ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ ยกเว้นภาษี “ค่าชดเชย” ช่วยลูกจ้าง

ข่าวภาษี

ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ ยกเว้นภาษี “ค่าชดเชย” ช่วยลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จากเพดานสิทธิ์เดิมยกเว้นภาษีเฉพาะค่าชดเชยไม่เกิน 300,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นค่าชดเชยไม่เกิน 600,000 บาท เริ่มมีผลย้อนหลัง 1 มกราคม 2566 รอประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

สรุปเกณฑ์ใหม่ ยกเว้นภาษี “ค่าชดเชย” ช่วยลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

รัฐบาลเห็นชอบการปรับปรุงกฎหมายภาษี เพื่อช่วยลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง โดยเพิ่มจำนวนเงินค่าชดเชยที่ไม่ต้องเสียภาษี ดังนี้:

  • เดิม: ค่าชดเชยไม่เกิน 300 วันของค่าจ้าง และไม่เกิน 300,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
  • ใหม่: ค่าชดเชยไม่เกิน 400 วันของค่าจ้าง และไม่เกิน 600,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากคุณได้จ่ายภาษีจากค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นตามกฎใหม่นี้ไปแล้ว คุณสามารถยื่นขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับจากวันสุดท้ายของการยื่นภาษีครั้งนั้น

หากมีคำถาม สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน หรือโทร 1161

ตัวอย่างการคำนวณภาษีกรณีได้รับค่าชดเชยตามเกณฑ์ใหม่ เปรียบเทียบ เกณฑ์เดิม

ลูกจ้างที่ได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 400 วันสุดท้าย (ช่วง 13 ⅓ เดือนล่าสุด) สูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท ส่วนค่าชดเชยที่ได้รับเกิน 600,000 บาทจะต้องเสียภาษีตามปกติ

เช่น ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 800,000 บาท และลูกจ้างรายนี้คำนวณค่าจ้าง 400 วันสุดท้ายได้ 800,000 บาทเช่นกัน

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างรายนี้ได้รับในส่วน 600,000 บาทแรกจะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เหลือ 200,000 บาทยังต้องนำมาเสียภาษีอยู่

ส่วนเกณฑ์เดิมนั้น กรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้าง (ไล่ออก) ค่าชดเชยที่ได้รับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย (ช่วง 10 เดือนล่าสุด) แต่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ค่าชดเชยส่วนที่ได้รับเกิน 300,000 บาท จะต้องเสียภาษีตามปกติ เช่น ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 360,000 บาท และลูกจ้างรายนี้คำนวณค่าจ้าง 300 วันสุดท้ายได้ 360,000 บาทเช่นกัน ค่าชดเชยที่ลูกจ้างรายนี้ได้รับในส่วน 300,000 บาทแรกจะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เหลือ 60,000 บาทยังต้องนำมาเสียภาษีอยู่

กล่าวโดยสรุปคือ เกณฑ์การคำนวณภาษีสำหรับค่าชดเชยแบบใหม่นี้เป็นประโยชน์กับลูกจ้างมากกว่าเกณฑ์เดิม ทั้งนี้ คุณสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีคำนวณภาษีกรณีได้รับเงินก้อนเนื่องจากเหตุออกจากงานอย่างละเอียดได้ที่บทความ “เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

รู้จักเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

เงินค่าชดเชยเป็นเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก เกษียณอายุ หรือหมดสัญญาจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด

อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุที่ทำงานกับนายจ้างรายนี้และใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย สรุปเป็นตารางได้ดังนี้

อายุงาน อัตราค่าชดเชยขั้นต่ำ
ไม่ถึง 120 วัน ไม่มีสิทธิได้รับ
120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 30 วัน (ประมาณ 1 เดือน)
1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 90 วัน (ประมาณ 3 เดือน)
3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน)
6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 240 วัน (ประมาณ 8 เดือน)
10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ได้เท่ากับค่าจ้าง 300 วัน (ประมาณ 10 เดือน)
ตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป ได้เท่ากับค่าจ้าง 400 วัน (ประมาณ 13 ⅓ เดือน)

หมายเหตุ: อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างลาออกเองด้วยความสมัครใจ หรือถูกไล่ออกเพราะลูกจ้างทำความผิดร้ายแรงบางประการ ลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างได้

ครม. มีมติเห็นชอบ แก้ไขเกณฑ์ยกเว้นภาษี “ค่าชดเชย” ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน รอกฎหมายประกาศ มีผลย้อนหลังไปถึง 1 มกราคม 2566

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อนุมัติหลักการการปรับปรุงการยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อน จากการถูกเลิกจ้างให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ตระหนักถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้ เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตาม กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุด สัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  2. ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีแก้ไขเพิ่มเติมย้อนหลังได้ 3 ปี

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว” หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
(100K+)