สรุป สภาษี วาระที่ 1 ถ้าภาษีออกแบบได้ หลังจาก iTAXpayer จากต่างสาขาอาชีพมาร่วมกันออกแบบภาษีในอุดมคติของแต่ละคน iTAX จึงสรุปได้เป็น 11 ข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้เสียภาษีจะยินดีจ่ายภาษีมากยิ่งขึ้น
11 ข้อเสนอจากผู้เสียภาษีเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีควรปรับเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ
ผู้เสียภาษีเสนอว่า ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อนภาษี ควรปรับเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น
ค่าลดหย่อนบิดามารดา ผู้เสียภาษีมองว่า ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา 30,000 บาทต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเงิน 30,000 บาทต่อปี ย่อมไม่เพียงพอต่อการดูแลพ่อแม่ 1 คนในสถานการณ์จริงอย่างแน่นอน ผู้เสียภาษีเห็นควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบัน
2. 1 ซอย 1 สรรพากร
ผู้เสียภาษีมีความคิดเห็นว่า ปัจจุบันสำนักงานสรรพากรพื้นที่มีจำนวนน้อย ทำให้ผู้เสียภาษีต้องใช้เวลาเดินทางนาน และหลายครั้งต้องลางานเพื่อติดต่อกับหน่วยงานราชการกับเจ้าหน้าที่สรรพากร จึงอยากให้มีพื้นที่ให้บริการสรรพากรพื้นที่กระจายครอบคลุมอยู่ใกล้ชุมชน เหมือนร้านสะดวกซื้อ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดต่อ
3. พูดเรื่องภาษีเป็นภาษาคน
เพราะภาษีเป็นเรื่องซับซ้อน เข้าใจยาก จึงทำให้ผู้เสียภาษีไม่เข้าใจทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้เสียภาษีโดยตรง ผู้เสียภาษีจึงคิดว่า กรมสรรพากรควรหาวิธีกระจายความรู้ความเข้าใจ ให้เข้าถึงผู้เสียภาษีในภาษีที่เข้าใจง่ายกว่านี้
4. ดึงคนนอกระบบ ให้มาเสียภาษีให้มากขึ้น
ผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบรู้สึกว่า ปัจจุบันการเสียภาษีเป็นภาระของคนกลุ่มน้อยที่อยู่ในระบบเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มที่อยู่นอกระบบกลับไม่เคยถูกภาษีเลย หากภาครัฐสามารถมีแนวทางช่วยเหลือเพื่อดึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ ก็จะเกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีที่อยู่ในระบบด้วยเช่นกัน
5. ถ้าจะจบ ม.6 ต้องมีความรู้ภาษี เป็นภาคบังคับ
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่ผู้เสียภาษี ผู้เสียภาษีจึงคิดตรงกันว่า วิชาภาษีอากรควรถูกบรรจุให้เป็นวิชาบังคับของเยาวชน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ผู้เสียภาษีได้อย่างถูกต้องเมื่อมีรายได้
6. ประชาชนสามารถโต้แย้งการใช้งบประมาณของภาครัฐได้
ผู้เสียภาษีมองว่า ประชาชนควรมีสิทธิในการโต้แย้งการใช้งบประมาณของภาครัฐ และเรียกร้องให้รัฐออกมาชี้แจงเรื่องงบประมาณโดยตรงได้ ทั้งนี้ โครงการต่างๆ ของภาครัฐจะต้องโปร่งใส และให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบงบประมาณของภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างชัดเจน และสามารถกดปุ่ม report เพื่อโต้แย้งได้
และหากมีผู้กด report มากจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงการใช้งบประมาณเพื่อให้ประชาชนได้รับฟังความจำเป็นของโครงการดังกล่าว
7. เลือกได้ว่า อยากให้เงินภาษีไปอยู่ที่หน่วยงานไหน
ใช้หลักการเดียวกับการเลือกให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของผู้เสียภาษี คือ ประชาชนสามารถเลือกได้ว่า โครงการใดของภาครัฐสมควรได้รับการสนับสนุนจากเงินภาษีประชาชน จึงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ที่ต้องนำเสนอโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากประชาชนโดยตรง เพื่อให้การใช้เงินภาษีของประชาชนเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น
8. ถ้ารายได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป ไม่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย รายได้อื่นๆ ก็ไม่ควรถูกหักภาษีเช่นกัน
ผู้เสียภาษีมองว่า ในเมื่อรายได้ที่ได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย รายได้อื่นๆ ก็ไม่สมควรถูกหักภาษีเช่นกัน เช่น
- รายได้จากงานประจำ ที่จะถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยการคำนวณภาษีล่วงหน้าทั้งปี แล้วค่อยมาหักภาษีเป็นงวด ในขณะที่รายได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
ซึ่งผู้เสียภาษีมองว่า เกิดความเสียเปรียบกับคนที่อยู่ในระบบและมีรายได้แน่นอน และทำให้คนที่อยู่ในระบบเสียโอกาสในการนำเงินไปสร้างมูลค่า ในขณะที่รายได้จากธุรกิจสามารถอาศัยความได้เปรียบนี้ นำเงินไปสร้างมูลค่าก่อนนำมาจ่ายภาษี ดังนั้น ผู้เสียภาษีจึงเสนอให้หักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างเท่าเทียมกัน หรือ ยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
9. มีมาตรฐานในการตีความ ลดการใช้ดุลยพินิจ
ผู้เสียภาษีต้องการให้ลดการตีความเพื่อให้เกิดความแน่นอนและความเท่าเทียม เพราะหากกฎหมายมีความชัดเจนแน่นอน จะทำให้ผู้เสียภาษีรู้แนวทางปฏิบัติและสามารถทำทุกอย่างให้ถูกต้องได้โดยไม่เกิดความลังเล สงสัย หรือมีการเลือกปฏิบัติ และลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจของผู้เสียภาษี
10. มีแหล่งข้อมูลภาษีต้นทางอยู่แล้ว ไม่ควรเป็นภาระของผู้เสียภาษีอีก
ข้อมูลที่นำมาใช้ในการเสียภาษีเงินได้ควรเชื่อมโยงจากต้นทางมาเลย เช่น จำนวนเงินได้ ค่าลดหย่อน เพื่อไม่ให้ภาระการพิสูจน์เอกสารอยู่ที่ผู้เสียภาษีเพื่อลดความซ้ำซ้อน และจะได้ไม่ต้องมาขอข้อมูลจากผู้เสียภาษีอีก
เพราะหลายครั้งที่ต้องขอเงินคืนภาษีจะถูกเรียกตรวจสอบเอกสาร ทั้งที่เจ้าหน้าที่สรรพากรน่าจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นจากแหล่งข้อมูลต้นทาง เช่น นายจ้าง สถาบันการเงิน บริษัทประกัน มูลนิธิ ฯลฯ ได้เองอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยให้การขอคืนเงินภาษีเร็วขึ้น แทนที่จะต้องขอตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมซึ่งทำให้ได้รับเงินคืนภาษีที่ช้ากว่าเดิม
11. รัฐต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายไป
ผู้เสียภาษีรู้สึกว่า ปัจจุบันนี้เมื่อจ่ายภาษีไปแล้วผลตอบแทนที่ได้รับจากสวัสดิการภาครัฐต่ำเกินไปจนรู้สึกไม่จูงใจ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับเพียง 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพแน่นอน รวมถึงการนำงบประมาณไปใช้อย่างไม่รู้คุณค่าของเงินที่ประชาชนจ่ายให้ และทำให้เกิดประโยชน์จนประชาชนได้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการให้เกียรติการใช้เงินส่วนรวมและจูงใจให้ร่วมกันจ่ายภาษีเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
แน่นอนว่า หากผู้เสียภาษีต้องการเริ่มต้น คำนวณภาษี คุณสามารถใช้โปรแกรมคำนวณภาษีได้ฟรีที่ app iTAX (โหลดฟรีทั้ง iOS และ Android) และค้นหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้ที่ iTAX shop