ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แท็กซี่ วินมอ’ไซค์ พื้นที่ 29 จว. 5,000 บาท

ทั่วไป

ครม. เห็นชอบ โครงการเยียวยารถสาธารณะ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000-10,000 บาท แท็กซี่ วินมอ’ไซค์ ในพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) 29 จังหวัด ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม

12 ตุลาคม 2564 – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ “โครงการเยียวยารถสาธารณะ” หรือโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัด

ช่องทางการ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา

ลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้าผ่านแอป DLT Smart QUEUE ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2564

เมื่อลงทะเบียนจองคิวเรียบร้อยแล้ว ให้เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตัวเองตามจุดลงทะเบียนต่อไปนี้

  • กรมการขนส่งทางบก อาคาร 6 ชั้น 7
  • กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 4 และ
  • กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ

โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิช่วยเหลือด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ ให้เดินทางมาตามวันเวลาที่จอง ทั้งนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน

หลักฐานที่จำเป็นต้องเตรียมสำหรับลงทะเบียน

  • ใบคำขอเพื่อรับสิทธิช่วยเหลือ (รับที่จุดลงทะเบียน)
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบอนุญาตขับรถสาธารณะ
  • บัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ

กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์ของโครงการเยียวยารถสาธารณะ และจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ

สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมายเยียวยาอาชีพขับรถสาธารณะ

  • ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน
  • ผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน
  • รวม 16,694 คน

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา แท็กซี่ วินมอ’ไซค์ 

  • ประกอบอาชีพรถยนต์รับจ้าง(รถแท็กซี่) รถจักรยานยนต์รับจ้าง
  • มีอายุเกิน 65 ปี
  • ต้องมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก หรือให้กลุ่มแท็กซี่เช่าให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์เป็นผู้รับรอง 
  • อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในระบบประกันสังคม
  • อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด

เงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยา

กลุ่มที่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 10,000 บาท

ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปนี้ จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท จำนวน 2 เดือน รวมเป็นเงิน 10,000 บาท

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. นครปฐม
  3. นนทบุรี
  4. ปทุมธานี
  5. สมุทรปราการ
  6. สมุทรสาคร
  7. ฉะเชิงเทรา
  8. ชลบุรี
  9. พระนครศรีอยุธยา
  10. นราธิวาส
  11. ปัตตานี
  12. ยะลา
  13. สงขลา

กลุ่มที่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ 16 จังหวัดสีแดงเข้มที่ประกาศเพิ่มเติมต่อไปนี้ จะได้รับเงินเยียวคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน

  1. กาญจนบุรี
  2. ตาก
  3. นครนายก
  4. นครราชสีมา
  5. ประจวบคีรีขันธ์
  6. ปราจีนบุรี
  7. เพชรบุรี
  8. เพชรบูรณ์
  9. ระยอง
  10. ราชบุรี
  11. ลพบุรี
  12. สิงห์บุรี
  13. สมุทรสงคราม
  14. สระบุรี
  15. สุพรรณบุรี
  16. อ่างทอง

ช่องทางรับเงินเยียวยา

  • ผู้มีสิทธิรับเงินเยียวจะได้รับเงินโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน หรือโอนตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

รอบจ่ายเงินเยียวยา

  • รอบแรก 8-12 พฤศจิกายน 2564
  • รอบสอง 22-26 พฤศจิกายน 2564

รัฐบาลเยียวยาอาชีพขับรถสาธารณะ วงเงิน 166.94 ล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่สีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) 29 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน

โดยกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยคาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่าง 8 – 12 พฤศจิกายน 2564 และจ่ายเงินรอบสอง ระหว่าง 22 – 26 พฤศจิกายน 2564

“โครงการฯ ดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)