ศบค. ประกาศแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนโควิด ปลดล็อกโรงพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาวัคซีนโควิดจากหน่วยงานรัฐมาให้บริการประชาชนได้ ย้ำต้องจัดหาวัคซีนโควิดให้เพียงพอแก่ประชาชนอย่างน้อยกว่า 50 ล้านคน (70% ของประชากร) หรือจำนวน 100 ล้านโดส
จอง วัคซีนโมเดอร์นา ราคา 1,900 ต่อโดส เริ่มนำเข้า ต.ค. 64
วัคซีนจอห์นสัน เตรียมเข้าไทย 25 ล้านโดส หลังนายกฯ ลงนามสั่งซื้อ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีนโควิด “ซิโนฟาร์ม”
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ได้ออกประกาศเรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้
มอบกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหาวัคซีนได้
ศบค. มอบกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้นๆ กำหนด
ดังนี้น หน่วยงานเหล่านี้อาจจัดหาวัคซีนทางเลือกตามความเหมาะสมเองได้ เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม เพื่อให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงสนับสนุนวัคซีนให้โรงพยาบาลเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
ปลดล็อกโรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีนเองได้
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชนอาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคโควิดจากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ เพื่อนำมาให้บริการประชาชนหรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น กรณีที่สมาคม รพ.เอกชน ได้สั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกำหนดราคาโดสละ 1,900 บาท
ปลดล็อก อปท. ใช้งบประมาณท้องถิ่นจัดหาวัคซีนให้คนในพื้นที่ได้
เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนโควิดที่ผลิตหรือนำเข้ามาในไทยยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะจัดหาวัคซีนโควิดมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
ย้ำต้องจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสให้เพียงพอ 50 ล้านคน
ศบค.ประกาศให้มีการจัดหาวัคซีนโควิดที่มีคุณภาพให้เพียงพอแก่ประชาชนอย่างน้อยกว่า 50 ล้านคน (70% ของประชากร) หรือจำนวน 100 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องจัดหาวัคซีนโควิดภายในปีนี้ให้ได้ 100 ล้านโดส
ทุกภาคส่วนเชื่อมโยงข้อมูลกับ ‘หมอพร้อม’ เร่ง อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
ศบค.กำหนดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ศบค. ยังได้กำหนดหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนโควิด ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพด้วย