เพราะภาษีเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ว่ายังไงเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และวันนี้ iTAX จะมาอัปเดตตัวเลขการจัดเก็บภาษีในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ให้ผู้เสียภาษีได้รับรู้กันว่า การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเป็นไปได้ดีแค่ไหน จัดเก็บภาษีประเภทใดได้ตรงตามเป้าบ้าง?
กรมสรรพากรเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้า ใน 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – เมษายน 2562) กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้ 956,684 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 22,314 ล้านบาท (คิดเป็น 2.4%) และกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าปีงบประมาณ 2561 ถึง 57,251 ล้านบาท (คิดเป็น 6.4%) และมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรจะสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศให้ยั่งยืน”
กรมสรรพากร กับภาษีที่จัดเก็บได้ ใน 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562
ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ผลจากการเร่งรัดติดตามจัดเก็บภาษีและระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูง ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ 23,695 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 19,525 ล้านบาท
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
มาตรการควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่สอง ส่งผลให้มีการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่กฎหมายควบคุมสินเชื่อบ้านหลังที่สองจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะได้ 36,184 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 2,149 ล้านบาท
อากรแสตมป์
ผลจากการติดตามจัดเก็บภาษีจากการทำสัญญาและตราสารเพิ่มขึ้นตามโครงการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีอากรสแตมป์ได้ 9,447 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้า 424 ล้านบาท
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า
ช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2562 การจัดเก็บภาษีขยายตัวในอัตราชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ผันผวน แต่กรมสรรพากรจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยการส่งเสริมความสมัครใจในการเสียภาษีผ่านการประชาสัมพันธ์บริการดิจิทัล และจะนำ Data Analytics มาใช้ในการติดตามการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และวิเคราะห์ข้อมูลการยื่นแบบเพื่อติดตามให้ผู้ประกอบการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
และกรมสรรพากรจะติดตามผู้ประกอบการรายสำคัญในพื้นที่ และบูรณาการข้อมูลภายในและภายนอก เพื่อเชื่อมโยงไปยังรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และมั่นใจว่ากรมสรรพากรจะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ ได้สูงกว่าเป้าถึง 2 ล้านล้านบาท
เทียบตัวเลขการจัดเก็บภาษีในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ประเภทภาษี | ยอดที่เก็บได้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562(ล้านบาท) | ยอดที่เก็บได้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ล้านบาท) | เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น (ล้านบาท) |
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา | 203,145 | 192,036 | +11,108 (5.8%) |
ภาษีเงินได้นิติบุคคล | 211,188 | 202,424 | +8,764 (4.3%) |
ภาษีปิโตรเลียม | 23,695 | 8,047 | +15,648 (194.5%) |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | 472,510 | 453,469 | +19,041 (4.2%) |
ภาษีธุรกิจเฉพาะ | 36,184 | 34,251 | +1,933 (5.3%) |
ภาษีมรดก | 364 | 168 | +96 (57.1%) |
อากรแสตมป์ | 9,447 | 8,804 | +644 (7.3%) |
รายได้อื่นๆ | 252 | 234 | +18 (7.5%) |
(ข้อมูลจาก https://www.pptvhd36.com)
แน่นอนว่า ภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้นั้นจะถูกใช้ไปกับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และใช่ว่ากรมสรรพากรจะเดินหน้าเก็บภาษีแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังออกมาตรการลดหย่อนภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เสียภาษีมาด้วยเช่นกัน (อัปเดตรายการลดหย่อนภาษีได้ที่ ค่าลดหย่อน) และแน่นอนว่า ผู้เสียภาษีท่านใดที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่าที่สุด คุณสามารถใช้บริการคำนวณภาษีที่ iTAX ก่อนทำการช้อปปิ้ง หรือเลือกสินค้าลดหย่อนภาษีได้ฟรี! (ทั้ง iOS และ Android)