เงินคืนภาษี ของเรา อยู่ในสถานะไหนแล้ว?

ทั่วไป

เงินคืนภาษี ของเราอยู่สถานะไหนแล้ว? การยื่นภาษีเงินได้ประจำปี 2564 (ยื่นในปี 2565) สามารถยื่นและชำระภาษีได้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 (กรณียื่นผ่านระบบ e-filing ของกรมสรรพากร) แต่สำหรับคนที่ทำการยื่นภาษีไปแล้ว และกำลังรอเงินคืนภาษีอย่างใจจดใจจ่อ และอยากรู้ว่าเงินคืนภาษีเราจะเข้าบัญชีเมื่อไหร่ iTAX มีคำตอบ

วิธีเช็กสถานะ เงินคืนภาษี

  • เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเลือก “บริการสอบถามข้อมูล การขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91” หรือคลิก www.rd.go.th
  • กรอกข้อมูลส่วนตัว ประกอบไปด้วย เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, ชื่อผู้เสียภาษี (แบบไม่ต้องระบุคำนำหน้า) , ชื่อสกุล (นามสกุล)
  • กดสอบถาม
  • หลังจากนั้นคุณจะได้พบกับสถานะของเงินคืนภาษี ที่คุณกำลังรออยู่

หมายเหตุ : กรณีที่ยื่นภาษีผ่านกระดาษ จะสามารถเช็กสถานะเงินคืนภาษีได้หลังจากยื่นแบบฯ 1 วัน

ยื่นภาษีไว แต่ทำไมได้คืนภาษีช้า?

การจะได้เงินคืนภาษีช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับความถูกต้องของข้อมูลเป็นหลัก หลายๆ ครั้งเรามักจะพบสาเหตุที่ทำให้ได้เงินคืนภาษีช้าอยู่ไม่กี่สาเหตุ หลักๆ ก็คือ

1. ข้อมูลไม่ถูกต้องหรือ ยื่นภาษีไม่ครบ

เช่น ลืมกรอกข้อมูลรายได้บางส่วน ทำให้ข้อมูลภาษีที่คุณยื่นไป กับข้อมูลที่เจ้าหน้าที่มีไม่ตรงกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลก่อนคืนภาษีนานขึ้น จึงทำให้คุณรอเงินคืนภาษีนานกว่าที่ควรจะเป็น

2. เจ้าหน้าที่ขอเอกสารเพิ่มเติม แต่เราไม่รู้

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในฤดูกาลยื่นภาษี เพราะผู้เสียภาษีหลายๆ คนเมื่อทำการยื่นภาษีเสร็จแล้ว มักจะไม่ได้ติดตามสถานะต่อว่าจะต้องจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อไม่ทราบจึงทำให้เกิดการส่งเอกสารล่าช้า จึงเป็นเหตุให้คุณได้รับเงินคืนภาษีช้าไปด้วย

ในกรณีนี้ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะสิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงส่งเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร้องขอ โดยสามารถเลือกส่งเอกสารได้ทั้งผ่านระบบออนไลน์ (ไฟล์ PDF) , FAX หรือระบบไปรษณีย์ ตามที่คุณสะดวกได้ (ดาวน์โหลดใบนำส่งเอกสารได้ที่ refundedcheque.rd.go.th)

3. กดยื่นแบบฯ มากกว่า 1 ครั้ง

ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีครั้งแรกไปแล้ว แต่นึกขึ้นได้ภายหลังว่า ยื่นรายได้ไม่ครบ หรือ กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนไม่ครบถ้วนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณได้เงินคืนภาษีช้าเช่นกัน นั่นก็เพราะว่า เมื่อคุณทำการยื่นภาษีใหม่ การเข้าคิวเพื่อรอตรวจสอบข้อมูลและรับเงินคืนภาษีก็ต้องเริ่มใหม่อีกเช่นกัน

ดังนั้น ก่อนจะทำการยื่นภาษี เราแนะนำให้คุณเตรียมเอกสารที่ระบุข้อมูลรายได้ ค่าลดหย่อนที่คุณมีไว้ให้เรียบร้อย เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องทำการยื่นภาษีหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ต้องรอเงินคืนภาษีนานกว่าที่ควรจะเป็น

4. ไม่มีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน

ในกรณีที่คุณไม่ได้ทำการสมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนไว้ กรมสรรพากรจะทำการคืนภาษีโดยการส่งหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ค.21) ให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลารอคอยนานกว่ารับเงินคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์

นั่นหมายความว่า หากคุณอยากได้รับเงินคืนภาษีเร็วขึ้น คุณจะต้องทำการสมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขประชาชนให้เรียบร้อย ทั้งนี้ก็เพราะ กรมสรรพากรยืนยันว่า หากคุณยื่นภาษีออนไลน์ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และไม่เคยมีประวัติหลบเลี่ยงภาษี หรือ รายได้ คุณจะได้รับเงินคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ภายใน 3 วัน (เพิ่มเติม เงินคืนภาษี 3 วัน)

ทั้งนี้ คุณสามารถสมัครบริการพร้อมเพย์หลังจากทำการยื่นภาษีและขอเงินคืนภาษีได้ภายใน 30 วัน เพราะหากสรรพากรตรวจพบบัญชีพร้อมเพย์ของคุณ สรรพากรจะโอนเงินคืนเงินภาษีให้คุณผ่านพร้อมเพย์เช่นกัน

เงินคืนภาษี มาจากไหน? ทำไมถึงได้ภาษีคืน?

ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่า สาเหตุที่ทำให้คุณได้รับเงินคืนภาษี ก็เป็นเพราะว่า ในระหว่างปีคุณถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปมากกว่าภาษีที่คุณมีหน้าที่ต้องจ่าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คุณได้รับเงินคืนภาษีหลังจากทำการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี และแน่นอนว่า เงินคืนภาษีไม่ใช่โบนัสจากรัฐบาลหรือกรมสรรพากรแต่อย่างใด

ขอคืนภาษีได้ตอนไหนบ้าง? 

โดยปกติแล้ว การขอคืนเงินภาษีสามารถทำได้ 2 ช่วงเวลา คือ

  • ขอคืนภายในระยะเวลายื่นภาษี เป็นช่วงเวลาที่หลายๆ คนมักจะทำการขอคืนเงินภาษีหลังจากที่ทำการยื่นภาษีแล้วทันที
  • ขอคืนหลังครบกำหนดยื่นภาษี ในกรณีที่คุณทำการยื่นภาษีไปแล้ว และนึกขึ้นได้ทีหลังว่ายังไม่ได้ทำการขอคืนเงินภาษีที่จ่ายเกินไปก็สามารถทำได้ แต่มีข้อแม้ว่า คุณจะต้องทำการขอคืนเงินภาษีภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดยื่นภาษี (อ้างอิง มาตรา 27 ตรี ประมวลรัษฎากร)

ข้อควรระวัง 

  • ในกรณีที่กรมสรรพากรต้องการเอกสารเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะออกหนังสือแจ้งไปถึงผู้เสียภาษีเท่านั้น กรมสรรพากรไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลทางการเงินของผู้เสียภาษี เพื่อทำการขอคืนเงินภาษีหรือทำธุรกรรมที่ตู้ ATM แต่อย่างใด
  • ปัจจุบันกรมสรรพากรมีช่องทางในการคืนเงินภาษีเพียง 2 ช่องทาง คือ  คืนเงินภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน และ คืนเงินภาษีผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารที่กรมสรรพากรกำหนดเท่านั้น

และสำหรับผู้เสียภาษีที่มีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลหรือติดตามสถานะเงินคืนภาษี สามารถติดต่อได้ที่ call center 1161 หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทั่วประเทศ

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)