ครม.ผ่านมาตรการภาษีส่งเสริม ระดมทุน startup อนุมัติหลักการ “ยกเว้นภาษีกำไร” สำหรับกำไรจากการโอนหุ้นและหน่วยทรัสต์ของการลงทุนใน Startup ทั้งภาษีเงินบุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 10 ปี
- ครม. เห็นชอบ ตรึงค่าไฟ 6 เดือน หั่นภาษี ลดค่าไฟฟ้า 1-1.50 บาท
- คำนวณภาษีคริปโท สำหรับบุคคลทั่วไป (update ก.พ. 65)
8 มีนาคม 2565 – นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ปรับปรุงมาตรการภาษีจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุนเดิม ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัฐฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 โดยยกเว้นภาษีเงินบุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการโอนหุ้นและหน่วยทรัสต์ของการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยตรงและฝ่านกิจการเงินร่วมลงทุน โดยให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเษกษา ถึง 30 มิถุนายน 2575
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการระดมทุน ให้ Startup โดยเปิดให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุน ไม่ว่าเป็นการลงทุนโดยตรง หรือการลงทุนผ่านกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) ซึ่งได้แก่ บริษัทที่ประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) และผู้ถือหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมทุน Private Equity Trust (PE Trust) ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19
คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยทำให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น VC ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ง่ายขึ้น และเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ภายในปี 69 ประเทศไทยมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาท GDP เพิ่มขึ้น 7.9 แสนล้านบาท จำนวน Startup เพิ่มขึ้น 5,000-10,000 แห่ง และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000-400,000 ตำแหน่ง
“รัฐบาลมุ่งสนับสนุน Startup ไทย ซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยการดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ด้วยการระดมทุนจากทั่วโลก เพื่อให้ Start up ไทยป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทยได้อย่างจริงจัง และเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย
‘คลัง’ หวัง ยกเว้นภาษีกำไร Startup ช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ
- สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สิทธิประโยชน์ทางภาษี ยกเว้นภาษีกำไร Startup ระดมทุน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรได้ให้ความสำคัญแก่การระดมทุนของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup ไทย ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศกำหนด โดยมีหลักการสรุปได้ ดังนี้
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ สำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust ต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจากการขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทยดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนใน Startup
สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อ 1 – 3 ต้องเป็นการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น
เงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์
- ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์
- CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท และจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575
กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวมากขึ้น
สภาดิจิทัลฯ คาดมีเงินลงทุนใน Startup ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้าน
สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้จะทำให้ภายในปี 2569 จะมีเงินลงทุนใน Startup ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Startup และประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย