อ้างอิงมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเห็นชอบให้ลดอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้กับลูกจ้างและนายจ้าง เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระของนายจ้างและผู้ประกันตนนั้น มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 (www.ratchakitcha.soc.go.th)
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46/1 แห่ง พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
1. ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33
นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับการลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 งวด คือ เงินเดือนงวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยกฎหมายกำหนดให้
- นายจ้าง ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 4% หรือ 600 บาท (จากเดิม 5% หรือ 750 บาท)
- ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 1% หรือ 150 บาท (จากเดิม 5% หรือ 750 บาท)
ดังนั้น นายจ้างจึงสามารถปรับลดอัตราเงินสมทบทั้งของนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายสำหรับการจ่ายเงินเดือนงวดมีนาคม – พฤษภาคม 2563 ได้ทันที หากเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาหักเงินสมทบเกินไปและได้นำส่งประกันสังคมไปแล้ว อ่านวิธีขอคืนเงินสมทบส่วนเกิน
2. ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับการลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นระยะเวลา 3 งวด คือ งวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยกฎหมายกำหนดให้
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดือนละ 86 บาท (จากเดิม 432 บาท)
3. กรณีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่าที่กำหนด
กรณีที่นายจ้าง หรือ ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเกินกว่าอัตราการส่งเงินสมทบที่ระบุไว้ในประกาศฯ กฎหมายกำหนดให้ นายจ้างหรือผู้ประกันตนสามารถ ยื่นคำร้องขอรับเงินส่วนเกินคืนได้ที่
- สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัด
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา
ย้ำอีกครั้งว่า : แม้การปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ผู้ประกันตนสามารถมั่นใจได้ว่า แม้จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมน้อยลง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองที่ผู้ประกันตนได้รับอย่างแน่นอน
สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบประกันสังคม งวดเดือนมีนาคมเกิน
นายจ้างและผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดิม ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 หรือ ไม่ได้หักเงินสมทบในอัตราที่ปรับลดแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปเพราะ กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างและผู้ประกันตนสามารถทำเรื่องขอคืนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จ่ายไปเกินได้ โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้
- กรอกเอกสารคำขอรับเงินคืน หรือ สปส. 1-23/1
- นายจ้างจะยื่นแบบขอรับเงินคืน สปส. 1-23/1 ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ (จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประกันสังคม ได้ข้อมูลว่า ไม่แนะนำการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ เนื่องจาก อาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้กระบวนการรับเงินคืนล่าช้ากว่าการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่)
- เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสาร และบันทึกเข้าระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 15 นาที)
- เจ้าหน้าที่พิจารณา และตรวจสอบข้อมูลประกอบการพิจารณาขอรับเงินคืน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 60 นาที)
- เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติและรับเงินคืน หรือ ไม่เสนออนุมัติ พร้อมบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงิน (ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 25 นาที)
หมายเหตุ กระบวนการขอรับคืนเงินสบทบส่วนเกินจะต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงิน หากเลยกำหนด 1 ปีจะไม่สามารถขอคืนได้
อย่างไรก็ดี หากในเดือนมีนาคม 2563 นายจ้างได้หักเงินสมทบไปในอัตรา 5% ตามปกติ และนายจ้างกับลูกจ้างไม่ต้องการขอเงินสมทบคืนก็สามารถทำได้ เนื่องจาก โดยปกติเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้างจะเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินสะสมประกันสังคมของลูกจ้างอยู่แล้ว ส่วนเงินสมทบฝั่งลูกจ้างนอกจากจะเป็นการเก็บสะสมของลูกจ้างเองแล้ว ลูกจ้างยังสามารถนำไปใช้ สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง
สำหรับนายจ้างหรือผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)