ลดจ่ายสมทบประกันสังคม ม.33 เหลือ 1% เริ่ม พ.ค.- ก.ค.65

ทั่วไป

ที่ประชุม ครม. มีมติ ลดจ่ายสมทบประกันสังคม ม.33 เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 พร้อมลดอัตราสมทบประกันสังคมให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ด้วย

22 มีนาคม 2565 – พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน ที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงได้ออก 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในมาตรการดังกล่าวมีการกำหนดมาตรการ ลดจ่ายสมทบประกันสังคม ม.33 เหลือ 1% รวมถึงมาตรการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565

ลดจ่ายสมทบประกันสังคม ม.33 จากเดิม 5% เหลือ 1% จ่ายสูงสุดเดือนละ 150 บาท

นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่ารัฐบาลเตรียมมาตรการลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ซึ่งต้องรอประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

สรุป อัตราเงินสมทบประกันสังคม 2565

ปี 2565 อัตราเงินสมทบของลูกจ้าง ลูกจ้างสมทบสูงสุด อัตราเงินสมทบของนายจ้าง นายจ้างสมทบสูงสุด
ช่วงเวลาปกติ 5% ฿750 5% ฿750
ม.ค. 2565 5% ฿750 5% ฿750
ก.พ. 2565 5% ฿750 5% ฿750
มี.ค. 2565 5% ฿750 5% ฿750
เม.ย. 2565 5% ฿750 5% ฿750
พ.ค. 2565 NEW! 1% ฿150 1% ฿150
มิ.ย. 2565 NEW! 1% ฿150 1% ฿150
ก.ค. 2565 NEW! 1% ฿150 1% ฿150
ส.ค. 2565 5% ฿750 5% ฿750
ก.ย. 2565 5% ฿750 5% ฿750
ต.ค. 2565 5% ฿750 5% ฿750
พ.ย. 2565 5% ฿750 5% ฿750
ธ.ค. 2565 5% ฿750 5% ฿750
รวม   ฿7,200   ฿7,200

หมายเหตุ: หากยังคงอัตราเงินสมทบประกันสังคมตามนี้จนถึงสิ้นปี 2565 ลูกจ้างจะใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมเพื่อคำนวณภาษีสำหรับปีภาษี 2565 ได้สูงสุด 7,200 บาท

iTAX shop ลดหย่อนภาษี

ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9%

ลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ โดยเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนแล้วลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม 6 กรณี ได้แก่

  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  • คลอดบุตร
  • ทุพพลภาพ
  • ตาย
  • สงเคราะห์บุตร
  • ชราภาพ

ทั้งนี้ โดยปกติ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเดือนละ 432 บาท ได้รับสิทธิจ่ายลดลงเหลือ เดือนละ 91 บาท

ลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน

ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย และสนใจประกันตนภาคสมัครใจ สามารถเป็นผู้ประกันตน ม.40 ได้ โดยมีทางเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก ดังนี้

  1. ทางเลือกที่ 1 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 3 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 42 บาท (จากเดิม 70 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
  2. ทางเลือกที่ 2 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 4 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 60 บาท (จากเดิม 100 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
  3. ทางเลือกที่ 3 เลือกรับประโยชน์ทดแทน 5 กรณี: อัตราเงินสมทบเหลือเดือนละ 180 บาท (จากเดิม 300 บาท)
    • คุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
    • คุ้มครองกรณีทุพพลภาพ
    • คุ้มครองกรณีเสียชีวิต
    • คุ้มครองกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล
    • คุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ

หมายเหตุ: ทางเลือกที่ 1 จะได้รับประโยชน์ทดแทนน้อยที่สุด ในขณะที่ทางเลือกที่ 3 จะได้รับประโยชน์ทดแทนมากที่สุด

app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)