เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. กรมสรรพากรโดยคุณเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร และคุณสาโรช ทองประคำ ผอ.กองกฎหมาย แถลงข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายที่กรมสรรพากรต้องการดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้อง สรุปสาระสำคัญที่เจ้าของกิจการต้องรู้มีดังนี้
ธุรกิจแบบไหน ถึงเข้าข่ายได้รับการยกเว้นค่าปรับ
ออกตัวก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิเฉพาะการทำธุรกิจในนาม นิติบุคคล เท่านั้น (จดทะเบียนบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน) โดยมีเงื่อนไขต่อไปนี้
1. ต้องเป็นกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท
บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ก็ต่อเมื่อมีรายได้ในรอบบัญชีล่าสุด ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ไม่เกิน 500 ล้านบาท
2. ต้องเป็นกิจการที่ยื่นภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.50)
นอกจากจะต้องเป็นกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทแล้ว สรรพากรจะต้องตรวสอบได้ด้วยว่า กิจการของคุณได้ทำการยื่นแบบภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 50) ของรอบบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน 2561 ภายในวันที่ 25 มี.ค. 2562
3. ต้องไม่ใช้ ใบกำกับภาษี ที่ผิดกฎหมาย
กิจการของคุณจะต้องไม่เคยออกใบกำกับภาษี หรือ ใช้ใบกำกับภาษีผิดกฎหมาย และหากสรรพากรตรวจสอบพบว่ากิจการของคุณใช้ใบหรือเคยออกใบกำกับภาษีปลอม คุณจะมีโทษทางกฎหมายด้วย (อ้างอิง ประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) เรื่องเบี้ยปรับมีความผิดทางแพ่ง และ มาตรา 90/4(7) มีโทษทางอาญา เพิ่มเติมที่ www.rd.go.th)
ภาษีที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 31 ธ.ค. 60
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ของเดือน ม.ค. 59 – ก.พ. 62
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ ของเดือน ม.ค. 59 – ก.พ. 2562
- อากรแสตมป์ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 25 มี.ค. 62
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 25 มี.ค. 62
ขั้นตอนการรับสิทธิ์เว้นเบี้ยปรับ-เงินเพิ่มและโทษทางอาญา สำหรับ SME
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี เพราะคุณยังคงต้องชำระค่าภาษีที่ค้างจ่ายอยู่ แต่จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ถูกเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษทางอาญา
มาตรการนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจ SME เข้าสู่ระบบ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหันกลับมาจ่ายภาษีให้ถูกต้องกันมากขึ้น และเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการสามารถรับสิทธิ์ได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. ลงทะเบียนที่เว็บไซต์กรมสรรพากร newstartup.rd.go.th ตั้งแต่ 1 เม.ย. 62 – 30 มิ.ย. 62
2. ทำการยื่นภาษีย้อนหลังที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง ได้แก่
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 31 ธ.ค. 60
- ภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือน ม.ค. 59 – ก.พ. 62
- ภาษีธุรกิจเฉพาะของเดือน ม.ค. 59 – ก.พ. 62
- อากรแสตมป์ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 25 มี.ค. 62
- ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตั้งแต่ 1 ม.ค. 59 – 25 มี.ค. 62
3. ต้องยื่นขอเสียภาษีอากรเป็นตัวเงิน หรือภาษีย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 พร้อมทั้งจ่ายภาษีย้อนหลังให้ครบทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562
4. หลังจากลงทะเบียนแล้ว จะต้องยื่นแบบภาษีทุกประเภทผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (E-Filing) ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563
** ขั้นตอนนี้สำคัญมาก หากคุณไม่ทำการยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ตภายในระยะเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด จะไม่ได้รับสิทธิ์ที่สมบูรณ์**
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากกิจการของคุณได้รับหนังสือแจ้งการประเมินฯ จากกรมสรรพากรแล้ว จะไม่ได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
ข้อควรรู้เพิ่มเติม
- เคยลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวเมื่อปี 2559 และมั่นใจว่า ที่ผ่านมายื่นภาษีถูกต้อง คุณสามารถเลือกไม่ลงทะเบียนและยื่นภาษีใหม่ก็ได้
- ในกรณีที่เคยลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวเมื่อ ปี 2559 และที่ผ่านมาไม่ได้ยื่นภาษีให้ถูกต้อง มีการปรับแต่งบัญชี และอยากแก้ไขให้ถูกต้อง คุณสามารถลงทะเบียนและดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นได้
- ในกรณีที่ไม่เคยลงทะเบียนบัญชีชุดเดียวในปี 2559 สามารถลงทะเบียนและดำเนินการขอรับสิทธิ์ได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
- ในกรณีที่คุณมั่นใจว่า ที่ผ่านมามีการยื่นภาษีถูกต้อง และมั่นใจว่าไม่ได้ยื่นภาษีผิดพลาด ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนก็ได้
ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อะไรจากมาตรการนี้?
คุณเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า
“ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์จากการออกมาตรการนี้มีจำนวน 460,000 ราย เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบอีก 60,000 – 70,000 ราย”
นอกจากนี้ สรรพากรยังยืนยันว่า นี่เป็นมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำเนินการทางภาษีให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น
- ธุรกิจของคุณจะมีระบบบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
- ธุรกิจของคุณสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น
- มาตรการนี้จะช่วยลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการประกอบกิจการ และเปลี่ยนต้นทุนเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้
รองอธิบดีกรมสรรพากร ได้ยืนยันว่า
นี่จะเป็นมาตรการสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำบัญชีชุดเดียว และกรมสรรพากรได้ทำการประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาจากบัญชีงบการเงินของกรมสรรพากร
และหลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 62 กรมสรรพากรจะเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ใช้ธุรกรรมเงินสด เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีจากการปรับแต่งงบการเงิน
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณรู้ตัวว่ามีการดำเนินการทางบัญชีที่ผิดมาตลอดในอดีต แต่ไม่ลงทะเบียนรับสิทธิ์และไม่แก้ไขบัญชีให้เรียบร้อย นอกจากคุณจะไม่ได้รับสิทธิ์เว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษทางอาญาแล้ว คุณจะยังได้รับโทษทางกฎหมาย คราวนี้อาจจะต้องรับโทษเต็มๆ เพราะกรมสรรพากรจะไม่ใจอ่อนให้คุณอีกแล้ว
และหากคุณรู้สึกว่า การจดทะเบียนบริษัท และภาษีธุรกิจนั้นมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากเกินไป iTAX sme ช่วยคุณได้ ติดต่อสอบถามค่าบริการ โทร. 062-486-9787