ด้วยความสนใจประเด็น #ภาษีคริปโต มาตั้งแต่วันพฤหัสที่แล้ว ทำให้ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมลองทบทวน pain point หลายจุดที่เกิดจาก แนวทางเก็บภาษีคริปโต ของไทย ซึ่งความรู้สึกของผมก็สอดคล้องกับที่หลายคนพูดถึงความไม่ make sense การปฏิบัติจริงในหลาย use case ซึ่งก่อให้เกิดภาระกับผู้เสียภาษีเกินสมควร และแน่นอนว่าก็เป็นภาระกับเจ้าหน้าที่สรรพากรในการจัดการกับปัญหาส่วนนี้ด้วย
แน่นอนว่านักวิชาการอย่างเราจะไม่บ่นอย่างเดียวโดยไม่มีข้อเสนออะไรในมือ ผมเลยขอถือโอกาสนี้จัดทำร่างข้อเสนอ แนวทางเก็บภาษีคริปโต ในไทยเพื่อเสนอกรมสรรพากร
นโยบายนี้คัดกรองมาจากการสัมภาษณ์นักเทรดและการสังเกตจากความเห็นจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย (social listening) รวมถึงเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติในประเทศอื่น ซึ่งหากท้ายที่สุดข้อเสนอนี้ถูกนำไปใช้จริง คงเรียกได้ว่าเป็นนโยบายภาษีฉบับแรกของประเทศที่เป็น data driven tax policy เพราะประชาชนแสดงความเห็นกันบนโซเชียลมีเดียเยอะมากๆ ทำให้ได้ insights ดีๆ มาจัดทำเป็นร่างข้อเสนอฉบับนี้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่ได้คิดว่านี่คือข้อเสนอที่ perfect ที่สุด และทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเชิงวิชาการที่คาดว่าจะแก้ปัญหาในระยะสั้นได้สำหรับประชาชนนักเทรดคริปโตกลุ่มใหญ่ในไทยเท่านั้น หากมีข้อเสนออื่นที่ดีกว่าหรือพบความบกพร่อง หรือมีข้อติชมประการใดเพื่อให้ข้อเสนอนี้สมบูรณ์ขึ้น ผมขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงข้อเสนอ 1st draft นี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้นต่อไปครับ
1. Background
ผู้เสียภาษีรู้สึกอย่างไรกับ แนวทางเก็บภาษีคริปโต ปัจจุบัน?
- รู้สึกไม่ยุติธรรมที่ไม่สามารถนำขาดทุนมาหักลบได้
- คำนวณต้นทุนยาก ไม่ทราบวิธีคำนวณต้นทุน/กำไรที่ชัดเจน
- แนวปฏิบัติออกภายหลังจากสิ้นปีภาษี ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน
- หลายอย่างไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ระหว่างกัน
- เป็นภาระกับผู้เสียภาษีเกินสมควร
ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร?
- เป็นภาระของเจ้าหน้าที่สรรพากรที่ต้องตอบข้อสงสัยทุกช่องทาง
- เกิดภาพจำว่ากรมสรรพากรคู่ขัดแย้งกับผู้เสียภาษี เป็นฝ่ายขูดรีด และตามไม่ทันโลกยุคปัจจุบัน
- นักลงทุนไทยหยุดซื้อขายในไทย และเตรียมย้ายออกไปซื้อขายที่กระดานต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจที่ไทยจะสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
- Exchange ในไทยได้รับผลกระทบทันที การซื้อขายลดลงราว 30% ในวันเดียว
- Exchange รายได้ลดลง ส่งผลต่อกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2565 ในภายหลัง ส่งผลให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจาก Exchange ได้ลดลง
กำหนดเป้าหมาย
ทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายรับได้?
- ต้องลดภาระของผู้เสียภาษี เจ้าหน้าที่สรรพากร และบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เหลือน้อยที่สุด
- ต้องเข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริงทั้งย้อนหลังและไปข้างหน้า
- สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนไทยยังอยู่ในไทย
- ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายปัจจุบัน
อะไรบ้างที่ผู้เสียภาษีต้องการ
- เข้าใจว่าต้องเสียภาษีจากกำไร แต่ต้องการให้คำนวณกำไรหลังหักผลขาดทุนระหว่างปีได้
- ยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
- กำหนดวิธีคำนวณต้นทุนและการเกิดกำไรที่ชัดเจน
- กำหนดให้ Exchange เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีด้านการบันทึกข้อมูลซื้อขายและหักภาษี ณ ที่จ่าย
- ยอมให้หักภาษีเป็น transaction tax จากทุกๆ ธุรกรรมการขายที่เกิดขึ้นได้
- ยอมให้การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็น Final Tax เหมือนดอกเบี้ย เงินปันผล โดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีประจำปีได้
2. Solution
วิธีเสียภาษีสำหรับกำไรตาม มาตรา 40(4)(ฌ)
อนุญาตให้ผู้เสียภาษีเลือกเสียภาษีได้ 2 วิธี ได้แก่
- คำนวณกำไรส่วนเกินทุนสุทธิโดยต้องยอมให้หักผลขาดทุนออกจากกำไรได้ แล้วให้นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ เพื่อเสียภาษีประจำปีจากเงินได้สุทธิ
- คำนวณภาษีแบบเหมา 5% ของยอดขายที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีโดยไม่หักผลขาดทุนใดๆ ทั้งสิ้น โดยไม่นำไปรวมกับเงินได้อื่นๆ (เทียบเคียง การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายรับก่อนหักรายจ่าย มาตรา 71)
สำหรับปีภาษี 2565 เป็นต้นไป เฉพาะนักลงทุนที่ซื้อขายใน Exchange ไทย ให้ได้รับสิทธิเสียภาษีวิธีที่ 3 เพิ่มเติมดังนี้
- หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 0.1% ของราคาขาย/แลกเปลี่ยนโดยไม่รวมค่าธรรมเนียม Exchange (เทียบเคียง ภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ มาตรา 91/5(7)) และอนุญาตให้เลือกเป็น Final Tax โดยไม่ต้องนำไปยื่นภาษีประจำปีได้ (เทียบเคียงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของดอกเบี้ย/เงินปันผล) ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียภาษีที่จะเลือกเสียภาษีตามวิธีที่ 1 และ 2
วิธีการคำนวณเงินได้
- หากเป็นการแลกเปลี่ยนเป็นคู่เหรียญภายใน Exchange ไทย เช่น แม้จะแลกเป็น Stable coin ยังไม่ให้คิดเป็นเงินได้ทันที แต่ให้คำนวณเป็น realized gain/loss ของธุรกรรมนั้น
- ให้เริ่มคำนวณเป็นเงินได้เมื่อมีการแลกกับเหรียญอื่นหรือขายเป็นเงินสดแม้จะยังไม่ได้นำเงินออกจาก Exchange (อิงตามเกณฑ์เงินสด) หรือเมื่อนำเหรียญคริปโตออกจาก Exchange ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่น โอนให้ Wallet ของบุคคลอื่น หรือนำไปซื้อสินค้า/บริการ ทั้งนี้ หากเป็นการโอนเข้า Wallet ที่ตนเป็นเจ้าของ ให้สามารถนำหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของ Wallet ปลายทางดังกล่าวมายืนยันได้
- หาก Exchange ไทยพิสูจน์ต้นทุนเหรียญดังกล่าวไม่ได้เนื่องจากไม่ได้ซื้อผ่านตนแต่แรก (เช่น โอนคริปโตจากข้างนอกเข้ามาที่ Exchange ไทย) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเหรียญดังกล่าวมีต้นทุน 0 บาท แต่ให้ผู้เสียภาษีสามารถชี้แจงต้นทุนที่แท้จริงได้หากเลือกเสียภาษีโดยวิธีคำนวณกำไรส่วนเกินทุนสุทธิ (วิธีที่ 1)
ตัวอย่างที่ 1
- ปี 2565 โอนเงินเข้า Exchange ไทยครั้งแรก 100,000 บาท เริ่มซื้อ BTC ครั้งแรกจำนวน 0.01 BTC เป็นเงิน 15,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
- เหตุการณ์นี้บันทึกต้นทุน 0.01 BTC ที่ 15,000 บาท
- ต่อมา BTC มูลค่าสูงขึ้นจึงนำ 0.01 BTC ไปแลก ETH จำนวน 0.2 ETH เป็นเงิน 20,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
- เหตุการณ์นี้นำ 0.01 BTC ต้นทุน 15,000 บาท ไปแลก 0.2 ETH มูลค่า 20,000 บาท
- บันทึกกำไร realized gain ครั้งนี้ 5,000 บาท
- บันทึกต้นทุน 0.2 ETH ที่ 20,000 บาท
- ต่อมา ETH มูลค่าสูงขึ้นจึงนำ 0.1 ETH มาแลก 0.01 BTC เป็นเงิน 25,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว) และส่วนอีก 0.1 ETH ยังเก็บไว้
- เหตุการณ์นี้นำ 0.1 ETH ต้นทุน 10,000 บาท ไปแลก 0.01 BTC มูลค่า 25,000 บาท
- บันทึกกำไร realized gain ครั้งนี้ 15,000 บาท
- บันทึกต้นทุน 0.01 BTC ที่ 25,000 บาท
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นปี 2565 คือ
- มีเงินสดใน exchange ไทยเหลืออยู่ 85,000 บาท
- มี 0.1 ETH (ต้นทุน 10,000 บาท)
- มี 0.01 BTC (ต้นทุน 25,000 บาท)
- มีกำไร realized gain ในปี 2565 สะสม 2 ครั้ง 20,000 บาท (5,000 + 15,000)
- ผลลัพธ์ที่ขึ้นระหว่างปี 2565 ผู้เสียภาษีสามารถเลือกเสียภาษีวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
- เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0.1% ของการขาย/แลกเปลี่ยน 2 ครั้ง = ราคาขาย 45,000 x 0.1% = 45 บาท
- ถ้าเลือกเสียภาษีเหมา 5% ของราคาขาย 45,000 บาท จะเสียภาษี 45,000 x 5% = 2,250 บาท
- ถ้าเลือกเสียจากกำไรส่วนเกินทุนสุทธิ ก็ให้นำกำไร 20,000 บาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีต่อไป เช่น ถ้าเสียภาษีในอัตราสูงสุด 15% ก็จะเสียภาษี 3,000 บาท
- เมื่อเสียภาษีเรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะโดยวิธีการใด ให้จบปีภาษี 2565 แล้วเริ่มคิดภาษีของปีภาษี 2566 ด้วยกระบวนการเดิม โดยเริ่มต้นดังนี้
- มีเงินสดใน exchange ไทยเหลืออยู่ 85,000 บาท
- มี 0.1 ETH (ต้นทุน 10,000 บาท)
- มี 0.01 BTC (ต้นทุน 25,000 บาท)
ตัวอย่างที่ 2
- ปี 2565 โอนเงินเข้า Exchange ไทยครั้งแรก 100,000 บาท เริ่มซื้อ BTC ครั้งแรกจำนวน 0.01 BTC เป็นเงิน 15,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
- เหตุการณ์นี้บันทึกต้นทุน 0.01 BTC ที่ 15,000 บาท
- ต่อมา BTC มูลค่าสูงขึ้นจึงนำ 0.01 BTC ไปแลก ETH จำนวน 0.2 ETH เป็นเงิน 20,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว)
- เหตุการณ์นี้นำ 0.01 BTC ต้นทุน 15,000 บาท ไปแลก 0.2 ETH มูลค่า 20,000 บาท
- บันทึกกำไร realized gain ครั้งนี้ 5,000 บาท
- บันทึกต้นทุน 0.2 ETH ที่ 20,000 บาท
- ต่อมา ETH และ BTC มูลค่าลดลงจึงนำ 0.1 ETH มาแลก 0.01 BTC เป็นเงิน 6,000 บาท (รวมค่าธรรมเนียมแล้ว) และส่วนอีก 0.1 ETH ยังเก็บไว้
- เหตุการณ์นี้นำ 0.1 ETH ต้นทุน 10,000 บาท ไปแลก 0.01 BTC มูลค่า 6,000 บาท
- บันทึกกำไร realized loss ครั้งนี้ -4,000 บาท
- บันทึกต้นทุน 0.01 BTC ที่ 6,000 บาท
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นปี 2565 คือ
- มีเงินสดใน exchange ไทยเหลืออยู่ 85,000 บาท
- มี 0.1 ETH (ต้นทุน 10,000 บาท)
- มี 0.01 BTC (ต้นทุน 6,000 บาท)
- มีกำไร realized gain สุทธิในปี 2565 1,000 บาท (5,000 – 4,000)
- ผลลัพธ์ที่ขึ้นระหว่างปี 2565 ผู้เสียภาษีสามารถเลือกเสียภาษีวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
- เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0.1% ของการขาย/แลกเปลี่ยน 2 ครั้ง = ราคาขาย 26,000 x 0.1% = 26 บาท
- ถ้าเลือกเสียภาษีเหมา 5% ของราคาขาย 26,000 บาท จะเสียภาษี 26,000 x 5% = 1,300 บาท
- ถ้าเลือกเสียจากกำไรส่วนเกินทุนสุทธิ ก็ให้นำกำไร 1,000 บาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีต่อไป เช่น ถ้าเสียภาษีในอัตราสูงสุด 15% ก็จะเสียภาษี 150 บาท
- เมื่อเสียภาษีเรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะโดยวิธีการใด ให้จบปีภาษี 2565 แล้วเริ่มคิดภาษีของปีภาษี 2566 ด้วยกระบวนการเดิม โดยเริ่มต้นดังนี้
- มีเงินสดใน exchange ไทยเหลืออยู่ 85,000 บาท
- มี 0.1 ETH (ต้นทุน 10,000 บาท)
- มี 0.01 BTC (ต้นทุน 6,000 บาท)
มาตรการเสริมเฉพาะกิจ 2565 เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงนักลงทุนไทยให้กลับมาซื้อขายใน Exchange ไทยอีกครั้ง
- ยกเว้นการจัดภาษีคริปโตสำหรับปี 2564 และ 2565 เฉพาะนักลงทุนที่ซื้อขายใน Exchange ไทยในปี 2564 และ 2565 เพื่อให้ผู้เสียภาษี แพลตฟอร์ม เจ้าหน้าที่สรรพากร และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เตรียมระบบและเตรียมความพร้อมตามแนวปฏิบัติใหม่ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนที่ย้ายเงินไปลงทุนใน Exchange ต่างประเทศไปแล้ว กลับมาซื้อขายในไทยอีกครั้ง และชดเชยความเสียหายจากความไม่ชัดเจนของแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
- ส่วนนักลงทุนที่มีรายได้จากคริปโตนอก Exchange ไทย ให้เสียภาษีตามมาตรการเดิมที่กำหนดไว้ข้างต้น
หมายเหตุ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเชิงวิชาการที่คาดว่าจะแก้ปัญหาในระยะสั้นได้สำหรับผู้เสียภาษีกลุ่มหนึ่ง หากมีข้อเสนอ แนวทางเก็บภาษีคริปโต อื่นๆ ที่เหมาะสมมากกว่าหรือมีข้อติชมประการใดเพื่อให้ข้อเสนอนี้สมบูรณ์ขึ้น ขอน้อมรับไว้เพื่อปรับปรุงข้อเสนอ 1st draft นี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้นครับ
ร่างข้อเสนอฯ จัดทำโดย ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO และผู้ก่อตั้ง iTAX