วิเคราะห์โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์
เริ่มมีบริษัทบางแห่งจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นวัคซีนทางเลือกให้สำหรับพนักงานของตัวเอง จึงเริ่มมีคำถามว่าพนักงานต้องนำวัคซีนที่ได้รับฟรีจากนายจ้างไปคำนวณเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีของตัวเองด้วยหรือไม่?
เรื่องนี้มีประเด็นต้องวิเคราะห์ดังนี้
1. อะไรบ้างเป็นรายได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษี?
ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งโดยปกติแล้วพนักงานจะมีรายได้จากเงินเดือน/โบนัสเป็นหลักจากนายจ้างเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เงินได้ที่ต้องเสียภาษี (หรือที่เรียกว่าตามภาษากฎหมายว่า เงินได้พึงประเมิน) จะหมายความรวมถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เงินด้วย เช่น ทรัพย์สิน หรือสิทธิประโยชน์ที่คิดคำนวณได้เป็นเงินที่ลูกจ้างได้รับในฐานะพนักงาน เป็นต้น
ดังนั้น วัคซีนทางเลือกที่ได้รับฟรีจากนายจ้างย่อมสามารถถูกตีมูลค่าได้เป็นเงิน จึงสามารถนำไปคำนวณเป็นเงินได้ที่ต้องเสียของพนักงานได้
2. การได้รับวัคซีนทางเลือกฟรีจากบริษัท จัดเป็นเงินได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษีหรือไม่?
ประเด็นนี้สามารถวิเคราะห์ได้เป็น 2 แนวทาง ขึ้นอยู่กับเหตุผลของนายจ้าง ดังนี้
แนวทางแรก: ต้องเสียภาษี ถ้าประโยชน์อยู่กับพนักงานมากกว่าบริษัท
กรณีที่พนักงานได้รับวัคซีนเป็นเพราะพนักงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง ซึ่งมักเรียกว่ากัน “สวัสดิการ”
โดยปกติแล้ว สวัสดิการที่คิดคำนวณได้เป็นเงิน และเป็นประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับโดยตรง จะกลายเป็นเงินได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษีด้วย เช่น นายจ้างจัดหาที่พักฟรีให้พนักงาน นายจ้างพาไปเที่ยวต่างประเทศ นายจ้างให้เงินค่ารถประจำตำแหน่ง หรือนายจ้างซื้อประกันสุขภาพให้
ดังนั้น หากตีความตามแนวทางว่าวัคซีนทางเลือกที่บริษัทจัดหาให้เป็นสวัสดิการเพื่อความสุขสบายของพนักงานมากกว่า โดยที่บริษัทอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน พนักงานต้องนำมูลค่าวัคซีนนั้นไปเสียภาษีเงินได้ของตัวเอง
แนวทางที่สอง: พนักงานไม่ต้องเสียภาษี ถ้าประโยชน์อยู่กับบริษัทมากกว่าพนักงาน
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีแม้พนักงานจะได้ประโยชน์จากนายจ้างที่คิดคำนวณได้เป็นเงิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะว่าเป็นเงินได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษีเสมอไปหากเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับนายจ้างอย่างชัดเจน เช่น การจัดฝึกอบรมพนักงาน การจัดสัมมนาต่างจังหวัด การส่งพนักงานไปศึกษาต่อปริญญาโทโดยต้องกลับมาทำงานใช้ทุน เพราะถึงแม้พนักงานจะได้ประโยชน์ด้วยก็จริง แต่หัวใจหลักของกิจกรรมเหล่านี้ คือการพัฒนาทักษะของพนักงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้างอย่างชัดเจน
ดังนั้น หากการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้พนักงานเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการอย่างชัดเจน เช่น เพื่อให้บริษัทสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ไม่ต้อง Work From Home กันแล้ว เพื่อให้พนักงานสามารถกลับมาช่วยเปิดร้านได้เต็มที่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการมารับบริการ หรือเพื่อประโยชน์ในทำนองเดียวกันนี้ แม้ลูกจ้างจะได้รับประโยชน์จากวัคซีนฟรีของนายจ้าง แต่ไม่ถือว่าเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีของพนักงานอย่างแน่นอน
สรุป: พนักงานได้รับวัคซีนฟรีไม่ต้องนำไปเสียภาษีถ้าบริษัทชี้แจงได้ว่าเป็นเพื่อประโยชน์ของกิจการอย่างชัดเจน
พนักงานจะต้องนำมูลค่าวัคซีนฟรีที่นายจ้างซื้อให้ไปเสียภาษีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของเหตุผลและคำชี้แจงของนายจ้างว่าเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของบริษัทโดยตรงหรือไม่
- หากชี้แจงได้ว่าเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของบริษัทอย่างชัดเจน เช่น เพื่อให้กลับมาทำงานกันได้โดยเร็ว เพื่อให้เปิดร้านได้ตามปกติ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ฯลฯ กรณีนี้ประโยชน์ย่อมเกิดกับกิจการของนายจ้างอย่างชัดเจน ส่งผลให้วัคซีนที่จัดหาให้พนักงานฟรี ไม่เป็นเงินได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษี
- หากมีแนวโน้มจะทำเพื่อประโยชน์ของพนักงานมากกว่า เช่น เพื่อให้พนักงานได้รับวัคซีนที่คุณภาพสูงกว่าที่รัฐจัดหาให้ เพื่อเป็นการซื้อใจให้พนักงานรักองค์กรมากขึ้น เป็นต้น เหตุผลทำนองนี้จะทำให้มูลค่าวัคซีนเป็นประโยชน์ที่คิดคำนวณได้เป็นเงินของพนักงาน ทำให้พนักงานต้องนำไปเสียภาษีส่วนบุคคลด้วย
ทั้งนี้ คาดหวังว่ากรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะออกมาให้ความชัดเจนกับประเด็นนี้ต่อไป
ประเด็นส่งท้ายสำหรับนายจ้าง: บริษัทสามารถนำค่าวัคซีนไปหักเป็นรายจ่ายของบริษัทได้หรือไม่?
ไม่ว่าค่าวัคซีนนั้นจะเป็นเงินได้ที่พนักงานต้องนำไปเสียภาษีหรือไม่ ฝ่ายนายจ้างย่อมสามารถนำค่าวัคซีนไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อย่างแน่นอน เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการและมีเหตุผลทางธุรกิจที่รับฟังได้ ไม่ว่าจะเพื่อให้ดำเนินกิจการได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดหรือเพื่อซื้อใจพนักงานก็ตาม