ครม. มีมติเห็นชอบ เก็บภาษี Investment Token (โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน) หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ครั้งเดียวจากส่วนต่างกำไรตอนขาย ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดรัฐสูญเสียรายได้ 50 ล้าน แต่เพิ่มการระดมทุน 1.85 หมื่นล้านบาทได้ในปีนี้ รอประกาศเป็นกฎหมายต่อไป
ครม. เห็นชอบ เก็บภาษี โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน 15% ตอนขายครั้งเดียว รอประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย
สรุปสาระสำคัญ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการถือครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ผู้ถือครอง Investment Token ที่ได้รับเงินปันผลหรือผลประโยชน์อื่นใด และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วในอัตรา 15% สามารถเลือกไม่นำผลประโยชน์ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก
2. มาตรการนี้มีผลสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
3. วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการกำกับดูแล Investment Token ให้ใกล้เคียงมาตรฐานหลักทรัพย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
ผลกระทบ
- คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี
- แต่จะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกระดมทุนด้วย Investment Token เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการลงทุน การจ้างงาน
- สำนักงาน ก.ล.ต. คาดการณ์จะมีการระดมทุนด้วย Investment Token ในปี 2567 ประมาณ 18,500 ล้านบาท
โดยสรุป มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย แม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีบางส่วน แต่คาดว่าจะดึงดูดเงินลงทุนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
เก็บภาษี โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เตรียมประกาศเป็นกฎหมาย มีผลย้อนไปถึง 1 ม.ค. 2567
12 มีนาคม 2567 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)] ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
นายคารม เปิดเผยว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไร (เงินปันผล) หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย (ในอัตราร้อยละ 15) ไว้แล้ว ไม่ต้องนำเงินได้ส่วนดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อยกระดับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
“คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม (ตราสารหนี้และตราสารทุน) อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ ตลอดจนช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Hub) เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนถึง 18,500 ล้านบาท” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว
‘สรรพากร’ ชูมาตรการเก็บภาษี โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน 15% ครั้งเดียว ช่วยดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้น
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับการระดมทุนของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token)) ต่อคณะรัฐมนตรี
โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 15 สามารถเลือกไม่นำเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดนั้นมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นศูนย์กลางการระดมทุนเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมีทางเลือก ในการระดมทุนด้วย Investment Token เพิ่มเติมจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือดั้งเดิม อันจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะมีการระดมทุนด้วย Investment Token ถึง 18,500 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนดังกล่าวจะเป็นเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ