ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษี ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 รวมเวลา 46 วัน ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท ถ้ามีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) คืออะไร?
- วันหยุด 2566 ปฏิทินวันหยุดราชการ วันหยุดยาว (อัปเดตล่าสุด)
29 ธันวาคม 2565 – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 386 (พ.ศ.2565) ประกาศใช้ค่าลดหย่อน ช้อปดีมีคืน 2566 หรือค่าซื้อสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักร หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการค่าลดหย่อน ‘ช้อปดีมีคืน 2566’ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของขวัญปีใหม่ของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการขยายฐานภาษีรวมทั้งสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการบางประเภทให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาทเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษี ได้สูงสุด 40,000 บาท
กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดรายละเอียดมาตรการลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน 2566 โดยกำหนดให้ค่าซื้อสินค้าหรือบริการภายในประเทศสามารถนำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. วงเงินที่ลดหย่อนภาษีได้
ช้อปดีมีคืน 2566 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยแบ่งสิทธิลดหย่อนตามค่าซื้อสินค้าและบริการ เป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
- ค่าซื้อสินค้าหรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ที่มีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ตัวอย่างที่ 1
ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียง 30,000 บาท
สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้จะได้สิทธิลดหย่อนจากวงเงิน 30,000 แรกที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่จะไม่ได้สิทธิอีก 10,000 บาท เนื่องจากไม่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ตัวอย่างที่ 2
ซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) โดยได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ จะใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 40,000 บาท
สาเหตุเนื่องจากกรณีนี้จะได้สิทธิลดหย่อนจากทั้งวงเงิน 30,000 แรกที่มีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และอีก 10,000 บาท จากใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร etax.rd.go.th)
2. ช่วงเวลาที่ได้สิทธิ
ต้องซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 (รวมเวลา 46 วัน)
3. สินค้าและบริการที่ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน 2566
- สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น
- เติมน้ำมันรถยนต์
- ค่าอาหารและเครื่องดื่ม กินข้าวในร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
- สินค้าในร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven, Family Mart
- เสื้อผ้าแบรนด์เนม
- ของใช้ในบ้าน
- เฟอร์นิเจอร์
- สปา
- คาราโอเกะ
- อาบอบนวด
- อาบน้ำสัตว์
- ค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณ
- ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook
- สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การซื้อของออนไลน์ ผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ที่ผู้ขายออกใบกำกับภาษีได้
- คอร์สเรียนออนไลน์ที่ซื้อขาดครั้งเดียวเข้าดูได้ตลอดไป (ไม่ใช่คอร์สรายเดือนหรือรายปี)
- สินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไป
- ค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั่วไป
- สินค้าท้องถิ่น (OTOP)
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
4. สินค้าและบริการที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษีได้
ค่าซื้อสินค้าและบริการต่อไปนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน 2566 ได้
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร (หนังสือทั่วไปยังใช้ลดหย่อนภาษีได้)
- ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (หนังสือ e-book ทั่วไปยังใช้ลดหย่อนภาษีได้)
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 (เช่น ค่าบริการ Fitness ระยะเวลา 3 เดือน หรือคอร์สออนไลน์ที่ดูได้เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น) และ
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เช่น เบี้ยประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์
นอกจากนี้ สินค้าและบริการต่อไปนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้
- ทองคำแท่ง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าทำศัลยกรรม
- ผักผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
- หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์
5. หลักฐานที่ต้องใช้
1. ซื้อสินค้าและบริการทั่วไป ต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
2. ซื้อหนังสือ (รวมถึง e-book) ต้องใช้ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Receipt) ที่ระบุข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
3. ซื้อสินค้า OTOP ต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป/ใบเสร็จรับเงิน (ทั้งแบบกระดาษ และแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt) ที่ระบุรายการสินค้า OTOP, ข้อมูลผู้ขาย และข้อมูลของคุณ รวมถึงวันที่ รายการและจำนวนเงินด้วย
ทั้งนี้ การระบุชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ยึดข้อมูลล่าสุดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทะเบียนบ้าน) แต่ถึงแม้จะระบุชื่อที่อยู่ไม่ถูกต้องก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ดี หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความอื่นๆ ครบถ้วนถูกต้องแล้ว
ใบเสร็จรับเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จด VAT)
หากคุณซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน ใบเสร็จรับเงินต้องมีข้อความครบถ้วนตามนี้
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย
- เลขลำดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน
- วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน
- ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ
- ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาสินค้าที่ซื้อ
- จำนวนเงิน
6. ขั้นตอนการรับสิทธิค่าลดหย่อน
จะได้รับสิทธิลดหย่อนเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปีภาษี 2566 ช่วงต้นปี 2567
7. ข้อสังเกตเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิลดหย่อน ‘ช้อปดีมีคืน’ ได้
- หากร้านค้านั้นไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) สินค้าและบริการที่ร้านนั้นขายจะไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้น เป็นการขายหนังสือ, e-book หรือเป็นสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนเท่านั้น
- หากร้านค้านั้นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แม้จะขายในรูปแบบบริการอย่างเดียว หากบริการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สปา คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
- ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น และค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนรวม (Front-end fee) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม (Management fee) ลดหย่อนภาษีไม่ได้
- ค่าซื้อทองรูปพรรณ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่ากำเหน็จหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ตัวทองคำเองไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
- ยารักษาโรค อาหารเสริม ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ค่าบริการทางแพทย์ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม โดยปกติจะไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
- ค่าที่พักในโรงแรมไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ค่าอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ ค่าบริการเช่ารถยนต์ ค่าซ่อมรถ/เปลี่ยนยางรถยนต์ที่รับบริการและแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ แต่ถ้ารับบริการก่อนหรือหลังช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถลดหย่อนได้
- อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เช่น iPhone, iPad, MacBook ไม่ว่าจะซื้อราคาเต็ม หรือซื้อจาก Outlet ก็สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าที่ซื้อจากร้าน Duty Free หากเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้
- รายการที่ซื้อจะสะสมหลายใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีหลายใบ หรืออยู่ในใบเดียวกันก็ได้ แต่ถ้ายอดซื้อเกิน 40,000 บาท (รวม VAT แล้ว) จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 40,000 บาท
- การซื้อของออนไลน์ เช่น ซื้อผ่าน Shopee, Lazada หรือร้านค้าออนไลน์ต่างๆ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ ถ้าซื้อจากร้านที่ออกใบกำกับภาษีได้ โปรดตรวจสอบกับผู้ขายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
- ในกรณีที่รายการสินค้ามีทั้งเสีย VAT และไม่เสีย VAT อยู่ในใบกำกับภาษีเดียวกัน คุณจะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะสินค้าที่เสีย VAT เท่านั้น เช่น ถ้าซื้อทั้งนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) และนมจืด (ไม่เสีย VAT) จะได้สิทธิลดหย่อนเฉพาะนมช็อกโกแลต (เสีย VAT) เท่านั้น
- การซื้อสินค้าและบริการจะจ่ายด้วยเงินสด พร้อมเพย์ บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้ขอให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
- ค่าเติมน้ำมันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน แต่ต้องขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีลงวันที่ภายใน 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566 และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
เรื่องที่มักเข้าใจผิดบ่อย
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน สามารถขอรับเป็นเงินสดคืนได้ที่ร้านค้าเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการขอใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งจะต้องทำโดยการ ยื่นภาษีประจำปี 2566 ให้ กรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2567 ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน คือ เงินคืนภาษีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT 7% Refund) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืนนี้เป็นสิทธิที่นำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- หลายคนเข้าใจผิดว่าค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน ต้องใช้ค่าสินค้าหรือบริการก่อนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ความจริงแล้วสิทธิลดหย่อนจะเป็นตัวเลขค่าสินค้า/บริการที่รวม VAT แล้ว
- ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 25,833.33 บาท (หรือเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท) คุณไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวเพื่อขอใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็ได้ เพราะคุณอยู่ในเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ต่อให้ใช้สิทธิลดหย่อนช้อปปิ้งก็ไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น
- ถ้ามีคุณมีคู่สมรสที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ คุณทั้งคู่ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้สูงสุดคนละ 40,000 บาท (รวม 2 คนได้สิทธิ 80,000 บาท) ไม่ว่าจะแยกยื่นภาษีหรือยื่นภาษีร่วมกันก็ตาม
- ถ้าในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีเดียวกันมีรายการทั้งสินค้าที่เข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อน คุณจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเฉพาะค่าสินค้าเข้าเกณฑ์ลดหย่อนเท่านั้น
- หากไม่มั่นใจว่าให้ระบุที่อยู่ผู้ซื้อตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันดี ให้ระบุที่อยู่ของผู้ซื้อในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ยึดตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ (ทะเบียนบ้าน) ล่าสุด แต่ถึงแม้ในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะเขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิดหรือมีการแก้ไขสามารถ ก็ยังสามารถใช้หักลดหย่อนได้อยู่ หากใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีนั้นมีข้อความเกี่ยวกับผู้ขาย รายละเอียดสินค้าหรือบริการ และองค์ประกอบอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว
- หลายคนเข้าใจผิดว่า ค่าลดหย่อนช้อปดีมีคืน 40,000 บาท คือ เงินคืนภาษีจากรัฐ 40,000 บาทเลย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวน เงินได้ และ อัตราภาษี ของแต่ละคนด้วย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด |
---|---|---|
≤ ฿150,000 | ยกเว้น | ฿0 |
> ฿150,000 – ฿300,000 | 5% | ฿2,000 |
> ฿300,000 – ฿500,000 | 10% | ฿4,000 |
> ฿500,000 – ฿750,000 | 15% | ฿6,000 |
> ฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% | ฿8,000 |
> ฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% | ฿10,000 |
> ฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% | ฿12,000 |
> ฿5,000,000 | 35% | ฿14,000 |
ตัวอย่างสินค้าและบริการที่ลดหย่อนช้อปดีมีคืน 2566 ได้ (ต้องซื้อตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2566)
คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์
Studio7 | |
AIS | |
BaNANA | |
Lenovo | |
Toshiba Thailand Shopping | |
Mercular |
อุปกรณ์กีฬา
adidas | |
Mizuno |
เสื้อผ้า แฟชั่น
New Central Online | |
True Shopping | |
anello | |
Keds | |
RS Mall |
ของใช้ในบ้าน
ShopAt24 | |
OfficeMate | |
Tops Online | |
Big C |
หนังสือ และ e-book
Kinokuniya | |
นายอินทร์ | |
SE-ED | |
B2S |