ยกเว้นภาษี Capital Gain Tax 0% ให้ สตาร์ทอัพ สำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพไทย เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพ และ Tech companies ของไทย ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- สรรพากรยกเว้น VAT ส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Centre
- โครงสร้างราคาน้ำมัน มีภาษีอะไรบ้าง? ทำไมน้ำมันแพง?
ยกเว้นภาษี Capital Gain Tax 0% ให้สตาร์ทอัพประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2565
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 750) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญคือยกเว้นภาษี Capital Gain Tax ของ สตาร์ทอัพ สำหรับผู้ที่ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพไทย โดยกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 428) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการลงทุนในบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน โดยได้กำหนดรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
คุณสมบัติของ Startup
- ธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีและต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐบาลกำหนด และ
- การใช้เทคโนโลยีต้องทำให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน (2 รอบระยะเวลาบัญชี) และ
- เป็นธุรกิจที่ได้รับการรับรองโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เกณฑ์เบื้องต้นที่จะได้รับการรับรองให้เป็น Startup โดย depa, NIA และ สวทช.
ธุรกิจ Startup นั้นต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือให้บริการในธุรกิจหลัก หรือ
- ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี captial gains tax
- บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ทรัสต์ กิจการร่วมลงทุน ที่มีการถือครองหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ ใน Startup ที่ได้รับการรับรองไม่น้อยกว่า 24 เดือน
ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน
ทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน หมายถึง ทรัสต์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
เหตุผลในการออกกฎหมายยกเว้นภาษี capital gains tax สำหรับการลงทุนธุรกิจ Startup
พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ระบุสาเหตุของการยกเว้นภาษีให้เนื่องจาก รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนในบริษัทเป้าหมายที่พัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายกำหนด อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น และทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลจึงเห็นสมควรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย รวมทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์ในกิจการเงินร่วมลงทุนซึ่งลงทุนในบริษัทเป้าหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
หลักเกณฑ์การรับรองโดย depa
depa ออกหลักเกณฑ์การรับรองบริษัทเป้าหมายซึ่งประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลที่รัฐต้องการสนับสนุน Capital Gain Tax โดยต้องเป็น Digital Startup ซึ่งประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการสนับสนุน ซึ่งพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินกิจการ ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
คุณสมบัติของ Startup
- ต้องประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐต้องการสนับสนุน ซึ่งปรากฎความเกี่ยวข้องกับประเภทของเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล ประกอบด้วยประเภทเทคโนโลยี ดังต่อไปนี้
- Hardware & Smart Devices
- Software
- Digital Services
- Digital Content
2. ต้องใช้เทคโนโลยีต้องทำให้เกิดรายได้ 80%
3. ต้องถูกรับรองโดย depa โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตหรือให้บริการในธุรกิจหลัก โดยจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ
- ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างมีนัยสำคัญ