ข่าวการทุจริตงบประมาณที่เกิดขึ้นในโรงเรียนปรากฏตามสื่อต่างๆ ตลอดเวลา งบประมาณจากเงินภาษีของพวกเราที่ควรจะไปถึงมือเด็กกลับไปอยู่ในมือผู้ใหญ่บางคน โรงเรียนที่ควรจะเป็นสถานที่อบรมบ่มนิสัยให้เด็กทำในสิ่งที่ถูกต้องกลับกลายเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่บางคนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
iTAX จะขอสรุปตัวอย่างพฤติกรรมที่เกี่ยวกับงบประมาณในโรงเรียนของผู้ใหญ่บางคนที่อาจจะนึกถึงตัวเองมากกว่าเยาวชนของชาติ และเราจะมาดูกันว่าเยาวชนมีส่วนร่วมกับการตรวจสอบนี้อย่างไรได้บ้าง?
1. ทุจริตงบอาหารกลางวัน
ข่าวคราวการทุจริตงบอาหารกลางวันเด็กมักจะมีให้เราเห็นอยู่บ่อยๆ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการลงโทษและตรวจสอบการทุจริตแล้วก็ตาม และหากจะถามว่า การทุจริตงบอาหารกลางวันของนักเรียนมีให้เราเห็นบ่อยแค่ไหน และการทุจริตอาหารกลางวันเด็กนักเรียนมาในรูปแบบใดบ้างนั้น เริ่มต้นที่
- รอง ผอ. กินเงินส่วนต่างค่าขนมนักเรียน (www.khaosod.co.th)
- กรณีขนมจีนกับน้ำปลา อาหารกลางวันเด็ก โรงเรียนท่าใหม่ อ. ท่าชนะ จ. สุราษฎร์ธานี (ข้อมูลจาก www.thairath.co.th)
- กรณี การจัดส่งวัตถุดิบให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาไม่ครบถ้วนตามใบสั่งซื้อของโรงเรียน แต่มีการเบิกจ่ายเงินเต็มจำนวน โรงเรียนตะพานหิน จ.พิจิตร (ข้อมูลจาก www.thairath.co.th)
- ป.ป.ช.ตรวจพบ 4 โรงเรียนที่โคราชเข้าข่ายทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน (ข้อมูลจาก workpointnews.com)
ใช่ว่า การทุจริตค่าอาหารกลางวันจะมาในรูปแบบของการเบิกจ่ายไม่เต็มจำนวน เท่านั้น แต่หลายๆ ครั้งมักจะพบว่า โรงเรียนนำเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันเด็กไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น การเอางบอาหารกลางวันเด็กไปเจียดเป็นค่าอาหารกลางวันของครู เป็นต้น
หมายเหตุ
ในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 คณะผู้บริหาร กทม. ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการเพิ่มค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โรงเรียน กทม. 437 แห่ง โดยเพิ่มจาก ค่าอาหารวันละ 30 บาท เป็น 40 บาทต่อคน แบ่งออกเป็น
- มื้อเช้า เพิ่มเป็น 15 บาท (จากเดิม 10 บาท) ต่อคน
- มื้อกลางวัน เพิ่มเป็น 25 บาท (จากเดิม 20 บาท) ต่อคน
ซึ่งได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจาก นายอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติและสามารถดำเนินการได้ในปีงบการศึกษา 2563 (ข้อมูลจาก www.thairath.co.th)
2. งบนมโรงเรียน
โครงการนมโรงเรียน เริ่มต้นขึ้นในปีงบประมาณ 2535 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีจุดมุ่งหมายหวังให้เด็กๆ มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีน้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และถือเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนดื่มนม และเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำนมดิบในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของรัฐบาลด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น เรามักจะได้ยินข่าวคราวการทุจริตนมโรงเรียนกันอยู่เรื่อยๆ ที่แม้จะไม่หนาหูเท่า ทุจริตงบอาหารกลางวัน แต่ก็ใช่ว่า ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะมองไม่เห็นช่องโหว่นี้ ไม่ว่าจะเป็น
- การฮั้วประมูลนมโรงเรียน ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2553 (news.thaipbs.or.th)
- การตัดสินจำคุก แก๊งฮั้วประมูลนมโรงเรียน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2557 (mgronline.com)
- พบนมโรงเรียนที่แจกฟรีในไทย วางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใน ประเทศกัมพูชา ปี 2559 (https://news.thaipbs.or.th)
และเพื่ออุดช่องว่างของการทุจริตนมโรงเรียน ในปีการศึกษา 1/2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารและนมเพื่อเด็กและเยาวชน รวมถึงปรับระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่
ด้วยการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี และเชียงใหม่ เข้ามากำกับดูแลและบริหารจัดการนมโรงเรียนในพื้นที่ โดยคาดหวังว่า การปรับระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพของน้ำนม และการจัดส่งนมโรงเรียนให้ตรงต่อเวลาได้
ส่วนเราในฐานะผู้เสียภาษี อาจจะต้องรอดูกันอีกทีว่า การจัดระบบใหม่นี้จะช่วยแก้ไขการทุจริตนมโรงเรียนได้มากน้อยแค่ไหน และจะคุ้มกับงบประมาณปีละ 14,000 ล้านบาท หรือไม่อาจจะเป็นเรื่องที่เราต้องคอยจับตาดูกันต่อไป
3. การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียน
ถ้าจะพูดเรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน หากไม่ให้พื้นที่แก่การทุจริตงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์การเรียนอาจจะถือผิดไปซักหน่อย เพราะการทุจริตในหมวดนี้นั้นก็เป็นข่าวบ่อยไม่แพ้ข่าวการทุจริตนมโรงเรียน หรือ การทุจริตงบอาหารกลางวันเด็กเลยซักนิดเดียว
และส่วนใหญ่คนที่ออกมาร้องเรียนว่า โรงเรียนมีการทุจริตเงินในส่วนนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ถูกผู้ใหญ่เอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มศิษย์เก่า และ ศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียน รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองที่ลูกหลานได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นต้น และถ้าจะพูดให้เห็นภาพ เราขอยกตัวอย่างจาก 2 โรงเรียนที่เป็นข่าวใหญ่เมื่อกลางปีที่ผ่านมา คือ
- โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้ปกครอง ออกมารวมตัวกัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่ชอบพากลของผู้บริหารโรงเรียน โดยเริ่มมาจาก คูปองอุดหนุนอุปกรณ์การเรียน ที่นอกจากจะสามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น รวมถึง การปรับขึ้นราคากระเป๋านักเรียน ที่คุณภาพสวนทางกับราคา และปัญหาคูปองในโรงอาหารและปัญหางบประมาณการจัดสอนพิเศษเพื่อสอบโอเน็ต เป็นต้น
- โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ที่ศิษย์ปัจจุบันตั้งข้อสงสัยว่า บัตรสมาร์ทการ์ดที่ใช้ซื้ออาหารภายในโรงเรียน รวมถึง การจัดซื้อจัดจ้างไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งพัดลมยักษ์ การสร้างรั้วหรือสิ่งปลูกสร้างเกินความจำเป็น ค่าจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ด ความทรุดโทรมของห้องน้ำ ว่ามีความโปร่งใสในการใช้งบประมาณหรือไม่ เป็นต้น
- โรงเรียนวัดบางขุนไทร ที่ผู้ปกครองนักเรียน รวมตัวกันประท้วงผู้อำนวยการโรงเรียน (ที่ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) ว่ามีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ไม่ว่าจะเป็น ความไม่โปร่งใสการจัดหาร้านจำหน่ายชุดนักเรียนเพียงร้านเดียว และบังคับแจกคูปองซื้อชุดนักเรียนจากร้านค้าดังกล่าว ซึ่งผู้ปกครองมองว่า ราคาชุดนักเรียนสูงเกินไปและไม่มีคุณภาพ การไม่จ้างแม่ครัวทำอาหารกลางวัน แต่ให้ครูเป็นผู้ทำอาหารกลางวันในโครงการอาหารกลางวันโดยไม่จ้างแม่ครัวทำให้เบียดบังเวลาการเรียนการสอน เป็นต้น (เพิ่มเติมที่ http://petchpoom.com)
- โรงเรียนโยธินบูรณะ เหตุเกิดจากฝนตกหนัก จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้นภายในโรงเรียนโยธินบูรณะ ไม่ว่าจะเป็น ฝ้าเพดานร่วงลงมา, มีน้ำไหลออกจากช่องระบายอากาศชั้น 12 ของอาคารเรียน, สัญญาณเตือนภัยดัง, บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน, ห้องน้ำใช้การไม่ได้ ฯลฯ จึงก่อให้เกิดเป็นแฮชแท็ก #โยธินมรณะ ติดอันดับในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา
และใช่ว่าการทุจริตงบจัดซื้อจัดจ้างภายในโรงเรียนนั้นจะมีต้นเหตุมาจากฝ่ายบริหารของโรงเรียน หรือ มีเพียงการร้องเรียนจากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน หรือ ผู้ปกครองนักเรียนเท่านั้น เพราะหลายๆ ครั้งการทุจริตก็มาจากหน่วยงานที่ได้รับสัมปทาน หรือ ผ่านการประมูลจากภาครัฐเช่นกัน อาทิ
-
กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา เพชรบุรีเขต 2 (สพป.เพชรบุรี เขต 2)
จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2561 โรงเรียนในเขตพื้นที่การประถมศึกษา เพชรบุรีเขต 2 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลน และช่วยเยียวยาโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2560 ซึ่งหากมองเผินๆ อาจจะเหมือนมาตรการเยียวยาจากภาครัฐธรรมดา
แต่ที่ไม่ธรรมดาก็เพราะว่า อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ถูกส่งมานั้น ไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ หากทำการรับพัสดุ (อุปกรณ์การเรียนที่ถูกส่งมา) โรงเรียนจะต้องทำรายการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลัง ซึ่งการทำรายการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลังเป็นเรื่องที่ผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณของโรงเรียน
ซึ่งในกรณีนี้ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ได้ตั้งข้อสงสัยรวมถึงลงมือตรวจสอบว่า สพป.เพชรบุรี เขต 2 จัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทเอกชน เข้าข่ายล็อกสเปกหรือไม่ เป็นต้น (ข้อมูลจาก http://petchpoom.com และ https://news.thaipbs.or.th)
4. ทุจริตงบทุนการศึกษา
ถือเป็นข่าวใหญ่ของแวดวงการศึกษาเลยก็ว่าได้ เพราะในปี 2561 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมาแฉพฤติกรรมข้าราชการ ศธ. 5 ราย ยักยอกเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โอนเงินค่าเล่าเรียนเด็กเข้าบัญชีตัวเอง พรรคพวกและญาติพี่น้อง กินยาวตั้งแต่ปี 2551-2561 รวม 10 ปี กว่า 88 ล้านบาท (อ้างอิง www.matichonweekly.com) ซึ่งกระบวนการยักยอกเงินทุนการศึกษา มักจะเริ่มมาจาก
- สถานศึกษาส่งรายชื่อเด็กเพื่อขอเสนอรับทุนมาที่สำนักส่งเสริมกิจการนักศึกษา
- ข้าราชการจัดทำรายชื่อ ระบุบัญชีส่งให้ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ
- ส่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนที่มีปลัด ศธ. เป็นประธาน
- ขั้นตอนการอนุมัติ
- เสนอให้ผู้บริหารเห็นชอบ
- กองคลังสำนักอำนวยการ สป.ศธ. ดำเนินการเบิกจ่าย
แม้ว่าการเบิกจ่ายทุนการศึกษานักเรียนจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่การทุจริตยักยอกเงินก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ดี อาจจะเป็นเพราะว่า แม้ขั้นตอนการเบิกจ่ายจะเป็นไปตามข้อกำหนด แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า เงินทุนการศึกษานั้นจะถึงมือเด็กนักเรียนที่ถูกเสนอชื่อมา
นั่นก็เพราะว่า ผู้กระทำผิดสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนเอกสารแนบท้ายใบขออนุมัติการจ่ายเงิน ก่อนที่เอกสารนั้นจะถูกส่งให้ธนาคาร และธนาคารย่อมทำการโอนเงินตามเอกสารที่ระบุ โดยที่ธนาคารและผู้เซ็นอนุมัติไม่สามารถทราบได้ว่า เงินที่โอนไปนั้นจะไม่ถึงมือเด็กนักเรียนนั่นเอง
5. ค่าแป๊ะเจี๊ยะแลกเก้าอี้เข้าเรียน
หากมองในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครอง ทุกคนย่อมล้วนต้องการให้สิ่งที่ดีกับบุตรหลานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวิชาการที่ดี สังคมที่ดี อย่างที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า สังคมที่ดี ซื้อได้ด้วยเงิน หรือ การเลือกโรงเรียนที่ดี เป็นการซื้อสังคมให้ลูก นี่จึงเป็นสาเหตุให้ ค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือ การจ่ายเงินใต้โต๊ะ ถือกำเนิดขึ้นในวงการการศึกษาไทย ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า หากอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง การจ่ายเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงได้ยาก
หากย้อนกลับไปในปี 2561 ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการการศึกษาเลยก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กทม.) มีมติเอกฉันท์ 6:0 “ไล่ออกจากราชการ” นายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ (ในขณะนั้น) เนื่องจากมีการเรียกรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ 4 แสนบาท เพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2560 (www.matichonweekly.com)
แม้ว่าการจ่ายเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ เงินใต้โต๊ะ หรือ การบริจาคเงินให้โรงเรียนแบบที่ไม่มีใบเสร็จและตรวจสอบไม่ได้ จะเป็นการจ่ายเงินในจำนวนที่พึงพอใจกันทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่เราก็ไม่สามารถทำเหมือนกับว่า การจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกเก้าอี้เป็นสิ่งที่ปกติ หรือ เป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ นั่นก็เพราะว่า การเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือ เงินใต้โต๊ะ ถือเป็นเรื่องผิดในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็น
- ผิดในแง่ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของหน่วยงานราชการ
- ผิดในแง่ของการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
- ผิดวินัยร้ายแรง
เพราะโรงเรียนหรือทีมผู้บริหารโรงเรียนไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บเงินพิเศษเพื่อล็อคโควตาที่นั่งในโรงเรียนไว้ให้ใครก็ตามที่จ่ายเงิน
และหากจะบอกว่า ค่าแป๊ะเจี๊ยะคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็ไม่ผิดนัก เพราะคนรวยกว่าย่อมได้เปรียบกว่าคนที่เรียนดีแต่มีกำลังทรัพย์น้อยอย่างเห็นได้ชัด เพราะการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะทำให้โรงเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้โรงเรียนมีอำนาจต่อรองกับผู้ปกครองมากขึ้น ทำให้ผู้ปกครองต้องยอมจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกหลานของตัวเองได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่(คิดว่า)ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งผลให้เด็กที่เรียนดีแต่มีทุนทรัพย์น้อย ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพได้
ปัจจุบัน ป.ป.ช. ได้มีการเสนอ มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ให้พิจารณายกเลิกเกณฑ์การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษ เพราะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริต และการเรียกรับเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน
และยังเสนอให้กำหนดสัดส่วนการรับนักเรียน โดยเน้นให้ความสำคัญกับการให้เด็กได้เรียนต่อในโรงเรียนหรือสถานศึกษาใกล้บ้าน ทั้งนี้ โรงเรียนหรือสถานศึกษาจะต้องแจ้งค่าใช้จ่าย รวมถึงการเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาให้ผู้ปกครองทราบค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน
และห้ามไม่ให้สถานศึกษาหรือโรงเรียน ให้สิทธิพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โควตาสมาคนผู้ปกครอง ครู สมาคมศิษย์เก่า ที่มีการเรียกรับผลประโยชน์จากการฝากเด็กเข้าเรียน รวมถึงเสนอให้ทำการสุ่มตรวจสอบรายได้สถานศึกษาทั้งช่วงก่อนและหลัง การประกาศรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในปีการศึกษาใหม่ทุกปี และให้จับตาโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีการแข่งขันสูงเป็นพิเศษ (เพิ่มเติมที่ www.moe.go.th) ส่วนข้อเสนอข้างต้นจะสามารถทำได้จริงแค่ไหน เราอาจจะต้องจับตาดูกันต่อไป
6. เบียดบังเวลาราชการ ก็ถือเป็นการทุจริต
ใช่ว่าการทุจริตในโรงเรียนจะมีแต่เรื่องของการยักยอกเงินหรือรับสินบนเท่านั้น เพราะผลการวิจัยจาก สพฐ. ที่ทำการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ ใน 45 โรงเรียน ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักเรียน นักวิชาการ 330 ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการทุจริตในโรงเรียน พบว่า ร้อยละ 53.08 เคยพบเห็นการทุจริตในสถานศึกษา ซึ่งพฤติกรรมการทุจริตในโรงเรียนที่พบเห็นบ่อยๆ ได้แก่
- การเอาเวลาราชการไปทำงานอื่น (เบียดบังเวลาราชการ)
- พฤติกรรมใช้ทรัพย์สินของราชการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง
- พฤติกรรมเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้อง เช่นกรณี ใช้เงินทอนโครงการ ซื้อ Ipad ให้ตัวเอง ที่เฟสบุค ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน แฉเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา (www.facebook.com/Watchdog.ACT)
- พฤติกรรมหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่
- การทุจริตขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
งานวิจัยเผย สังคมไทยมีแนวโน้มที่ข้าราชการจะทำการทุจริตได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส
อ้างอิงงานวิจัยของ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ ของภาคการศึกษากรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาใน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และมหาสารคาม” ที่นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า
จากการใช้เวลาเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 – 2561 พบว่า การโกงในวงการการศึกษาที่เราเห็นตามสื่อ ไม่ว่าจะเป็น การโกงงบอาหารกลางวันเด็ก หรือ การโกงการจัดซื้อจัดจ้าง นั้น เป็นเพียง “โกงปลายแถว” เท่านั้น เมื่อเทียบกับการโกงในระดับนโยบาย หรือ การโกงตามใบสั่ง และข้อมูลการโกงในวงการการศึกษาที่น่ากลัวคือ ข้าราชการระดับสูง กลายมาเป็นผู้มีอิทธิพลที่ส่งผลให้เกิดขบวนการทุจริตแบบฝังรากลึก
หลายคนอาจจะคิดว่า นักการเมือง หรือ ทหารเป็นผู้มีอิทธิพล แต่ในความเป็นจริงข้าราชการระดับสูงต่างหากที่เป็นผู้มีอิทธิพลตัวจริง ไม่ว่าจะเป็นการซิกแซกงบ ให้มี “งบเหลือสำหรับจ่ายปลายปี” ที่แม้จะเป็นวิธีเก่ากึก แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอยู่ เนื่องจากวิธีนี้สามารถตบตาคนได้ง่าย เพราะทำแค่กันงบไว้ จากนั้นหาโครงการมาใช้งบ ด้วยการทำการจัดซื้อจัดจ้างแบบรวบรัด ยัดเยียดให้สถานศึกษาเซ็นรับ ไม่ว่าจะเป็น
- กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา เพชรบุรีเขต 2 (สพป.เพชรบุรี เขต 2)
- งบฯ จัดซื้อครุภัณฑ์ล่าสุด โรงเรียนละ 6 แสนบาท รวม 279 ล้านบาท ให้กับ 458 โรงเรียนในภาคอีสาน
อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อมีการแฉกลโกง หรือ เป็นข่าวต่อสาธารณชนแล้ว เรื่องมักจะเงียบหายไป นั่นก็เพราะว่า มีกระบวนการที่ทำให้เงียบ และหลายๆ ครั้งที่มีการตรวจพบการทุจริตมักจะไม่ค่อยเป็นข่าว หรือ เป็นคดีความขึ้นศาล หรือแม้แต่คดีขึ้นศาลก็มีกระบวนการทำให้เงียบ อย่างกรณีผู้ตรวจฯ พบการโกงที่ จ.กาฬสินธุ์ จนต้องจบที่ศาล และผอ.ต้องคืนเงิน 39 ล้านบาท โดยกระบวนการทำให้เรื่องเงียบเป็น “นิติกร” ที่คอยจัดการ
รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด กล่าวว่า “ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระ หรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจ มองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว” (www.77kaoded.com)
แล้วผู้เสียภาษีอย่างเราทำอะไรได้บ้าง?
เรารู้ดีว่าเหตุการณ์ที่น่าสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะอยู่เฉย เพราะในฐานะผู้เสียภาษีด้วยกัน เรากำลังปล่อยให้เงินภาษีของเราที่ควรจะทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมกลายเป็นเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของใครบางคน วิธีมีส่วนร่วมที่ง่ายที่สุดที่คุณสามารถช่วยได้ คือ พูดถึงปัญหางบประมาณโรงเรียนให้สังคมรับรู้ผ่าน Social Media แล้วติด hashtag #ขิงโรงเรียน ทีมงาน iTAX จะทำหน้าที่ติดตาม #ขิงโรงเรียน เพื่อ iTAX จะได้มานำเสนอและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป