เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในสังคม ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ และหนึ่งในมาตรการของรัฐบาล คือ มาตรการชดเชยรายได้ สำหรับบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดีว่า หากต้องการรับเงินเยียวยาจาก มาตรการชดเชยรายได้ สำหรับบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะต้องทำการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com และหากผ่านการพิจารณา คุณจะได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐจำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เมษายน – มิถุนายน 2563) นั้น มีความคืบหน้าจากมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน 2563 ดังนี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า
วันนี้ (7 เมษายน 2563) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ขยายความช่วยเหลือ ผ่านมาตรการชดเชยรายได้ สำหรับบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน โดยจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนและได้รับอนุมัติตามระบบต่อไป
ระยะเวลารับเงินเยียวยาเดิม | ระยะเวลารับเงินเยียวยาใหม่ |
เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 | เดือนเมษายน – กันยายน 2563 |
ส่วนเรื่องการขยายจำนวนผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น 9 ล้านคนหรือไม่นั้น อาจจะต้องพิจารณาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนที่อยู่ในระบบตอนนี้ก่อน ซึ่งอาจจะต้องรอติดตามสถานการณ์กันอีกครั้ง
มาตรการช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถลงทะเบียนรับเงิน 5,000 ได้ ประกอบไปด้วย
1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
สำหรับเกษตรกรที่ไม่เข้าเกณฑ์และไม่สามารถลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท จากมาตรการชดเชยรายได้นั้น อาจจะต้องใช้หลักครัวเรือนตามที่เคยดูแลมาก่อนหน้า ซึ่งรายละเอียดและรูปแบบการชดเชยรายได้นั้น อยู่ในขั้นตอนที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่
2. มาตรการช่วยเหลือการเลิกจ้างงาน
แบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 มาตรการ คือ
- มาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่นายจ้าง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่เจ้าของกิจการและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงาน สำหรับผู้ที่ตกงานหรือถูกเลิกจ้าง ที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโควิด-19 หากเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) สามารถลงทะเบียน เพื่อรับเงินชดเชยว่างงาน เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th (ดูวิธีการลงทะเบียนได้ที่ ลงทะเบียนว่างงาน-covid19)
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ฉุกเฉิน ณ วันที่ 7 เมษายน 2563 ประกอบไปด้วย
วันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ และ พ.ร.บ. 1 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ได้แก่
1. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยมีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เงินจากแหล่งเงินทุนในประเทศ และกำหนดว่าจะต้องดำเนินการกู้เงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 และให้เป็นการทยอยกู้ ตามวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ โดยจัดแบ่งแผนงานออกเป็น 2 แผนคือ
1.1 ด้านสาธารณสุข และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กำหนดวงเงินไว้ที่ 600,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- มาตรการเยียวยาประชาชน 6 เดือน
- เยียวยาเกษตรกร และ
- ดูแลด้านสาธารณสุข
1.2 ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ครอบคลุมโครงการดูแลและสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ กำหนดวงเงินไว้ที่ 400,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในชุมชน
- สนับสนุนและพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับพื้นที่
2. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจขนาดย่อย (SME) เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
- มาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพ.) และ การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) จะออกมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่กลุ่มธุรกิจ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
3. ดูแลเสถียรภาพการเงิน
ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อใช้ดูและเสถียรภาพทางการเงิน ผ่านการจัดตั้งกองทุนรวม และให้ ธปท. เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม (กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดทุน) เป็นวงเงิน 400,000 แสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า
สำหรับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันนี้ จะถูกนำไปช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการชดเชยรายได้ สำหรับบุคคลที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตามที่มีมติให้ขยายระยะเวลาจ่ายเงินเยียวยา
และสำหรับการกู้เงินที่จะใช้ไปกับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ และโรคระบาดนั้น กระทรวงการคลังจะกู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศก่อนที่จะมีการพิจารณากู้เงินจากต่างประเทศ