1. ยืดระยะเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปถึง 31 ส.ค. 2563
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียภาษี ครม. จึงมีมติให้ยืดระยะเวลายื่นภาษีเพิ่มเติมจากเดิม ที่มีกำหนดสิ้นสุดการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563 ทั้งแบบยื่นกระดาษและยื่นออนไลน์
ระยะเวลายื่นภาษี (เดิม) | ระยะเวลายื่นภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563) อัปเดตล่าสุด | |
ยื่นภาษีแบบกระดาษ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ | 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2563 | 1 ม.ค. – 31 ส.ค. 2563 |
ยื่นภาษีออนไลน์ | 1. ม.ค. – 8 เม.ย. 2563 | 1 ม.ค. – 31 ส.ค. 2563 |
ระยะเวลาการผ่อนจ่ายภาษี
-
ระยะเวลาการผ่อนภาษีสำหรับ การยื่นแบบกระดาษ
กำหนดผ่อนชำระภาษี | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษี (เดิม) | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563) อัปเดตล่าสุด |
งวดที่ 1 | 31 มี.ค. 2563 | 31 ส.ค. 2563 |
งวดที่ 2 | 30 เม.ย.2563 | 30 ก.ย. 2563 |
งวดที่ 3 | 31 พ.ค. 2563 | 31 ต.ค. 2563 |
-
ระยะเวลาการผ่อนภาษีสำหรับ การยื่นภาษีออนไลน์
กำหนดผ่อนชำระภาษี | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษี (เดิม) | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563) อัปเดตล่าสุด |
งวดที่ 1 | 8 เม.ย. 2563 | 31 ส.ค. 2563 |
งวดที่ 2 | 8 พ.ค. 2563 | 30 ก.ย. 2563 |
งวดที่ 3 | 8 มิ.ย. 2563 | 31 ต.ค. 2563 |
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่ามาตรการนี้จะช่วยให้เงินภาษีที่รอการจ่ายอยู่กว่า 21,000 ล้านบาท ยังคงอยู่กับบุคคลธรรมดาเพื่อรักษาสภาพคล่องจนผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอเงินคืนภาษีก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดยื่นภาษีวันสุดท้ายแต่อย่างใด
หมายเหตุ: เดิม ครม. เคยมีมติเห็นชอบให้ ยืดระยะเวลาการยื่นภาษีและชำระภาษีออกไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563 ไปครั้งหนึ่งแล้ว
2. เพิ่มสิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ
ผู้เสียภาษีที่จ่าย เบี้ยประกันสุขภาพ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงเพิ่มขึ้นจากเดิมสูงสุด 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท โดยจะมีผลย้อนหลังไปถึงเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แต่ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเงินฝากแบบมีประกันชีวิต จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
3. ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
เงินค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับเป็นพิเศษจากกระทรวงสาธารณสุข นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563 จะได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องนำเงินพิเศษเหล่านี้มาคำนวณภาษีเพิ่ม (ส่วนเงินเดือนยังคงยื่นภาษีและเสียภาษีตามปกติ)
อธิบดีกรมสรรพากรย้ำว่าผู้ที่รับประโยชน์ไม่ใช่เพียงเฉพาะแพทย์และพยาบาลเท่านั้น แต่รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคนิคการแพทย์ หรือแม้แต่คนขับรถพยาบาลก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีด้วย
4. เลื่อนเวลายื่นแบบ ภาษีสำหรับนิติบุคคล ทุกประเภท
มาตรการทางภาษีเพื่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้แก่
- ผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการ จากคำสั่งปิดสถานประกอบการจากทางราชการ จะได้รับสิทธิเลื่อนยื่นภาษีและชำระแบบภาษีทุกประเภทจากกำหนดเดิมออกไปอีก 1 เดือน เช่น กำหนดยื่นและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนมีนาคมจากเดิม 15 เมษายน 2563 สามารถขอเลื่อนเป็น 15 พฤษภาคม 2563 ได้
- ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) รมว. กระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
และเพื่อเป็นการลดภาระทางภาษี และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่นิติบุคคล ครม. จึงมีมติเห็นชอบให้ ขยายระยะเวลาการยื่นภาษีประจำปี (ภ.ง.ด. 50) และครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้
- ภ.ง.ด. 50 (ประจำปี) ที่ต้องยื่นภาษีในเดือน เม.ษ. – ส.ค. 2563 (บริษัทส่วนใหญ่จะต้องยื่นภายใน 29 พ.ค. 2563) จะขยายเวลายื่นและชำระภาษีออกไปได้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 63
- ภ.ง.ด. 51 (ครึ่งปี) ที่ต้องยื่นภาษีในเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 (บริษัทส่วนใหญ่จะต้องยื่นภายใน 31 ส.ค. 2563) ให้สามารถยื่นภาษีได้จนถึง 30 ก.ย. 63
อธิบดีกรมสรรพากร อธิบายว่า ที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิขยายเวลาดังกล่าวด้วยเนื่องจากโดยปกติแล้วบริษัทจดทะเบียนฯ ได้ดำเนินการปิดงบไปเสร็จสิ้นแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาให้แต่อย่างใด
หมายเหตุ: อย่างไรก็ดี กรณีขยายเวลายื่น ภ.ง.ด. 50 สำหรับการยื่นภาษีประจำปีของนิติบุคคลนั้น อาจต้องติดตามประกาศจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ด้วยว่าจะขยายเวลาการยื่นงบประจำปีสอดคล้องกับมาตรการภาษีของกรมสรรพากรหรือไม่อย่างไร
5. ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมให้กลุ่ม Non-bank สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เคยมีมาตรการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมให้สำหรับกลุ่มสถาบันการเงินสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ครั้งนี้จึงขยายสิทธิประโยชน์นี้ให้เจ้าหนี้กลุ่ม Non-bank ด้วย เช่น ธุรกิจเช่าซื้อ ลีสซิ่ง บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
กล่าวคือ หากการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้นั้นก่อให้เกิดภาระภาษีหรือค่าธรรมเนียมใดๆ จะได้รับยกเว้นตามมาตรการนี้ โดยเจ้าหนี้กลุ่ม Non-bank ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ จะได้รับการยกเว้นภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้
- ผ่อนปรนเกณฑ์หนี้สูญแก่เจ้าหนี้
- ปรับปรุงโครงสร้างของลูกหนี้ ครอบคลุม
- ลูกหนี้ Non-bank เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ และลีสซิ่ง
- ลูกหนี้เจ้าอื่นที่ทำสัญญาประนอมหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร
- การปรับโครงสร้างหนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
**ในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับการยกเว้นหนี้สินจากเจ้าหนี้ (ไม่ต้องจ่ายหนี้สินคืน) เงินส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน
นโยบายการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยกเว้นภาษีนั้น จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564
ทั้งหมดนี้ คือ มาตรการทางภาษีรอบ 2 ของทางรัฐบาลที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน และบรรเทาภาระทางภาษีแก่ผู้เสียภาษีได้ และหากมีรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะอัปเดตให้ผู้เสียภาษีต่อไป