กรมสรรพากร จับมือ depa ลงนาม MOU สร้าง Big Data ด้านภาษี

ทั่วไป

วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กรมสรรพากร และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และการวิเคราะห์ข้อมูลด้านภาษี และเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา (COVID-19) และปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จึงเป็นการลงนามออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams โดยมีรายละเอียดดังนี้

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า 

ความร่วมมือของกรมสรรพากรกับ depa เป็นไปเพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้เสียภาษีและประชาชนให้ตรงกลุ่ม ตรงใจ และสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของกรมสรรพากร ที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านภาษี เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ดังนี้

  • วิเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นของผู้เสียภาษี (Customer Centric) เพื่อใช้ในการออกแบบนโยบายภาษีให้ตรงกลุ่ม และพัฒนาบริการให้ตรงใจผู้เสียภาษี
  • วิเคราะห์และประมวลข้อมูลทางภาษี เพื่อใช้ในเชิงวิชาการ เช่น การคำนวณแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษี หรือ แบบจำลองการประมาณการจัดเก็บภาษีต่างๆ เป็นต้น

และการลงนาม MOU ครั้งนี้ ยังเป็นการร่วมมือพัฒนาบุคคลากรของกรมสรรพากรด้าน Data Science ที่จะสนับสนุนให้บุคลากรของกรมสรรพากรมีทักษะความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับทักษะในอนาคต (Future Skill) 

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า 

ภารกิจหลักของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) คือ ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ 

  • ข้อมูลจากสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GDBi) และ
  • การพัฒนาบุคลาการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

โดยการร่วมมือกับกรมสรรพากรครั้งนี้เป็นไปเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ โดยการต่อยอดทักษะเดิม และเสริมเป็นทักษะใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้

ความร่วมมือระหว่าง depa กับ กรมสรรพากรเป็นเสมือนการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศ และส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล และดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ เรื่องการผลักดันให้เกิดฐานข้อมูลภาครัฐที่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้บริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น และเชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาบุคลากรด้าน Data Science และ Business Intelligence ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพยากรณ์ที่สามารถใช้ยกระดับบริการเพื่อประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

Q & A Data Analytics ของกรมสรรพากร คืออะไร ให้อะไรกับผู้เสียภาษี?

 1. โดยปกติแล้วข้อมูลของกรมสรรพากรมักจะออกมาในรูปแบบของการจัดเก็บรายได้ แต่สื่อมวลชนและนักวิชาการอยากได้ Data จากกรมสรรพากรที่ระบุว่า จำนวนคนเสียภาษีมีจำนวนเท่าไหร่? เป็นเงินเท่าไหร่? มีคนใช้สิทธิ์ RMF LTF ประกันลดหย่อนภาษีเท่าไหร่? บริจาคผ่านระบบ e-donation เท่าไหร่? ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ อยากทราบว่า Big data ของกรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ด้วยหรือไม่? และข้อมูลที่กำลังพัฒนากันอยู่ เป็นข้อมูลประเภทไหน? อย่างไร?
A: ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า 

กรมสรรพากรมีโครงการที่จะร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อยู่หลายโครงการ และโครงการแรกที่เลือกทำคือ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาล (Data Governance) และจริงอยู่ที่ฐานข้อมูลของกรมสรรพากรมีเยอะมาก

แต่กรมสรรพากรจะสามารถใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียภาษีของผู้เสียภาษีเท่านั้น กรมสรรพากรไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีและข้อมูลการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของผู้เสียภาษีให้แก่บุคคลอื่นทราบได้ จริงอยู่ที่กรมสรรพากรจะมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี แต่ในขณะเดียวกันกรมสรรพากรก็จะต้องปกป้องข้อมูลส่วนตัว และสิทธิส่วนบุคคลของผู้เสียภาษีเช่นเดียวกัน (อ้างอิง กฎหมายมาตรา 10 ว่าด้วยเรื่องการห้ามเปิดเผยข้อมูลรายบุคคลให้บุคคลอื่นทราบ)

ดังนั้น ข้อมูลที่กรมสรรพากรสามารถเปิดเผยได้ จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับ Data Governance และข้อมูลที่เกี่ยวกับการวิจัยต่างๆ ในอนาคต และเมื่อกรมสรรพากรและ depa วางระบบทุกอย่างเสร็จ กรมสรรพากรจะให้ข้อมูลในส่วนนี้ (ส่วนที่ไม่กระทบกับข้อมูลส่วนบุคคล) เป็น open data สำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ นักวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ต่อไป

หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พฤติกรรมของผู้เสียภาษี เนื่องจากทุกวันนี้กรมสรรพากรมีช่องทางการติดต่อเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น Call center 1161 ช่องทางการยื่นภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึง chatbot น้องอารี กรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้เสียภาษีมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการให้บริการให้ตอบโจทย์ และตรงใจผู้เสียภาษีมากขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวเพิ่มเติมว่า

การออกแบบโครงสร้างหรือระดับของข้อมูล ขอยืนยันว่า ข้อมูลที่เป็นความลับหรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล จะยังเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัด และจะไม่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน ข้อมูลที่ depa ร่วมกับสรรพากรจะเป็นข้อมูลเพื่อการออกแบบ วางแผน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน และจะทำให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต

2. ให้กรมสรรพากรยกตัวอย่างการนำ Data Analytics ไปใช้ สำหรับการค้นหาผู้เสียภาษีที่อยู่นอกระบบ เช่นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ ร้านค้าทั่วไป 
A: ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า 

กรมสรรพากรตั้งใจพัฒนา Data Analytics เพื่อตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ

  • ยกระดับการบริการให้ตรงใจ
  • ออกนโยบายให้ตรงกลุ่ม
  • เก็บภาษีให้ตรงเป้า

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และคนส่วนใหญ่อาจจะกลัวระบบ Data Analytics เนื่องจากกลัวว่าหากกรมสรรพากรได้ข้อมูลแล้ว กรมสรรพากรอาจจะมาเก็บภาษีรึเปล่า? ในความเป็นจริงแล้วหัวใจของการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการจัดเก็บภาษี เป็นไปเพื่อเพิ่มบริการให้ตรงใจเท่านั้น

โดยกรมสรรพากรเชื่อว่ากลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่ได้ตั้งใจจะหลบภาษี เพียงแต่อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้น การที่กรมสรรพากรนำ Data Analytics มาใช้ จะช่วยให้สามารถให้บริการให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รู้ว่า เมื่อขายของออนไลน์ต้องทำอะไรบ้าง? และให้บริการได้ง่ายขึ้นเป็นอย่างไร

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการจะหลบภาษี แต่อาจจะเป็นเพราะระบบของกรมสรรพากรเอง ที่อาจจะยากเกินไป ดังนั้น โจทย์ในการทำ Data Analytics ของกรมสรรพากรจะต้องตอบโจทย์ข้อนี้เป็นอย่างแรก

แต่สำหรับคนที่ตั้งใจหลบภาษี หน้าที่ของกรมสรรพากรคือ การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษีในระบบ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่เขียนจดหมาย หรือร้องเรียนผ่านระบบของกรมสรรพากร ว่าตัวเองเสียภาษีถูกต้อง มีร้านค้าถูกต้อง แต่ร้านข้างๆ ไปขายของออนไลน์หมด ไม่เสียภาษีเลย จึงเกิดคำถามว่า ตัวเองต้องเสียภาษีทำไม? ส่วนตัวคิดว่า ถ้ากรมสรรพากรนิ่งเฉยตรงนี้ อาจจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม 

และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียมกัน ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครที่อยากจ่ายภาษี และประเทศไทยอาจจะไม่มีเงินภาษีไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น ถ้าเราปล่อยให้สังคมเกิดการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดคนโกงภาษี หรือคนเสียภาษี อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศได้

ซึ่ง Data analytics จะช่วยตอบโจทย์การค้นหาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ในแง่ของ

  • การให้บริการที่ดีขึ้น ทำให้ภาษีง่ายขึ้น
  • สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จงใจหลบเลี่ยงภาษี กรมสรรพากรจะใช้ Data Analytics เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษีขึ้นด้วย
3. กรมสรรพากรคาดว่า Data Analytics จะช่วยให้กรมสรรพากรเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนเท่าไหร่?
A: ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า 

กรมสรรพากรไม่เคยคิดที่จะตั้งเป้าว่าจะเก็บภาษีออนไลน์เท่าไหร่ เพราะไม่มีเป้าในการจัดเก็บภาษีออนไลน์แต่แรก สิ่งที่กรมสรรพากรต้องการคือ ต้องการให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี จัดการภาษีให้ถูกต้อง ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย และเกิดความเป็นธรรม ดังนั้น เป้าหมายในการจัดเก็บภาษีออนไลน์ คือ ไม่มี 

ทั้งหมดนี้คือ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Data Analytics ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้น และในฐานะผู้เสียภาษีเราอาจจะต้องคอยดูอีกทีว่า ระบบ Data Analytics จะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถจัดการภาษีได้ง่ายขึ้นอย่างไร และหากมีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบต่อไป 

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)