ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบ มาตรการขยายเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ และการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาภาระให้นายจ้างและผู้ประกอบการ และหวังช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ประกันตนนั้น
มาตรการดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 เมษายน 2563 ตามประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. 2563 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ผู้ประกอบการ และ ลูกจ้าง
สำหรับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนนายจ้าง และ ขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน (ตามมาตรา 33 และ 34 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533) จะได้รับการขยายเวลาการส่งเงินสมทบประกันสังคม ออกไปอีก 3 เดือน สำหรับค่าจ้างระหว่างมีนาคม – พฤษภาคม 2563 ดังนี้
- งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 15 กรกฎาคม 2563
- งวดค่าจ้างเดือนเมษายน 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 2563
- งวดค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 2563
2. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 39
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ส่งเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง ก็จะได้รับการขยายเวลาส่งเงินสมทบประกันสังคมออกไปอีก 3 เดือน เช่นกัน คือ
- ส่งเงินสมทบเดือนมีนาคม 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 15 กรกฎาคม 2563
- ส่งเงินสมทบเดือนเมษายน 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 15 สิงหาคม 2563
- ส่งเงินสมทบเดือนพฤษภาคม 2563 ขยายเวลาให้นำส่งเงินสมทบได้ถึง 15 กันยายน 2563
สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และมีข้อสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติมคุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ขยายเวลาส่งเงินสมทบแล้ว ผู้ประกันตนและนายจ้าง ต้องจ่ายเงินสมทบเท่าไหร่?
โดยปกติแล้วลูกจ้าง จะถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 5% หรือ 750 บาทต่อเดือน (นับจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) และเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของลูกจ้างและนายจ้างลง เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีรายละเอียดต่อไปนี้
อัตราส่งเงินสมทบ สำหรับลูกจ้าง (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33)
อัตราเดิม / เดือน | อัตราใหม่ (มาตรการชั่วคราว) /เดือน |
5% | 1% |
750 บาท | 150 บาท |
อัตราส่งเงินสมทบ สำหรับนายจ้าง
อัตราเดิม / เดือน | อัตราใหม่ (มาตรการชั่วคราว) /เดือน |
5% | 4% |
750 บาท | 600 บาท |
อัตราส่งเงินสมทบ สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39
อัตราเดิม / เดือน | อัตราใหม่ (มาตรการชั่วคราว) /เดือน |
432 บาท | 86 บาท |
หมายเหตุ
1. การปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ์ประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับในปัจจุบัน เนื่องจากมาตรการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นเพียงมาตรการที่ต้องการช่วยลดค่าใช้จ่ายของนายจ้าง และผู้ประกันตนเท่านั้น
2. การปรับลดอัตราดังกล่าวยังรอการประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการจากกระทรวงแรงงาน
คำถามที่พบบ่อย
1. เป็นลูกจ้างประจำแต่ทำไมเงินเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมายังถูกหักเงินประกันสังคมในอัตรา 5% เหมือนเดิม?
เพราะการปรับลดอัตราดังกล่าวมีเพียงมติ ครม. เท่านั้น ยังไม่มีการประกาศเป็นกฎหมายในเวลาที่มีการจ่ายค่าจ้างในเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถดำเนินการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคมลูกจ้างให้เหลือเพียง 1% หรือ 150 บาท ตามที่มีข่าวประชาสัมพันธ์ออกไปก่อนหน้านี้ได้
ด้วยเหตุนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลูกจ้างประจำหลายราย (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) จึงยังถูกหักเงินสมทบประกันสังคมในอัตรา 5% (หรือ 750 บาท) เหมือนเดิม ไม่ใช่ อัตรา (1% หรือ 150 บาท) ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้นั้น จึงต้องรอให้กฎหมายปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการก่อน นายจ้างจึงปรับลดอัตราเงินสมทบให้เหลือ 1% ให้ลูกจ้างทุกคนได้
2. นายจ้างส่งเงินสมทบประกันสังคมไปเกิน ต้องทำอย่างไรดี?
แม้จะยังไม่มีการประกาศลดอัตราเงินสมทบเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีนายจ้างบริษัทเอกชนบางแห่งเริ่มหักในอัตราใหม่ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ไปก่อน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมก็อนุโลมให้ปรับลดอัตราเงินสมทบได้ ได้โดยไม่เป็นความผิด แต่อย่างไรก็ดี ยังมีนายจ้างและลูกจ้างจำนวนมากที่ยังคงส่งเงินสมทบประกันสังคมอัตราเดิม ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 (กรณีไม่ได้หักเงินสมทบในอัตราที่ปรับลดแล้ว)
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
หากกฎหมายมีผลย้อนหลังไปถึงเดือนมีนาคม 2563 นายจ้างก็สามารถดำเนินการขอคืนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จ่ายไปเกินได้ โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้
- กรอกเอกสารคำขอรับเงินคืน หรือ สปส. 1-23/1
- นายจ้างจะยื่นแบบขอรับเงินคืน สปส. 1-23/1 ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่หรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้
- เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสาร และบันทึกเข้าระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 15 นาที)
- เจ้าหน้าที่พิจารณา และตรวจสอบข้อมูลประกอบการพิจารณาขอรับเงินคืน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 60 นาที)
- เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติและรับเงินคืน หรือ ไม่เสนออนุมัติ พร้อมบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 25 นาที)
3. ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงินชดเชยได้ทางไหนบ้าง?
สำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ได้รับผลกระทบว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (เช่น ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากถูกกักตัว 14 วัน หรือ สถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่งของภาครัฐ) สามารถลงทะเบียนขอรับเงินชดเชยว่างงานจากกรณีฉุกเฉินผ่าน ระบบ e-form ที่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news/ (ดูขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาได้ที่ วิธีลงทะเบียนรับเงิน กรณีว่างงาน COVID-19 ลูกจ้างประกันสังคม)
หากสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้าง หรือ มีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทราบทันที