เปิด ‘เงินเดือนนายกรัฐมนตรี’ ถ้าถามถึงประเด็นร้อนแรงที่คนในสังคมให้ความสนใจอย่างมากมายนั้น คงหนีไม่พ้นการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนน 500 : 244
iTAX เชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้เสียภาษีจำเป็นที่จะต้องรับรู้ก็คือ เงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะได้รับ มาดูกันดีกว่าว่า ผู้นำประเทศของเราได้รับ เงินเดือนนายกรัฐมนตรี อัตราเดือละเท่าไหร่?
เงินเดือนนายกรัฐมนตรี ได้เงินเดือนละเท่าไหร่?
อย่างที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า นายกรัฐมนตรีนั้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล หรือหัวหน้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งคือบุคคลที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐสภา ให้สามารถใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมือง กำหนดนโยบาย รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้เสนอไว้แก่รัฐสภาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ
เว็บไซต์ www.parliament.go.th ได้ระบุอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ไว้ดังต่อไปนี้
เงินเดือนนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
ตำแหน่ง |
อัตราเงินเดือน |
อัตราเงินประจำตำแหน่ง (บาท/เดือน) |
รวม (บาท/เดือน) |
นายกรัฐมนตรี | 75,590 | 50,000 | 125,590 |
รองนายกรัฐมนตรี | 74,420 | 45,500 | 119,920 |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีประจำสำนักนายก | 73,240 | 42,500 | 115,740 |
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง | 72,060 | 41,500 | 113,560 |
นอกจาก เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้วนั้น นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่างๆ ยังสามารถเบิกค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุม ได้อีกด้วย (เพิ่มเติมได้ที่ เงินเดือน ส.ส.)
นายกฯลั่น! ไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เอาไปใช้แก้โควิดแทน
ทำความรู้จัก ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีมีขึ้นครั้งแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475) โดย ณ ขณะนั้นเรียกว่า “ประธานคณะกรรมการคณะราษฎร” ตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาประชาธิปกลงพระปรมาภิไธยใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงเปลี่ยนมาเรียก “นายกรัฐมนตรี”
นายกรัฐมนตรีคนแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้ แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
1. ว่าด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 159
2. นายกรัฐมนตรีกับการดำรงตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีจะสามารถดำรงตำแหน่งรวมกันได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม (ไม่นับรวมระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ต่อหลังพ้นตำแหน่ง)
3. การพิจารณาผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลที่มีคุณสมบัติถูกต้อง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีของสภาผู้แทนราษฎร
4. การรับรองการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการรับรองการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
5. การลงมติของ ส.ส. ที่เห็นชอบในการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกฯ
ในการลงคะแนนเสียง หรือลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องเป็นการลงคะแนนอย่างเปิดเผย และจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ที่มาของนายกรัฐมนตรี กับเรื่องน่าสนใจ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ได้กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนแล้วนั้น เราไม่สามารถมองข้ามบัญญัติบทเฉพาะกาลไปได้ เพราะในมาตรา 272 ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วง 5 ปีแรก สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการพิจารณาเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นผู้มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น เนื่องจาก ประชาชนเป็นผู้เลือก ส.ส. มา ทำให้ ส.ว. จึงมีหน้าที่เพียงการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่เสนอมาได้นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี (นายกฯ คนนอก) ได้ตามมาตรา 272 แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 251 เสียง จาก 500 เสียงขึ้นไปเท่านั้น (ข้อมูลจาก library2.parliament.go.th)
ทั้งหมดนี้คือ เงินเดือนและค่าตอบแทนที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะได้รับ และหากมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต iTAX จะรีบอัปเดตให้ผู้เสียภาษีทราบต่อไป