เข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดย พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ได้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเอาไว้ทั้งหมด
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้จะต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเป็นผู้มีสิทธิเลือกต้ังในวันที่เสนอกฎหมาย โดยสามารถสรุปคุณสมบัติได้ดังนี้
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด หรือแปลงสัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน
- ไม่ได้เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- ไม่ได้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
- ไม่ได้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ไม่ได้เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
หากมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้าม ย่อมมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้
จำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่จำเป็นต้องใช้
- เสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ – ใช้อย่างน้อย 10,000 ชื่อ
- เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ – ใช้อย่างน้อย 50,000 ชื่อ
เนื้อหาที่ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้
กรณีเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
ประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเนื้อหาต่อไปนี้
- สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
- หน้าที่ของรัฐ
- กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
ทั้งนี้ การเสนอกฎหมายต้องจัดทำเป็น “ร่างพระราชบัญญัติ” หรือ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่แบ่งเป็นมาตราท่ีชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่ามีความประสงค์จะตรากฎหมายในเรื่องใด
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้สำหรับเสนอกฎหมาย
- ร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญ
- บันทึกหลักการของร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญ
- บันทึกเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญ
- บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เอกสารข้างต้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนเดียวหรือหลายคนสามารถทำร่างกฎหมายเองได้ หรือจะขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นจัดทำให้ประชาชนก็ได้ แต่ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันอย่างน้อย 20 คนเข้าชื่อร้องขอ (หรือ 120 คน ถ้าเป็นการร้องขอให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม)
เมื่อได้รับคำร้องขอแล้ว สำนักงานฯ จะต้องทำให้เรียบร้อยภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ อย่างไรก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) สามารถขยายระยะเวลาจัดทำได้ แต่สำนักงานฯ จะต้องจัดทำเอกสารทั้งหมดให้เรียบร้อยภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
กระบวนการเสนอกฎหมาย
1. รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนขั้นแรกเสนอประธานสภาพิจารณาเนื้อหา
เมื่อจัดทำร่างกฎหมายและเอกสารเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 20 คนที่ริเริ่มเสนอกฎหมายดังกล่าว (หรือ 120 คน กรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) เตรียมเอกสารที่แสดงรายชื่อ เลขบัตรประชาชน และลงลายมือชื่อของตนให้เรียบร้อยเพื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) พิจารณาในขั้นแรกต่อไป
2. รอผลการพิจารณาจากประธานสภา
ประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) ต้องพิจารณาเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยผลการพิจารณาเป็นไปได้ 2 ทาง ดังนี้
- พิจารณาให้ผู้เสนอกฎหมายดำเนินการต่อไปได้ – กลุ่มผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายจะมีสถานะเป็นผู้เชิญชวน (Promoter) สามารถรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิเลือกตั้งสามารถมาร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ครบจำนวนต่อไป
- พิจารณาว่าเนื้อหาไม่อยู่ที่ในเกณฑ์ที่ประชาชนเสนอกฎหมายได้ – อาจเกิดจากเนื้อหาของร่างกฎหมายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หน้าที่ของรัฐ หรือเป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในกรณีนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) จะส่งเรื่องคืนพร้อมแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบเป็นหนังสือ
3. รณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้ครบจำนวน
รูปแบบการรณรงค์
การรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมายนั้น สามารถทำได้ทั้งรูปแบบหนังสือแบบ offline หรือทำผ่านสื่อ online ก็ได้ เช่น Facebook, Twitter, LINE, อีเมลหรือเว็บไซต์ของผู้เชิญชวนก็ได้
นอกจากนี้ หลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็สามารถทำได้ทั้งรูปแบบกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ภาพถ่าย อีเมล กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเชิญชวนให้เข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว ห้ามแก้ไขหลักการหรือข้อความในร่างกฎหมายดังกล่าว ยกเว้นการแก้ไขข้อความผิดพลาดที่ไม่ใช่สาระสำคัญ
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการรณรงค์ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ในระหว่างการรณรงค์ ผู้เชิญชวนจะต้องแสดงเผยแพร่เอกสารต่อไปนี้ให้ผู้ที่สนใจเข้าชื่อเข้าถึงได้ด้วย
- ร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ)
- บันทึกหลักการของร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ)
- บันทึกเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ)
- บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ/ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ)
หลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ถูกต้อง
ในกรณีกลุ่มผู้เชิญชวนเป็นผู้รวบรวมหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หลักฐานการเข้าชื่อฯ จะต้องมีข้อมูลของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายปรากฏบนเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ โดยจะอยู่ในรูปแบบกระดาษหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
- ชื่อ นามสกุล
- เลขบัตรประชาชน
- ข้อความที่แสดงให้เห็นว่าตนสมัครใจร่วมในการเสนอร่างกฎหมายนั้น และ
- ลายมือชื่อ
เมื่อผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อบนหลักฐานเข้าชื่อเสนอกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ให้ส่งไปให้ผู้รับตามสถานที่หรือช่องทางที่ผู้เชิญชวนกำหนดไว้ (จะเป็นรูปแบบ offiline หรือสื่อออนไลน์ก็ได้) เพื่อรวบรวมให้ครบจำนวนและดำเนินการเสนอร่างกฎหมายในขั้นตอนต่อไป
หมายเหตุ: กลุ่มผู้เชิญชวนสามารถเลือกใช้สิทธิร้องขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
4. เสนอกฎหมายหลังจากมีผู้เข้าชื่อครบจำนวนแล้ว
เมื่อได้รายชื่อครบจำนวนแล้ว ให้ผู้เชิญชวนอย่างน้อย 1 คน เตรียมเอกสารต่อไปนี้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ)
- หนังสือเสนอร่างกฎหมาย
- เอกสารประกอบร่างกฎหมาย
- หลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- รายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- กรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีรายชื่อผู้แทนการเสนอกฎหมายอย่างน้อย 20 คน แต่ไม่เกิน 30 คน
- กรณีเสนอร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นให้เสนอได้ไม่เกิน 10 คน
หมายเหตุ: หากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับและรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ต้องแนบรายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย แต่ให้สำนักงานฯ ออกหนังสือรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายแทน
5. ตรวจสอบความถูกต้องของร่างกฎหมายและหลักฐานการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
เมื่อได้รับเรื่องแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎร (หรือประธานรัฐสภากรณีเสนอแก้รัฐธรรมนูญ) จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่ได้รับให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน
หากพบว่าหลักการหรือเอกสารหลักฐานใดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ก็ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เชิญชวนให้แก้ไขให้เรียบร้อยภายในเวลาที่กำหนด และเมื่อดำเนินการเรียบร้อยก็ให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาเป็นกฎหมายตามกระบวนการต่อไป
แต่ถ้าพ้นกำหนดดังกล่าวไปแล้วยังดำเนินการไม่เรียบร้อย ให้ยุติการดำเนินการและส่งเรื่องคืนผู้เชิญชวน
หมายเหตุ
- กรณีตรวจพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อ เมื่อหักลายมือชื่อปลอมดังกล่าวออกแล้วยังมีจำนวนผู้เข้าชื่อครบ ให้ดำเนินการต่อได้
- แม้จะพบว่าผู้เข้าร่วมขอถอนชื่อของตนหรือเสียชีวิตหลังจากยื่นเรื่องไปแล้ว ให้ถือว่าการ เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ของบุคคลเหล่านั้นยังคงมีผลอยู่
แบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเตรียมตัวอย่างแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งมีแบบฟอร์มดังต่อไปนี้
- ตัวอย่าง-หนังสือแจ้งความประสงค์ขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ช่วยเหลือในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ
- ตัวอย่าง-หนังสือขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติ
- ตัวอย่าง-หนังสือยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติ
- ตัวอย่าง-หนังสือขอให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรช่วยเหลือในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ
- ตัวอย่าง-หนังสือส่งร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเสร็จแล้ว
- ตัวอย่าง-หลักฐานการลงลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
- ตัวอย่าง-แบบคำร้องขอให้สำนักงานฯ ดำเนินการรับ และรวบรวมหลักฐานการร่วมเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ
- ตัวอย่าง-หนังสือขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นคำร้องภายหลังชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน
- ตัวอย่าง-หนังสือยื่นคำร้องภายหลังชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน
- ตัวอย่าง-หนังสือขอยื่นเอกสารการลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มเติม