เริ่มแล้ววันนี้! รัฐบาลประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ยกระดับคุมเข้ม ‘โควิด’ ขั้นสุด ฝ่าฝืนติดคุก 2 ปี ปกปิดไทม์ไลน์ ผิด พ.ร.บ. โรคติดต่อด้วย จำคุกสูงสุด 1 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่น เฝ้าระวัง 5 จังหวัดเสี่ยง บังคับโหลด ‘หมอชนะ’ เริ่มมีผลตั้งแต่ 7 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศ “ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 17)” โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันนี้ (7 ม.ค. 2564) เป็นต้นไปนั้น ในข้อกำหนดดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ รวมถึงการระบุบทลงโทษอย่างชัดเจนด้วย
ยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค หนุนประชาชนใช้แอป ‘หมอชนะ’
พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือ กิจการต่างๆ (เช่น ห้างสรรพสินค้า เจ้าของร้านค้าหรือสถานที่) ต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่าง (Social distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตลอดจนยอมรับการกักกันตนตามระยะเวลาและในสถานที่ที่กำหนด หากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน
นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้ประชาชนโหลดแอป ‘หมอชนะ’ ควบคู่กับแอป ‘ไทยชนะ’ เพื่อรับแจ้งข้อมูล ข้อแนะนำการปฏิบัติตนหรือคำเตือนเพื่อลดความเสี่ยงหรือเลี่ยงการติดเชื้อโคโรนาไวรัส
สรุปมาตรการภาษีสู้โควิด-19 ในประเทศไทย 2563 ช่วง 5 เดือนแรก
ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 5 จังหวัด จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร จำเป็นคุมเข้มงวดสูงสุด บังคับโหลด ‘หมอชนะ’
เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 5 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าวโหลดแอป ‘หมอชนะ‘ ด้วย
บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ยกเว้นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย
ลุยเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเถื่อน ลักลอบเข้าเมือง และบ่อนการพนัน
ในข้อกำหนดฉบับนี้ รัฐบาลประกาศเอาผิดทั้งทางวินัยและทางอาญากับเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสอดส่องและเฝ้าระวังแรงงานเถื่อน การลักลอบเข้าเมือง และบ่อนการพนัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดระลอกใหม่นี้ โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนแจ้งเบาะแสมาที่นายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 สำนักนายกรัฐมนตรี
ฝ่าฝืนข้อกำหนดมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปกปิดไทม์ไลน์อาจผิด พ.ร.บ. โรคติดต่อ
ผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับสูงสุด 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง ปกปิดไทม์ไลน์ หรือแจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไทม์ไลน์ของตัวเองต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 49 ด้วย ซึ่งกำหนดโทษสูงสุดจำคุก 1 เดือน ปรับสูงสุด 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ