เทรนด์การตลาดโลกหลังโควิด – ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

ทั่วไป

สรุปเนื้อหาจากงาน “iTAX 2020 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี” เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2563

ไม่ว่าใครก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิดทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำงาน การใช้เวลาว่าง ไปจนถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เจ้าของธุรกิจและนักการตลาดจึงควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 และศึกษาเทรนด์การตลาดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตรปริญญาโทด้านแบรนด์และการตลาด (ภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งปันเทรนด์การตลาดโลกในยุคหลังโควิด-19 ในงาน iTAX 2020 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี ว่าสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจต่างๆ เป็นอย่างไร ควรปรับตัวไปในทิศทางใดเพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ และเทรนด์การตลาดที่น่าสนใจในสถานการณ์โควิด-19 มีอะไรบ้าง

 

(อาจ) ไม่มีโอกาสในวิกฤติโควิด-19

ดร.เอกก์ กล่าวถึงสถานการณ์ของธุรกิจต่างๆ ในสถานการณ์โควิดว่าภาพรวมยังดูไม่ดีนัก กิจการยักษ์ใหญ่หลายกิจการล้มละลายหรือปิดกิจการไปหลายกิจการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกิจการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว หรือสายการบิน นอกจากนี้ยังมีการประมาณการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ว่าจะมีความร้ายแรงกว่าความเสียหายในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ถึง 4 เท่าเนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยวลดลงอย่างมากพร้อมๆ กัน 

“อยู่นิ่งๆ จนกว่าหน้าหนาวจะผ่านพ้นไปแล้วจึงกลับมาเติบโตอีกครั้ง”

นี่อาจเปรียบเสมือน ‘ฤดูหนาว’ ของเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงยังไม่ควรตั้งคำถามว่าเราจะเติบโตอย่างไรแต่ควรเน้นไปที่การเอาตัวรอดก่อน “อยู่นิ่งๆ จนกว่าหน้าหนาวจะผ่านพ้นไปแล้วจึงกลับมาเติบโตอีกครั้ง” ดร.เอกก์เปรียบเทียบ

ลืมของเก่าแล้วไปต่อ

‘เมื่อมีโควิดเข้ามา บางอย่างที่เราเคยรู้มาก็ต้องเปลี่ยนหมด’ ดร.เอกก์กล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจที่เคยเป็นที่จับตามองอย่างเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ sharing economy ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาก่อนมีการระบาดของโควิด-19 เช่น แกร็บ อูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี หรือพื้นที่ทำงานแบบ co-working space ต่างๆ ก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากผู้ใช้งานคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่มั่นใจที่จะใช้ของ/พื้นที่ร่วมกับผู้อื่น ทำให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดต้องลืมหลักการเก่าๆ ที่เคยใช้มาบ้าง แล้วมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ

เทรนด์การตลาด 5 จ. ในยุคโควิด-19

ถึงแม้จะหวังการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้มาก แต่เทรนด์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดรับกับสถานการณ์ก็ยังมีให้นักการตลาดและผู้ประกอบการเห็นเป็นแนวทางเพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง โดย ดร.เอกก์สรุปออกมาเป็นเทรนด์การตลาด 5 จ. ให้จำง่าย ดังนี้

1. จับกระแส

นักการตลาดตามตำรามักกล่าวว่า ‘อย่าตามกระแส’ เพราะกระแสนั้นมาเร็วไปเร็ว แต่ในปัจจุบันที่ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างแพร่หลาย กระแสที่ปรากฎขึ้นในโลกออนไลน์ก็สามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมหาศาล ดังนั้นถึงจะเป็นระยะสั้นๆ แต่การจับกระแสก็ทำให้ธุรกิจของเราเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การคาดหมายอะไรๆ ในระยะยาวดูจะเป็นไปแทบไม่ได้ ‘กระแส’ ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของนักการตลาด

“ไม่ต้องแปลกใจที่ตอนนี้คนในสังคมคิดกันคนละอย่าง ขนาดขำยังขำกันคนละเรื่องเลย”

ด้วยอัลกอริทึมของสื่อออนไลน์ปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์แต่ละชนิดกลับได้รับ ‘สาส์น’ หรือเนื้อหาที่แตกต่างกันเกือบสิ้นเชิง เช่นถ้ามีกระแสอะไรเริ่มขึ้นมาในโลกออนไลน์ คนจะรู้จักมันบนติ๊กต็อก (TikTok) ก่อน หลังจากนั้นจะไปอยู่บนทวิตเตอร์ (Twitter) หลังจากนั้นจะไปอยู่บนอินสตาแกรม (Instagram) แล้วสุดท้ายจะไปอยู่บนเฟซบุ๊ก (Facebook) คนที่ใช้งานติ๊กต็อกกับคนที่ใช้งานเฟซบุ๊กก็จะมีอารมณ์ขันที่ต่างกันเพราะสื่อที่เสพเป็นคนละอย่างกัน “ไม่ต้องแปลกใจที่ตอนนี้คนในสังคมคิดกันคนละอย่าง ขนาดขำยังขำกันคนละเรื่องเลย” ดร. เอกก์กล่าว

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้คนพูดถึงอะไรอยู่บนโลกออนไลน์? เครื่องมือสำรวจเทรนด์ออนไลน์สำหรับนักการตลาด เช่น BuzzSumoGoogle Trends และ Wisesight Trends 

2. จิกลูกค้า

นักการตลาดมักกล่าวว่า ‘อย่าจิกลูกค้า’ เพราะจะทำให้ลูกค้ารู้สึกอึดอัดและทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจเสียไป

แต่ในปัจจุบันสื่อออนไลน์ทำให้การจิกลูกค้าง่ายขึ้นและไม่อึดอัดเท่าแต่ก่อนโดยวิธีการคือการยิงโฆษณาลงบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ หากลูกค้าค้นหาอะไรบนอินเตอร์เน็ต นักการตลาดก็ควรใช้ข้อมูลนี้ให้เป็นประโยชน์ เครื่องมือในการสำรวจความสนใจของลูกค้า เช่น Facebook Pixel และ Google Tag Manager

3. จับกลุ่ม

นักการตลาดที่ดีควรตอบได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร พวกเขาจะไปรวมตัวกันอยู่ที่ไหน การทำการตลาดออนไลน์ก็เช่นกัน

ปัจจุบันในช่องทางออนไลน์ต่างๆ จะมีกลุ่มที่รวบรวมผู้ที่มีความสนใจคล้ายๆ กันอยู่มากมาย เช่น กลุ่มเฟซบุ๊กคนรักสุนัข กลุ่มไลน์แม่และเด็ก ซึ่งจะทำให้นักการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้ง่ายขึ้น วิธีการค้นหาก็ไม่ยาก เพียงค้นหาคำสำคัญ เช่น รวม Facebook group คนรักสุนัข เป็นต้น 

4. จริงใจ

การทำการตลาดอย่างจริงใจ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆ สามารถดึงจุดเด่นของตนเองออกมาและเอาชนะธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เช่น ร้านขายของชำพี่บิ๊กเต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นกันเองและสร้างจุดเด่นของร้านโดยการเขียนแนะนำสินค้าต่างๆ ลงบนกระดาษโพส-อิทแล้วแปะไว้ตามชั้นวางสินค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจในความจริงใจ ใส่ใจ และทำให้ธุรกิจของพี่บิ๊กเต้โดดเด่นกว่าร้านสะดวกซื้อธรรมดาๆ

5. จุนเจือ (สังคม)

เทรนด์การตลาดที่น่าสนใจในมุมมองของ ดร. เอกก์อย่างสุดท้าย คือ การตลาดแบบจุนเจือสังคม เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทยที่มีบริการส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยไปที่โรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์

ในวันที่ทุกคนต่างมีปัญหา การทำธุรกิจแบบเราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกคนมากที่สุด

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)