รมว.คลัง เสนอปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ปรับขึ้น VAT-ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 15% สร้างการแข่งขันสอดคล้องทั่วโลก เพิ่มจัดเก็บรายได้เข้ารัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
3 ธันวาคม 2567 – นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาในงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” ภายใต้หัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจไทย
แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี ปรับขึ้น VAT-ลดภาษีเงินได้
นายพิชัย เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง มีแนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประกอบด้วยมาตรการดังนี้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล – ที่ผ่านมามีการพิจารณา Global Minimum Tax (GMT) ที่ทำให้มีการปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละประเทศ โดยไทยจะศึกษาการจัดเก็บโดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เป็น 15%
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา – จะมีการศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย อาจมีการพิจารณาลดอัตราภาษีสูงสุดจาก 35% เหลือ 15%
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีบริโภค – ทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บที่ 20% ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังมีโอกาสปรับอัตราภาษีให้สูงขึ้นได้
“คนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง Sensitive แต่อยากบอกว่า ถ้าเก็บสูงขึ้นและเหมาะสมจะช่วยให้คนรายได้ต่ำรอด ลดช่องว่างคนระหว่างคนรวยคนจน จะเห็นว่าจีนเก็บ VAT ที่ 19% สิงคโปร์ 9% ขณะที่หลายประเทศ เก็บเกือบ 20% จะเห็นว่าถ้าเราเก็บต่ำ ทุกคนจ่ายต่ำ เงินส่งกลับเข้ารัฐจะมีข้อจำกัด ถ้าเก็บสูงขึ้น ตามยอดการใช้เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น ก็นำเงินก้อนนี้ไปส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา เพื่อให้โอกาสคนมีรายได้น้อย และไปสร้างความสามารถแข่งขันให้เอกชน นำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นทุนเอกชนต่ำลง เมื่อต้นทุนถูกลง การส่งออกก็จะถูกลง แต่เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากที่ว่าเราจะทำยังไงให้คนเข้าใจก่อน”