ประเด็นภาษีกับการโอนเงินสนับสนุนผู้ชุมนุมทางการเมือง

ทั่วไป

การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย จึงมีการขอรับเงินบริจาคสนับสนุนจากบุคคลทั่วไปด้วย iTAX จึงขอสรุปประเด็นภาษีสำคัญเกี่ยวกับการโอนเงินสนับสนุนผู้ชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้ความเข้าใจกลไกของกฎหมายภาษีไทย ดังนี้

1. เงินบริจาคสนับสนุนเป็นรายได้ของแกนนำไหม?

ไม่เป็น โดยหลักกฎหมายแล้ว เงินได้ที่ต้องเสียภาษีต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับรวยขึ้น เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า รายได้จากการทำธุรกิจ หรือเงินให้เปล่าจำนวนสูงๆ แต่ในกรณีนี้ หากข้อเท็จจริงยืนยันว่าเงินบริจาคเหล่านี้แกนนำผู้ชุมนุมไม่ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว บัญชีส่วนตัวของแกนนำผู้ชุมนุมก็จะมีสถานะเป็นเพียงกระเป๋าบุญสำหรับส่งต่อเงินบริจาคนี้เพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น ไม่เป็นรายได้ที่ผู้ชุมนุมต้องนำไปเสียภาษีแต่อย่างใด
แต่ถ้าโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ใช้เป็นปกติส่วนตัว อาจมีประเด็นว่าไม่สามารถแยกตัวเลขส่วนที่เป็นรายได้กับเงินบริจาคออกจากกัน ถ้าแกนนำพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เจ้าหน้าที่เชื่อไม่ได้ เงินบริจาคที่โอนเข้าบัญชีส่วนตัวอาจจะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของแกนนำทั้งจำนวนเลยก็ได้
หรือหากแกนนำไม่ได้นำเงินที่ได้รับการสนับสนุนนั้นไปใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่ประกาศขอรับเงินสนับสนุนแต่แรก เงินสนับสนุนที่ได้รับทั้งหมดก็จะกลายเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปเสียภาษีทั้งจำนวนได้เช่นกัน

2. แล้วถ้าโดนภาษีย้อนหลังจริง จะเกิดอะไรขึ้นกับแกนนำ?

แกนนำจะถูกเรียก ค่าปรับภาษี (เบี้ยปรับ) อีกอย่างน้อย 1 เท่าของค่าภาษี อันอาจเกิดขึ้นได้หากยื่นภาษีไม่ครบถ้วน และดอกเบี้ย (เงินเพิ่ม) อีก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปีจนกว่าจะชำระค่าภาษีเรียบร้อยด้วย
มีกรณีศึกษาใกล้เคียงกันที่แกนนำกิจกรรมทางการเมืองเปิดบัญชีส่วนตัวรับเงินบริจาคเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองแล้วคนเปิดบัญชีถูกประเมินภาษีย้อนหลังเป็นเงิน 572 ล้านบาทจนถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย (ที่มา https://www.naewna.com/politic/444938)

3. ภาษีย้อนหลังนี่ย้อนหลังได้ไกลแค่ไหน

ถ้าเป็นกรณี ยื่นภาษีไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่สามารถประเมินย้อนหลังได้ 2 ปี แต่ถ้าเป็นกรณีหลีกเลี่ยงภาษีอาจขยายระยะเวลาได้สูงสุด 5 ปี

4. ถ้าเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเงินสนับสนุนที่แกนนำได้รับมาทั้งหมดถูกใช้เพื่อกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองจริงๆ ก็จะไม่โดนอะไรใช่ไหม?

ไม่โดน ถ้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ตามข่าว ยอดเงินบริจาคที่โอนเข้าบัญชีก็จะไม่เป็นรายได้ของแกนนำ จึงไม่มีหน้าที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด

5. แต่สมมติว่าแกนนำโดนภาษีย้อนหลังจริงๆ เดี๋ยวพวกเราช่วยกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้แกนนำได้ไหม?

คราวนี้เงินค่าภาษีที่ช่วยจ่ายให้แกนนำก็จะกลายเป็นรายได้ของแกนนำที่ต้องเอาเสียภาษีแน่นอน เพราะภาษีเงินได้เป็นภาษีทางตรงที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระการเสียภาษีไปให้คนอื่นรับผิดชอบแทนได้
ดังนั้น เงินค่าภาษีที่มีคนออกให้แกนนำเป็นเงินที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนเลยว่าต้องนำมาเสียภาษีด้วยเพราะแกนนำได้รับประโยชน์จากเงินก้อนนี้เป็นการส่วนตัวอย่างชัดเจน

สมมติว่า

แกนนำโดนประเมินภาษีเป็นเงิน 10 ล้านบาท แล้วทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้แกนนำ 10 ล้านบาท แกนนำจะต้องนำเงิน 10 ล้านบาทไปเสียภาษีอีกรอบ ถ้าเสียภาษีในอัตรา 35% ก็จะโดนภาษีอีก 3.5 ล้านบาท
แล้วถ้าทุกคนยังคงร่วมแรงร่วมใจกันโอนเงินช่วยค่าภาษีให้แกนนำอีก 3.5 ล้านบาท ถ้าเสียภาษีในอัตรา 35% แกนนำก็จะโดนภาษีอีก 1,225,000 บาท และจะคำนวณภาษีแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีคนช่วยแกนนำออกค่าภาษีแทนให้จนกว่าทุกคนจะหยุดจ่ายภาษีแทนแกนนำ

6. เคยได้ยินว่ามีกฎหมายใหม่ที่ว่าเงินโอนเข้าบัญชี 3,000 ครั้งอะไรนี่จะถูกสรรพากรเรียกประเมินภาษีหรืออะไรเนี่ยแหละ มีความเสี่ยงอะไรกับแกนนำไหม?

ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การมีเงินโอนเข้าบัญชีตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หรือตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท กฎหมายเรียกว่าเป็น “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ซึ่งจะอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารและสถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมลักษณะเฉพาะดังกล่าวให้กรมสรรพากรรับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเสียภาษีของเจ้าของบัญชีต่อไป
แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะแล้วจะต้องโดนประเมินภาษีเสมอไป
เพราะเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เรียกประเมินภาษีเลยก็ได้หากเห็นว่าเสียภาษีถูกต้องเรียบร้อยแล้ว หรือหากเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือให้ชี้แจงที่มาที่ไปแล้วสามารถพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าเป็นเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัยจริงๆ ไม่ใช่รายได้ของตัวเอง ต่อให้เข้าข่ายเป็นธุรกรรมลักษณะเฉพาะก็ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด

ดังนั้น

สำหรับกรณีที่แกนนำได้รับเงินสนับสนุน หากเข้าเกณฑ์ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ก็อาจไม่ถูกเรียกประเมินภาษีก็ได้ เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงอื่นประกอบด้วยว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุให้สงสัยหรือต่อให้มีแต่แกนนำสามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ว่าเงินบริจาคดังกล่าวไม่ใช่รายได้ของแกนนำ ก็จะไม่เรื่องประเมินภาษีย้อนหลังให้กังวลใจแน่นอน

7. ให้เงินสนับสนุนแกนนำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?

ไม่ได้ การบริจาคที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ จะต้องเป็นการบริจาคให้พรรคการเมืองโดยตรงเท่านั้น ซึ่งจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่บริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
อีกทั้งแกนนำไม่ใช่มูลนิธิ สมาคม สถานศึกษา โรงพยาบาล หรือองค์กรการกุศลสาธารณะ เงินบริจาคที่ให้ไปจึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย

8. สรุปแกนนำควรดำเนินการอย่างไรกับเงินสนับสนุนที่ได้รับมาเพื่อไม่ให้เกิดประเด็นภาษีย้อนหลัง?

ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วน เมื่อเสร็จจากกิจกรรมทางการเมืองแล้ว แกนนำที่ได้รับเงินสนับสนุนควรดึงรายงานเดินบัญชีย้อนหลังมาดูว่ารายการไหนบ้างที่เป็นเงินบริจาคและรายการไหนบ้างที่เป็นรายได้ส่วนตัว
แต่เพื่อความชัดเจน ในแกนนำควรเปิดบัญชีธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับเงินสนับสนุนการชุมชุมโดยเฉพาะแล้วปิดบัญชีไปเลยเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ก็อาจพอช่วยแยกเงินรายได้ส่วนตัวและเงินบริจาคออกจากกันได้อย่างชัดเจนขึ้น และเห็นได้ว่าเงินทุกบาทที่เข้าบัญชีนี้ออกไปหาใครบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การชี้แจงง่ายขึ้น
app icon
iTAX คำนวณและวางแผนภาษี
star star star star star
(100K+)