ประกาศจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับการ จัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก อาจจะทำให้ใครหลายคนกังวลใจอยู่ไม่น้อย และหากคุณเป็นหนึ่งคนที่กังวลและไม่เข้าใจว่า มาตรการจัดเก็บภาษีเงินฝากนี้มีขึ้นเพื่ออะไร? และหากได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีจริงหรือไม่? iTAX จะเฉลยให้คุณเอง
ภาษี กับ ดอกเบี้ยเงินฝาก เกี่ยวกันยังไง?
ถ้าจะพูดกันตรงๆ มาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากของกรมสรรพากรไม่ใช่มาตรการที่ใหม่นัก เพราะดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ ดอกเบี้ยที่เราได้รับจากการฝากเงินนั้นจะต้องเสียภาษีด้วย โดยปกติธนาคารจะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด (ขึ้นอยู่กับประเภทเงินฝากและผู้ฝาก) ยกเว้นเงินฝากบางประเภทที่ได้รับการยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี)
ซึ่งโดยปกติ หากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาท จะเริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
แต่ที่ผ่านมากรมสรรพากรพบว่า ผู้ฝากเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินบางรายอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย โดยใช้วิธีปิดบัญชีที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากใกล้ครบ 20,000 บาท แล้วเปิดบัญชีใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับ ด้วยเหตุนี้เองทำให้กรมสรรพากรจำเป็นต้องอุดช่องโหว่ทางกฎหมายด้วยมาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากอันใหม่
มาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 2562 มีอะไรใหม่?
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ออก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) โดยยังคงให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทเหมือนเดิม แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
1. เจ้าของบัญชีต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร
สำหรับหลายๆ คนที่มีบัญชีเงินฝากและกังวลใจกลัวจะโดนจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากทั้งๆ ที่ได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะคุณสามารถไปลงทะเบียนกับธนาคารที่คุณเปิดบัญชี โดยเบื้องต้นนี้คาดการณ์กันว่าน่าจะภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ซึ่งต้องรอกรมสรรพากรประกาศยืนยันอีกครั้ง
โดยต้องลงทะเบียนกับทุกธนาคารที่คุณมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อยู่ เพื่อยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร และได้รับสิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับ
หากคุณไม่ลงทะเบียนกับธนาคารที่คุณมีบัญชีให้เรียบร้อย ดอกเบี้ยที่คุณได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% แม้ว่าคุณจะได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีก็ตาม (ณ ปัจจุบันผู้ฝากเงินที่มีดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีได้รับยกเว้นไม่เสียภาษี) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
2. ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ทุกบัญชีไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า คุณจะต้องทำการลงทะเบียนกับธนาคารที่คุณเปิดบัญชี (มีกี่บัญชี กี่ธนาคาร ต้องลงทะเบียนทั้งหมด) และหากสรรพากรตรวจสอบดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากทุกบัญชีของคุณ และพบว่าคุณได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชี ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี คุณก็จะได้รับการยกเว้น และไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ตามปกติ
3. เจ้าของบัญชีต้องเป็นผู้เสียภาษี
ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก จะต้องเป็นของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก
4. ไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
และหากคุณไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อข้างต้นนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้รับตั้งแต่บาทแรกจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ทันที แม้ว่าจะได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทก็ตาม ก็อย่างไรก็ดี ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหล่านี้อาจขอเงินคืนภาษีได้ในภายหลังโดยการยื่นภาษีประจำปี
มีทางไหน ที่ทำให้เราไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก?
เราไม่อยากให้ทุกคนกังวลใจ เพราะมาตรการนี้มีขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น และกรมสรรพากรเองก็ไม่ได้ใจร้ายที่จะเก็บภาษีจากทุกๆ บัญชี แต่เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่างให้เข้ากับยุคสมัยเท่านั้น
ดังนั้น หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ได้รับดอกเบี้ยและมีผลตอบแทนจากการฝากเงินในทุกๆ ปี และรวมทุกบัญชีไม่เกิน 20,000 บาทอยู่แล้ว เราแนะนำให้คุณทำการลงทะเบียนกับธนาคารทุกธนาคารที่คุณเปิดบัญชีให้เรียบร้อย เพื่อรับสิทธิการยกเว้นภาษีตามปกติ
และขอย้ำอีกครั้งว่า มาตรการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ไม่ใช่มาตรการที่กรมสรรพากรใช้เพื่อตรวจสอบบัญชี และ
ธนาคารมีหน้าที่ส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากให้กรมสรรพากรเพื่อการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เท่านั้น
คุณสามารถมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมต่างๆ ของผู้เสียภาษีจะยังคงเป็นความลับระหว่างธนาคารและเจ้าของบัญชีอยู่เหมือนเดิม
อัปเดตล่าสุดจากกรมสรรพากร
สำหรับผู้เสียภาษีที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี หากยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้สรรพากร ไม่ต้องเดินทางไปลงทะเบียนเพื่อขอสิทธิในการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากอีกแล้ว
ส่วนใครที่ไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้กรมสรรพากร ก็สามารถทำการแจ้งธนาคารได้ ถึงแม้ว่า ขั้นตอนการลงทะเบียนจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือ หากคุณได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารเกิน 20,000 บาทต่อปี จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เหมือนเดิม (ข้อมูลจาก www.moneyandbanking.co.th )
ทั้งนี้ หากต้องการศึกษาการลงทุนทางเลือกที่ไม่ต้องเสียภาษี การลงทุนในกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกเนื่องจากกำไรจากการขายกองทุนรวมทั่วไปจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งสามารถดูตัวเลือกกองทุนรวมได้ที่ https://shop.itax.in.th