มาตรการเสริมสภาพคล่องตลาดทุน เพื่อกลุ่มนายทุนจริงหรือ?

ทั่วไป

การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID – 19) ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการต่างๆ มารองรับเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระรับผิดชอบของประชาชน และนโยบายที่เราได้เห็นผ่านตากันไปบ้างแล้ว เช่น นโยบายขยายระยะเวลายื่นภาษี (จากเดิมยื่นภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม เป็นยื่นภาษีภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ), มาตรการปรับเกณฑ์กองทุน SSF เป็นต้น และมาตรการล่าสุดคือ

มาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่ตลาดทุน ประกอบไปด้วย

1. เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมติเพิ่มสภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์ ด้วยการเข้าซื้อหน่วยลงทุนที่เป็นกองทุนเปิดที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี และธนาคารพาณิชย์ที่ถือหน่วยลงทุนอยู่จะสามารถนำหน่วยลงทุนนั้นๆ มาใช้เป็นหลักประกันเพื่อยื่นขอสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้

โดยมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เป็นมาตรการยาวนานต่อเนื่องจนกว่าตลาดเงินและการลงทุนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพ ที่ธนาคารสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเพิ่มสภาพคล่องกับกับ ธปท. ได้ มีมูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

2. จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

ความร่วมมือจาก 4 องค์กร ประกอบไปด้วย สมาคมธนาคารไทย, สมาคมประกันชีวิต, ธนาคารออมสิน และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมมือกันจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” โดยหวังให้กองทุนดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยมีวงเงินเริ่มต้นที่ 70,000 – 100,000 ล้านบาท 

เงินจากกองทุนเสริมสภาพคล่องนั้น เป็นเงินระยะสั้น ที่มีอายุเพียง 270 วัน และเป็นเงินที่มีหน้าที่เติมในส่วนที่ขาด กล่าวคือ ในกรณีที่ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีครบกำหนดและต้องการต่ออายุ หรือ ไม่สามารถระดมทุนให้ครบได้  กองทุนเสริมสภาพคล่องจะเข้ามาชดเชยส่วนที่ขาด เพื่อให้ผู้ออกหุ้นกู้เอกชนสามารถต่ออายุได้ต่อไป 

3. มาตรการเติมสภาพคล่องแก่ตลาดพันธบัตร (ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ)

หากตลาดตราสารนี้ภาครัฐ ขาดสภาพคล่องจะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้โดยรวม เนื่องจากตราสารหนี้ภาครัฐถูกใช้เป็นตัวแปรในการกำหนดดอกเบี้ยอ้างอิง นั่นหมายความว่า ถ้าตราสารหนี้ภาครัฐมีความปั่นป่วนและไม่สามารถรักษาสภาพคล่องไว้ได้ กองทุนและหน่วยตราสารหนี้อื่นๆ จะได้รับผลกระทบไปด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทำการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ขาดสภาพคล่อง และเมื่อกองทุนตราสารหนี้รัฐสามารถทำงานได้อย่างปกติ จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง

วัตถุประสงค์ การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ตลาดทุน และเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา เพราะปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็คือ เมื่อนักลงทุนไม่เชื่อมั่นในตลาดทุนจะส่งผลให้ นักลงทุนรีบไถ่ถอนหน่วยลงทุนตราสารหนี้ จนทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) ให้สามารถจ่ายคืน หรือ สามารถต่ออายุกองทุนต่อไปได้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสเถียรภาพในตลาดตราสารหนี้เอกชนนั่นเอง

กองทุนดังกล่าวจะทำหน้าที่เสริมสภาพคล่องให้กับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2563 – 2564 เงินที่นำมาใช้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องนั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการระดมทุน 4 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย, สมาคมประกันชีวิต, ธนาคารออมสิน และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในเบื้องต้นกองทุนเสริมสภาพคล่องจะมีอายุ 2 ปี ส่วนจะมีการประกาศขยายเวลาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคต 

เงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือ

สำหรับบริษัทที่ออกหุ้นกู้และมีความต้องการให้กองทุนเสริมสภาพคล่องเข้าไปช่วยเหลือ จะต้องเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้

  • ต้องเป็นบริษัทออกหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือ (credit rating) เป็น investment grade ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ณ วันที่ออกกองทุน
  • ต้องเป็นบริษัทที่ยังดำเนินการอยู่ (Viable) แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราวเท่านั้น
  • บริษัทจะต้อง
    • จัดหาแหล่งเงินทุนภายใน เช่น เพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม, เพิ่มทุนจากบริษัทแม่ หรือ
    • จัดหาแหล่งเงินทุนภายนอก เช่น สินเชื่อ ในสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 50% ของยอดที่ครบกำหนด

หากครบทุกเงื่อนไขตามที่กำหนดข้างต้น 

บริษัทที่ออกหุ้นกู้ สามารถให้ผู้จัดการออกตราสาร (Arranger) หรือ ผู้จัดจำหน่ายตราสาร (underwriter) ติดต่อกองทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (ไม่เกิน 270 วัน) โดยคณะกรรมการการลงทุนจะรับซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่นำมาเสนอขาย ณ อัตราส่วนลดที่กองทุนกำหนด คือ (ราคาตลาด + ส่วนเพิ่ม) เพื่อให้บริษัทสามารถนำเงินไปถอนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดได้

มาตรการเสริมสภาพคล่องตลาดทุน มีไปเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์?

ผู้เสียภาษีหลายคนอาจจะกำลังคิดว่า มาตรการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องนั้น เป็นไปเพราะรัฐต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่นั้น 

คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการธนาคารเกียรตินาคิน ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Facebook  Banyong Pongpanich ไว้ว่า 

เนื่องจากเกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน ผู้ถือกองทุนตราสารหนี้บางกองระดมไถ่ถอนเงินจำนวนมาก ทำให้กองทุนต้องขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ในราคาตำ่กว่าปกติ ฉุดราคามูลค่าของหน่วยลงทุนลง จนเกิดภาวะลูกโซ่ คนยิ่งรีบไถ่ถอนเพราะกลัวจะตกเป็นคนกลุ่มสุดท้าย ทำให้กระทบกับราคาตราสารหนี้ทั้งระบบ

ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปสู่กองทุนอื่นๆและตลาดตราสารหนี้ และอาจจะลามมาสู่ตลาดเครดิตโดยรวมได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงินจึงร่วมกับกท.คลังและกลต. ออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับตลาด โดยรับเป็นแหล่งเงินให้กับกองทุนผ่านระบบธนาคาร

มาตรการนี้เป็นเรื่องควรทำและมีประโยชน์ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือเอื้อประโยชน์แก่องค์กรธุรกิจใดโดยเฉพาะ เพราะในท้ายที่สุด ถ้ามีปัญหาคุณภาพเครดิตของตราสารที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ผู้ออกตราสารและผู้ถือหุ้นก็จะต้องรับผิดชอบไป ถ้าล้มละลาย สถาบันการเงินผู้ให้กู้ก็ต้องรับผิดชอบถัดไป

ส่วน คุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ผู้ก่อตั้งและ CEO, บจก. AVA Advisory ผู้พัฒนาระบบ Robo-Advisor สำหรับนักลงทุน ก็ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Facebook  Niran Pravithana  ไปในทางเดียวกันว่า 

เหตุผลที่ไทย (และทั่วโลก) จะปล่อยให้ตลาดตราสารหนี้พังไม่ได้ นั่นก็เพราะเจ้าหนี้จำนวนมากในตราสารหนี้พวกนี้ ก็คือเหล่ากองทุนประกันสังคม หรือ กบข. ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังต้องหวังพึ่งพิง pension fund เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งกลุ่มธุรกิจประกันก็ลงทุนในตราสารหนี้จำนวนมาก

ถ้าตลาดตราสารหนี้พัง กองทุน pension fund (กองทุนบำเหน็จบำนาญ) เหล่านี้ก็จะขาดทุนหนัก อาจจะถึงขั้นล้มละลาย (ค่าใช้จ่ายอนาคตมากกว่ารายได้จากการลงทุน) และถ้าสิ่งนั้นเกิดจริงๆ จะเป็นวิกฤติหนักครั้งใหญ่ที่กระทบกับประชาชนคนไทยในวงกว้างเลยทีเดียว

เพราะ pension fund คือที่พึ่งสุดท้ายของคนจำนวนมาก ที่หวังจะมีรายได้และสวัสดิการดูแลในยามเกษียณ, เจ็บป่วย หรือตกงาน การล้มของ pension fund คือ วิกฤติใหญ่ที่ทั้งโลกจะต้องระวังใม่ให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด (ซึ่งเอาจริงๆ อย่างที่ผมเคยบอกไปในโพสก่อนๆ ว่า ยากมาก ตราบใดที่โลกยังอยู่ในยุคดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ โอกาสที่ pension fund ทั่วโลกจะล้มละลายมีสูงมาก)

อย่างไรก็ดี คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ตั้งขอสังเกตเพิ่มเติมผ่าน Facebook Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล 

มาตรการของหน่วยงานดูแลตลาดเงินตลาดทุนแล้วก็เข้าใจได้ และคิดว่าควรทำ แต่มีข้อสังเกต/คำถามสองข้อ

1. มาตรการการตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ ดูจะเน้นแต่หุ้นกู้ “คุณภาพดี” เป็นหลัก (investment grade) คำถามคือ แล้วหุ้นกู้อีกมากมายที่ไม่ใช่คุณภาพดี (non-investment grade) จะมีมาตรการอะไรหรือไม่? ตรงนี้ไม่ได้พูด ควรพูดให้ชัดเจนว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร นักลงทุนจะได้เข้าใจ

2. ได้ยินแต่มาตรการเกี่ยวกับตลาดเงิน ไม่มีเรื่องมาตรการที่เกี่ยวกับหนี้สินเลย — วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิดแผลงฤทธิ์ที่เรากำลังเจอ (และคิดว่าคงเจอยาวไปอีกเป็นปี) ดูเหมือนเป็น “ด้านกลับ” ของวิกฤติต้มยำกุ้ง 1997 คือ ตอนนั้นภาคธนาคารเราอ่อนแอ แต่รากหญ้าเข้มแข็ง (เลยเกิดปรากฎการณ์ที่รากหญ้า โดยเฉพาะในเกษตรกรรม ช่วยอุ้มภาคส่วนอื่นๆ เอาไว้)

แต่ตอนนี้กลับข้าง ภาคธนาคารเราเข้มแข็ง แต่รากหญ้าอ่อนแอ ดังนั้น คิดว่าภาคธนาคารควรต้องมี “บทบาท” ในการแก้ไขวิกฤติมากกว่านี้ค่ะ โดยเฉพาะมาตรการบรรเทาภาระหนี้สินของรายย่อย ตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างมาตรการ ธปท. กับธนาคาร และควรถือโอกาสนี้ผลักดันมาตรการเชิงนโยบาย เช่น การออกกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับรายย่อย (ตอนนี้มีแต่สมัครใจสำหรับภาคธุรกิจ) ด้วย ..

สรุปแล้ว ใครจะได้ประโยชน์บ้าง?

มาตรการจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องดูเผินๆ เหมือนกับว่า รัฐต้องการที่จะอุ้มนายทุนก่อนคิดถึงประชาชนตาดำๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการนี้เป็นไปเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และคนที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้ ก็คงหนีไม่พ้นประชาชนอย่างเราๆ นั่นเอง

แม้ว่า กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้โดยตรงจะเป็น ลูกหนี้ ที่เป็นบริษัทมหาชน + รัฐไทยเป็นส่วนใหญ่ แต่เพราะว่า เจ้าหนี้ที่ลงทุนในระบบตราสารหนี้ส่วนใหญ่ คือ กองทุนประกันสังคมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงกลุ่มธุรกิจประกัน นั่นหมายความว่า หากตลาดตราสารนี้ขาดสภาพคล่องและพังลงประชาชนอย่างเราๆ ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

เพราะ กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กองทุน pension fund) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรายได้และสวัสดิการของคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็น การดูแลเมื่อเจ็บป่วย, ว่างงาน, เกษียณ ฯลฯ รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนดังกล่าว เพื่อให้กองทุนยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงเป็นหลักประกันเพื่อดูแลคนในชาติได้นั่นเอง

ส่วนมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID – 19) จากทางภาครัฐ อาจจะเป็นเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆ ต้องติดตามต่อไป และหากมีความคืบหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม ทีมงาน iTAX จะรีบแจ้งให้ทุกคนทราบทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)