นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยเตรียม 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2565 หวังเร่งดันจีดีพีโตให้ได้ 4%
- ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม ม.40 เหลือ 60% ถึง ก.ค.65
- ครม. แก้ปัญหาน้ำมันแพง ลดภาษีดีเซล ลิตรละ 3 บาทนาน 3 เดือน
23 กุมภาพันธ์ 2565 – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา iBusiness Forum 2022 NEXT Economic Chapter: New Challenges and Opportunities เศรษฐกิจไทยปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ ในหัวข้อ “นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2565 ความท้าทายและโอกาสใหม่ โดยขุนพลทางเศรษฐกิจ” ผ่านช่องทาง online ว่า ในช่วงต้นปี 2565 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น เนื่องจากค่าครองชีพและราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยค่าครองชีพนั้นเกิดจากเนื้อสุกรที่ขาดตลาด โดยรัฐบาลก็มีการเข้าไปควบคุมดูแลแล้ว แต่ในด้านของพลังงานนั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เพราะสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ทั้งนี้รัฐบาลได้ตรึงราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิต โดยมีเครื่องมือจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามนโยบายตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และในฝั่งของกระทรวงการคลังก็มีการลดภาษีน้ำมันดีเซลสรรพสามิตให้ 3 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชนอีกทาง
“สาเหตุที่ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงที่ 3 บาทต่อลิตร จากอัตราที่จัดเก็บอยู่ที่ 5 บาทกว่าต่อลิตรนั้น เพราะการใช้มาตรการทางภาษีจะต้องคำนึงถึงการสูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณประจำปีของรัฐบาลซึ่งจะมีเป้าหมายในเรื่องการจัดเก็บรายได้เข้ามาพิจารณาด้วย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาสมดุลของการใช้กลไกหลักของกองทุนน้ำมันฯ และการใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตน้ำมันเข้าไปเสริม อย่างไรก็ตามมองว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด” นายอาคมกล่าว
ดัน 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2565 เพิ่ม GDP เติมโตให้ได้ 4%
นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้เติบโตได้ 4% นั้น จะต้องดำเนินการผ่าน 7 เรื่อง ได้แก่
1. การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (EEC) ในระยะที่ 2
โดยจะมีการวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และมุ่งไปสู่เศรษฐกิจมีมูลค่าสูง ผ่าน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
2. ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล
ผลักดันการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย
3. นโยบายการปรับเปลี่ยนยานยนต์ไฟสู่รถยนต์ไฟฟ้า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นการผลักดันลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีการดำเนินนโยบายการปรับเปลี่ยนยานยนต์ไฟสู่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต และศุลกากร เพื่อให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน และพลังงานบริสุทธิ์
4. การดูแลรักษาสุขภาพ
การดูแลรักษาสุขภาพ ที่จะต้องปรับโครงสร้างประชาชน เนื่องจากจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในช่วงที่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยมีการดูแลควบคุมได้เป็นอย่างดี หากนำส่วนนี้มาปรับใช้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และดึงดูดต่างชาติเข้ามา รวมทั้งพัฒนาภาคอสังหาริมทรัพย์ จะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยได้
5. เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับภาคสถาบันการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล
เทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับภาคสถาบันการเงิน ตลาดทุน และสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
6. การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของ SME และ Startup
การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มสตาร์ตอัพของไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ธุรกิจด้านดิจิทัล โดยกระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้แก่ทั้งตัวสตาร์ตอัพไทย และกลุ่มที่ร่วมทุน (Venture Capital) ที่จัดตั้งในประเทศหรือต่างประเทศ
7. ความยั่งยืนทางการคลัง
ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัว และมีทิศทางที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลก ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของไทยจะต้องสอดประสานกัน ส่วนไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น ขอให้ติดตามการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องมั่นใจแล้วว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้ ก็จำเป็นต้องมีการพิจารณานโยบายการคลังที่ยั่งยืน ในเรื่องการจัดหารายได้ หรือการขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
“ในปี 2565 นั้น เป็นปีที่เป็นมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะช้าหรือเร็ว ก็ขอให้มีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง เชื่อว่ามาตรการภาครัฐก็ยังดำเนินการ เราไม่สามารถหยุดพัฒนาหรือลงทุนต่างๆ ก็ขอให้มั่นใจว่า การบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายเงินและการคลังจะอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจสามารถเติบโตได้และผ่านโควิดไปด้วยกัน” นายอาคมกล่าว