้อสินค้า แล้วค่อยโอนเงินบาทนั้นเข้ามาที่ผู้ขาย ดังนั้น หากเป็นการขายบน Exchange ที่ กลต. กำกับแล้วขาดทุนก็สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าวมาหักกลับกับกำไรระหว่างปีก่อนเสียภาษีได้

5. รับชำระค่าสินค้า/บริการด้วยคริปโท

การรับชำระเหรียญคริปโทสำหรับค่าสินค้า ค่าบริการ รวมถึงเงินเดือน จะถูกจัดเป็นเงินได้ตามแต่ลักษณะของสินค้าหรือบริการที่ขาย ซึ่งผู้รับชำระต้องนำมูลค่าเหรียญคริปโทที่ได้รับไปเสียภาษีและจะมีภาระภาษีทุกอย่างตามปกติเหมือนรับชำระด้วยเงินบาททั่วไป เช่น

  • พนักงานประจำรับเงินเดือนเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1)
  • ฟรีแลนซ์รับค่าจ้างเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2)
  • นักเขียนรับค่าลิขสิทธิ์เป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(3)
  • เจ้าของคอนโดให้เช่ารับค่าเช่าเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5)
  • สถาปนิกรับค่าออกแบบเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(6)
  • ผู้รับเหมาก่อสร้างรับค่ารับเหมาก่อสร้างเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(7)
  • ร้านกาแฟรับค่ากาแฟเป็นเหรียญคริปโท – เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8)

ข้อสังเกต

  • ปัจจุบัน ทั้ง กลต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้นำเหรียญคริปโทมาใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ แต่หลักการดังกล่าวไม่ทำให้ผลลัพธ์ทางภาษีคริปโตเปลี่ยนแปลงไป
  • เมื่อได้รับเหรียญคริปโทมาแล้ว จะกำหนดให้ต้นทุนของเหรียญที่ได้รับเท่ากับมูลค่าของสินค้าหรือบริการ เช่น ถ้าได้รับชำระเป็นเหรียญ 1 BTC ราคา 1 ล้านบาท ก็จะใช้มูลค่า 1 ล้านบาทเป็นต้นทุนสำหรับคำนวณกำไรหากนำ BTC ดังกล่าวไปขายหรือแลกเปลี่ยนในอนาคต

6. ได้เหรียญคริปโทมาฟรีจาก Air Drop หรือได้เป็นรางวัล

เหรียญคริปโทที่ได้มาฟรีจาก Air Drop หรือได้เป็นรางวัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีทั้งครึ่งปีและประจำปีด้วย โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล”

เช่น ได้รับเหรียญ 0.001 BTC จากการร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายของ Exchange ให้นำมูลค่าของ BTC ณ ขณะที่ได้รับมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น หากขณะที่ได้รับ 0.001 BTC นั้น ตีมูลค่าได้ 1,000 บาท ผู้รับจะต้องนำ BTC มูลค่า 1,000 บาทนี้ไปยื่นภาษี

ทั้งนี้ มูลค่า 0.001 BTC ที่ได้รับนี้ จะคำนวณต้นทุนเท่ากับมูลค่าที่นำไปเสียภาษี คือ 1,000 บาท ดังนั้น หากในอนาคต มูลค่า 0.001 BTC เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 บาท แล้วนำ 0.001 BTC ไปขาย จะรับรู้กำไร 500 บาท (ราคาขาย 1,500 – ต้นทุน 1,000) เพื่อนำไปคำนวณภาษีจากกำไรต่อไป

ข้อสังเกต

  • หากใช้วิธีอ้างอิงราคา ณ ขณะที่แลกเปลี่ยนคู่เหรียญ สามารถอ้างอิงแบบ ณ เวลาที่แลกเปลี่ยน (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยของเหรียญที่แลกมา โดยอาศัยข้อมูลราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. ก็ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้ราคาอ้างอิงแบบ spot rate หรือราคาถัวเฉลี่ยแล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดทั้งปี

7. ได้เหรียญคริปโทมาฟรีจากบุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน

เหรียญคริปโทที่ได้มาฟรีจากบุคคลต่อไปนี้

  1. บุพการี (เช่น พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย) 
  2. คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสแล้ว หรือ
  3. ผู้สืบสันดาน (เช่น ลูก หลาน)

คุณจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต่อเมื่อได้รับเกิน 20 ล้านบาทภายในปีภาษีนั้น โดยต้องเสียภาษีการรับให้เฉพาะส่วนเกิน 20 ล้านบาท ในอัตรา 5% เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ/จากการให้โดยเสน่หาจากบุพการีตามมาตรา 42 (27)”

ดังนั้น หากคุณได้รับเหรียญคริปโทไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด และในเมื่อคุณได้เหรียญมาฟรี เหรียญคริปโทนี้จึงมีต้นทุน 0 บาท หรือหากพิสูจน์ต้นทุนจากผู้ให้ได้ ก็สามารถนำต้นทุนเดิมของผู้ให้มาใช้เป็นต้นทุนของผู้รับได้เช่นกัน เพื่อใช้คำนวณกำไรสำหรับเสียภาษีหากนำไปขายในอนาคต

เช่น คุณได้เหรียญ KUB มาฟรีจากคุณพ่อจำนวน 100 KUB มูลค่า 30,000 บาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท จึงไม่ต้องนำ 100 KUB มูลค่า 30,000 บาท ไปเสียภาษีแต่อย่างใด โดยคำนวณต้นทุนของ 100 KUB เป็น 0 บาท เนื่องจากได้มาฟรีและได้รับยกเว้นภาษี และไม่ได้พิสูจน์ต้นทุนของผู้ให้

ต่อมามูลค่า 100 KUB เพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาท จึงขายออกไปทั้งหมด 100 KUB เป็นเงิน 40,000 บาท กรณีนี้ คุณจะมีกำไร 40,000 บาท ตามราคาขายทั้งจำนวน (ราคาขาย 40,000 – ต้นทุน 0) เนื่องจากการได้เหรียญมาฟรีและไม่ต้องเสียภาษี และและไม่ได้พิสูจน์ต้นทุนของผู้ให้ ทำให้คำนวณต้นทุนเหรียญ KUB ได้ 0 บาทเท่านั้น

8. ได้เหรียญคริปโทมาฟรีจากญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก

เหรียญคริปโทที่ได้มาฟรีจากญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก ที่ไม่ใช่บุพการี คู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน คุณจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต่อเมื่อได้รับเกิน 10 ล้านบาทภายในปีภาษีนั้น โดยต้องเสียภาษีการรับให้เฉพาะส่วนเกิน 10 ล้านบาท ในอัตรา 5% เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าท่ีธรรมจรรยา/จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี/ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามมาตรา 42 (28)”

ดังนั้น หากคุณได้รับเหรียญคริปโทไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด และในเมื่อคุณได้เหรียญมาฟรี เหรียญคริปโทนี้จึงมีต้นทุน 0 บาท หรือหากพิสูจน์ต้นทุนจากผู้ให้ได้ ก็สามารถนำต้นทุนเดิมของผู้ให้มาใช้เป็นต้นทุนของผู้รับได้เช่นกัน เพื่อใช้คำนวณกำไรสำหรับเสียภาษีหากนำไปขายในอนาคต

เช่น คุณได้เหรียญ ZMT มาฟรีจากเพื่อนจำนวน 100 ZMT มูลค่า 10,000 บาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงไม่ต้องนำ 100 ZMT มูลค่า 10,000 บาท ไปเสียภาษีแต่อย่างใด โดยคำนวณต้นทุนของ 100 ZMT เป็น 0 บาท เนื่องจากได้มาฟรีและได้รับยกเว้นภาษี และไม่ได้พิสูจน์ต้นทุนจากผู้ให้

ต่อมามูลค่า 100 ZMT เพิ่มขึ้นเป็น 15,000 บาท จึงขายออกไปทั้งหมด 100 ZMT เป็นเงิน 15,000 บาท กรณีนี้ คุณจะมีกำไร 5,000 บาท ตามราคาขายทั้งจำนวน (ราคาขาย 15,000 – ต้นทุน 0) เนื่องจากการได้เหรียญมาฟรีและไม่ต้องเสียภาษี และและไม่ได้พิสูจน์ต้นทุนของผู้ให้ ทำให้คำนวณต้นทุนเหรียญ ZMT ได้ 0 บาทเท่านั้น

9. ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือ token เช่น rewards เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือเหรียญ เช่น Rewards, เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไร เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีได้ โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล”

เช่น ซื้อเหรียญ security token ไว้ แล้วเหรียญดังกล่าวจ่าย Rewards ให้ผู้ถือจำนวน 0.001 BTC ให้นำมูลค่าของ BTC ณ ขณะที่ได้รับมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น หากขณะที่ได้รับ 0.001 BTC นั้น ตีมูลค่าได้ 1,000 บาท ผู้รับจะต้องนำ BTC มูลค่า 1,000 บาทนี้ไปยื่นภาษี

ทั้งนี้ มูลค่า 0.001 BTC ที่ได้รับนี้ จะคำนวณต้นทุนเท่ากับมูลค่าที่นำไปเสียภาษี คือ 1,000 บาท ดังนั้น หากในอนาคต มูลค่า 0.001 BTC เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 บาท แล้วนำ 0.001 BTC ไปขาย จะรับรู้กำไร 500 บาท (ราคาขาย 1,500 – ต้นทุน 1,000) เพื่อนำไปคำนวณภาษีจากกำไรต่อไป

สิทธิประโยชน์ในการเลือกไม่รวมคำนวณภาษีประจำปีสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือเหรียญ security token

อย่างไรก็ตาม หากคุณได้รับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือเหรียญ security token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ไปแล้ว กฎหมายเปิดโอกาสให้คุณสามารถเลือกไม่นำผลประโยชน์ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีประจำปีรวมกับรายได้อื่นๆ ก็ได้

10. นำคริปโทไป stake แล้วได้ reward เป็นเหรียญคริปโทเพิ่มจาก defi รูปแบบต่างๆ เช่น Yield Farming หรือ Staking

ปัจจุบัน ผลประโยชน์ที่ได้รับจาก Defi เช่น Yield Farming หรือ Staking จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามแต่เหรียญตั้งต้นที่นำไป stake ดังนี้ 

Rewards เกิดจากการฟาร์มเหรียญที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี (เช่น BTC หรือ ETH)

ตามกฎหมายปัจจุบันขณะนี้ ผลประโยชน์ที่ได้รับนี้จะถูกจัดเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง (ครึ่งปีและประจำปี) โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “ผลตอบแทนจากการนำคริปโทเคอร์เรนซีไปแสวงหาประโยชน์”

เช่น นำ BTC ไปทำ locked staking แล้วได้รับ Rewards เป็น BTC 0.001 BTC ให้นำมูลค่าของ BTC ณ ขณะที่ได้รับมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น หากขณะที่ได้รับ 0.001 BTC นั้น ตีมูลค่าได้ 1,000 บาท ผู้รับจะต้องนำ BTC มูลค่า 1,000 บาทนี้ไปยื่นภาษี

ทั้งนี้ มูลค่า 0.001 BTC ที่ได้รับนี้ จะคำนวณต้นทุนเท่ากับมูลค่าที่นำไปเสียภาษี คือ 1,000 บาท ดังนั้น หากในอนาคต มูลค่า 0.001 BTC เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 บาท แล้วนำ 0.001 BTC ไปขาย จะรับรู้กำไร 500 บาท (ราคาขาย 1,500 – ต้นทุน 1,000) เพื่อนำไปคำนวณภาษีจากกำไรต่อไป

Rewards เกิดจากการฟาร์มเหรียญที่เป็นโทเคนดิจิทัลอื่นๆ (เช่น utility token หรือ security token)

ผลประโยชน์ที่ได้รับนี้จะถูกจัดเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีประจำปี โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล”

เช่น นำเหรียญ utility token ไปทำ yield farming แล้วได้รับ Rewards เป็น BTC 0.001 BTC ให้นำมูลค่าของ BTC ณ ขณะที่ได้รับมาคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ดังนั้น หากขณะที่ได้รับ 0.001 BTC นั้น ตีมูลค่าได้ 1,000 บาท ผู้รับจะต้องนำ BTC มูลค่า 1,000 บาทนี้ไปยื่นภาษี

ทั้งนี้ มูลค่า 0.001 BTC ที่ได้รับนี้ จะคำนวณต้นทุนเท่ากับมูลค่าที่นำไปเสียภาษี คือ 1,000 บาท ดังนั้น หากในอนาคต มูลค่า 0.001 BTC เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 บาท แล้วนำ 0.001 BTC ไปขาย จะรับรู้กำไร 500 บาท (ราคาขาย 1,500 – ต้นทุน 1,000) เพื่อนำไปคำนวณภาษีจากกำไรต่อไป

ข้อสังเกต

11. ขุดคริปโท (Mining)

โดยปกติการขุดเหรียญ (Mining) จะทำให้ผู้ขุดได้รับเหรียญเพิ่มขึ้นใน Wallet แต่กรมสรรพากรกำหนดมาตรฐานว่า ผู้ขุด (miner) จะยังไม่ต้องนำเหรียญที่ขุดได้มาเสียภาษีจนกว่าจะนำเหรียญที่ขุดได้นั้นไปขาย

ทั้งนี้ รายได้จากขายเหรียญที่ขุดได้ถูกจัดเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง (ครึ่งปีและประจำปี) โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “รายได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ขุดได้”

ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนได้

เนื่องจากกรมสรรพากรตีความว่าการขุดเหรียญเป็นการประกอบธุรกิจชนิดหนึ่งจึงอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง และค่าเสื่อมราคาได้ เช่น

  • ค่าไฟฟ้า – ตามจริง
  • ค่าอินเตอร์เน็ต – ตามจริง
  • ค่าซ่อมอุปกรณ์ – ตามจริง
  • ค่าจ้างพนักงาน – ตามจริง
  • ค่าฝากเครื่องขุด – ตามจริง
  • ค่าเช่าเครื่องขุด – ตามจริง
  • ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา)
  • ค่าเครื่องขุด (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาเครื่องขุดที่ซื้อมา)
  • ค่าการ์ดจอ (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาการ์ดจอที่ซื้อมา)

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขุดเหล่านี้ จะนำไปใช้คำนวณเป็นต้นทุนของเหรียญที่ขุดได้ เช่น ขุดได้ 1 BTC โดยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 800,000 บาท หากต่อมานำ 1 BTC ไปขายในราคา 1,000,000 บาท จะมีกำไร 200,000 บาท ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีต่อไป

ข้อสังเกต

  • กรณีขุดคริปโท ผู้เสียภาษีต้องเลือกวิธีคำนวณต้นทุนสำหรับคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีในแต่ละปีด้วยว่าจะใช้วิธีต้นทุนแบบเข้าก่อน-ออกก่อน (First-in, First-out: FIFO) หรือต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และหากปีภาษีนั้นเลือกวิธีคำนวณต้นทุนแบบใด ต้องใช้แบบนั้นตลอดทั้งปี แต่ถ้าขึ้นปีภาษีใหม่จะสามารถเลือกใช้วิธีคำนวณต้นทุนแบบเดิมหรือเปลี่ยนวิธีใหม่ก็ได้
  • หากใช้วิธีอ้างอิงราคา ณ ขณะที่ขาย สามารถอ้างอิงแบบ ณ เวลาที่แลกเปลี่ยน (spot rate) หรือราคาถัวเฉลี่ยของเหรียญที่แลกมา โดยอาศัยข้อมูลราคาอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของ กลต. ก็ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วว่าจะใช้ราคาอ้างอิงแบบ spot rate หรือราคาถัวเฉลี่ยแล้ว ให้ใช้วิธีนั้นตลอดทั้งปี
  • การแลกเหรียญคริปโทเป็น Stable coin เช่น แลก BTC เป็น USDT ก็เป็นธุรกรรมที่ทำให้ต้องคำนวณกำไรด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่ได้ขายเหรียญออกมาเป็นเงินสด (Fiat currency) เลยก็ตาม
  • หากได้เหรียญสกุลเดียวกันจากทั้งวิธีการขุดและซื้อมาเอง ผู้เสียภาษีจะต้องแยกทำบัญชีต้นทุนของเหรียญทั้ง 2 กลุ่มนี้ แม้ว่าจะเป็นเหรียญสกุลเดียวกัน เพราะตามกฎหมายแล้วเป็นเงินได้คนละประเภทกัน แต่เมื่อขายเหรียญดังกล่าวออกไป ผู้เสียภาษีสามารถลงบันทึกทางบัญชีได้ว่าเป็นการขายเหรียญที่ได้จากขุดหรือขายเหรียญที่ซื้อมา

12. ขาย NFT

กรณีเป็น Trader

การขาย NFT ในฐานะ Trader จะต้องเสียภาษีจากกำไรส่วนเกินทุนเหมือนการขายคริปโททั่วไป (เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ)) นอกจากนี้ หากได้รับ royalty จากการเปลี่ยนมือในอนาคต ก็จะเสียภาษีโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการได้รับประโยชน์จาก Air Drop (เงินได้ตามมาตรา 40(8))

กรณีเป็นผู้สร้างสรรค์ NFT

การขาย NFT ในฐานะผู้สร้างสรรค์สามารถตีความว่าเป็นการประกอบธุรกิจได้ จึงมีเงินได้ตามมาตรา 40(8) จะต้องเสียภาษีจากรายรับเมื่อขาย NFT เป็นเงินหรือแลกกับเหรียญคริปโทอื่น

ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนได้

เนื่องจากกรมสรรพากรตีความว่าการสร้างสรรค์ NFT เพื่อขายเป็นการประกอบธุรกิจชนิดหนึ่งจึงอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายตามจริง และค่าเสื่อมราคาได้ เช่น

  • ค่า GAS – ตามจริง
  • ค่าธรรมเนียม – ตามจริง
  • ค่าซ่อมอุปกรณ์ – ตามจริง
  • ค่าจ้างพนักงาน – ตามจริง
  • ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ (หักค่าเสื่อมราคา 3 ปี ปีละ 1/3 ของราคาคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา)

13. ผลประโยชน์จาก Game-Fi

ผลประโยชน์จาก Game-Fi เสียภาษีเหมือนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือเหรียญ เช่น Rewards, เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งกำไร เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) ซึ่งต้องนำไปเสียภาษีได้ โดยขณะยื่นภาษีให้ระบุชื่อประเภทของรายได้ว่า “เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล”

ถูกภาษี ณ ที่จ่ายยังคงต้องยื่นภาษีประจำปี เพราะยังไม่เป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด (Final Tax)

กรณีผู้เสียภาษีถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปี เนื่องจากมีรายได้จากคริปโต ก็ยังคงมีหน้าที่นำเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้นมายื่นภาษีประจำปีร่วมกับรายได้อื่นๆ อยู่ ไม่สามารถเลือกปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีเสร็จเด็ดขาด (Final Tax) โดยไม่ยื่นภาษีเหมือนดอกเบี้ย หรือเงินปันผลได้ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย นั้นสามารถนำมาใช้เป็นเครดิตสำหรับคำนวณภาษีประจำปีได้เหมือนการคำนวณภาษีจากรายได้ประเภทอื่นที่ได้รับตามปกติ

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในมุมมองของกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรมสรรพากรตีความว่าเหรียญคริปโตเป็น “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” เนื่องจากครอบคลุมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดังนั้น โดยหลักทั่วไป หากขายเหรียญคริปโตระหว่างปีเกิน 1.8 ล้านบาท จะถูกบังคับให้ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

1. กรณีขายคริปโทผ่าน Exchange, Broker หรือ Dealer ในกำกับ กลต.

หากเป็นการขายเหรียญคริปโทบน Exchange (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) หรือขายผ่าน Broker (นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล) หรือ Dealer (ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล) ที่ กลต. กำกับ จะได้รับยกเว้นไม่คำนวณเป็นฐานสำหรับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตาม พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 788) พ.ศ. 2567

2. กรณีขาย security token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน)

การขาย security token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) จะมีภาระภาษีเช่นเดียวกับการโอนหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนทั่วไป จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ตาม พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 779) พ.ศ. 2566

บทลงโทษ

กรมสรรพากรมีการตรวจสอบการมีเงินได้ หากผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแต่เป็นเท็จนั้น ผู้มีเงินได้ย่อมรับโทษดังนี้

  • กรณีไม่ชำระภาษีภายในกาหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนให้ นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
  • กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่าไม่ได้ยื่นภาษีไว้หรือยื่นไว้แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน นอกจากจะต้องรับผิดชาระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี
  • กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับ ทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
  • กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง การเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกต้ังแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับต้ังแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)